'มีชัย'จิกซอว์สำคัญ ต่ออายุเก้าอี้นายกฯบิ๊กตู่ 9ตุลาการศาลรธน.รอชี้ขาด

คาดหมายกันว่าในสัปดาห์หน้านี้ หรืออย่างช้าไม่เกินสัปดาห์ถัดไป คือไม่เกินศุกร์ที่ 26 สิงหาคม สององค์กรอิสระคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีมติหรือท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ว่าจะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่งภายในไม่เกิน 23 สิงหาคมนี้หรือไม่?

หลังทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย ออกมาชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ที่เข้ามาเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนั้นจึงถือว่าครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีท่าทีอย่างไร แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านประกาศแล้วว่า 17 สิงหาคมนี้จะยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯ เพื่อให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ที่ประธานสภาฯ ส่งแน่นอนและคาดว่าจะส่งโดยเร็วด้วย

คำร้องเรื่องนี้ สุดท้ายเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน และเมื่อคำร้องส่งไปแล้ว จากนั้นกระบวนการวินิจฉัยคำร้องก็จะเดินหน้าไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ2561 ที่พบว่าในมาตรา 7 ที่เป็นเรื่องของการให้ศาลมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ก็พบว่ามีการเขียนไว้ใน (9) ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคดี

เกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี

ดังนั้น ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อศาลรับคำร้องไว้แล้ว ประเด็นต่อไปก็ต้องติดตามว่าศาลจะมีการออกคำสั่งให้ ผู้ถูกร้อง คือพลเอกประยุทธ์ ต้อง หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ซึ่งก็มีทั้งความเป็นไปได้ที่ศาลอาจสั่งหรือไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผลของการที่ศาลจะสั่งหรือไม่สั่งดังกล่าวจะถูก ถอดรหัส-แปลความหมาย ทางการเมืองตามมาทันทีแบบไม่ต้องสงสัย

และหลังจากศาลรับคำร้องและมีคำสั่งว่าจะให้พลเอกประยุทธ์หยุดหรือไม่หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่แล้ว จากนั้นก็จะเดินหน้าไปตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น ระบบไต่สวน ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอํานาจค้นหาความจริงได้เอง

ซึ่งหลักปฏิบัติทั่วไป เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการตีความตามรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรับไว้พิจารณาแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะทำหนังสือไปถึงสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเอกสารบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับในช่วงที่มีการวินิจฉัยคำร้อง

อย่างกรณีคำร้องของพลเอกประยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทางศาลก็จะทำหนังสือขอบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุด มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อขอเอกสารบันทึกการประชุมของ กรธ.ในช่วงการพิจารณามาตราที่เกี่ยวข้องตามคำร้องในเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ เช่น ในช่วง กรธ.ทำการยกร่างมาตรา 158 รวมถึงบทเฉพาะกาลที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น มาตรา 264 มาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รวมถึงจะมีการขอให้ส่งหนังสือบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของ กรธ.มาพิจารณาด้วย เพื่อที่จะได้ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจถึง

ที่มาที่ไป-เจตนารมณ์-วัตถุประสงค์

ในการเขียนรัฐธรรมนูญมาตราที่ต้องใช้ในการตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ทุกมาตราให้ละเอียดว่า แต่ละมาตรา กรธ.ทั้ง 21 คนเขียนขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์อย่างไร โดยเฉพาะการเขียนมาตรา 158 ที่ให้เป็นนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี กรธ.ต้องการให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ และบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องมีข้อยกเว้นในเรื่องการไม่ให้นับรวมช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือไม่

โดยเอกสารทั้งสองชุดคือเครื่องมือสำคัญในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญตลอดมา ที่ในความเป็นจริงศาลรัฐธรรมนูญทุกยุคก็ใช้วิธีการนี้มาตลอดในการวินิจฉัยปมปัญหาข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา

เพราะอย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะชุดปัจจุบันทั้ง 9 คน ไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จึงย่อมไม่เข้าใจเจตนารมณ์-ความมุ่งหมายของ กรธ.ว่าเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราโดยมีเจตนารมณ์อย่างไร

ดังนั้น การอ่านบันทึกการประชุมของ กรธ.และการอ่านหนังสือบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญตลอดมา ตามหลักที่ว่า

"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงย่อมไม่สามารถไปตีความเกินเจตนารมณ์ของผู้เขียนรัฐธรรมนูญได้"

ดังนั้น หากเอกสารทั้งสองอย่างมีความชัดเจนทุกถ้อยคำ ยิ่งหากมีมติอย่างเป็นทางการหรือเป็นข้อสรุป ข้อถกเถียงที่ตกผลึกแล้วของ กรธ.ในการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา แบบนี้ก็ยิ่งทำให้การวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยิ่งง่ายเข้าไปอีก

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์กันว่า หากสุดท้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เห็นว่าอ่านบันทึกการประชุม กรธ.ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องวาระ 8 ปีนายกฯ แล้ว โดยเฉพาะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันตอนนี้ ที่มีการเผยแพร่บันทึกการประชุมที่มีข้อความความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ กับสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธาน กรธ. ที่มีการบันทึกทำนองว่า ให้นับระยะเวลาการเป็นนายกฯ ของบุคคลที่เป็นนายกฯ ในช่วงก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ซึ่งหากนับแบบนี้ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์ที่เป็นนายกฯ รอบแรกปี 2557 ก็จะอยู่เป็นนายกฯ ไม่ได้หลัง 23 สิงหาคมนี้!

สิ่งที่ต้องติดตามคือ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองว่าบันทึกการประชุมดังกล่าว รวมถึงในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อ่านแล้ว

ยังไม่เคลียร์ ยังมีปัญหาข้อสงสัย

อยากรู้ว่า กรธ.มีเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างไร รวมถึงเสียงส่วนใหญ่ของ กรธ.มีความเห็นอย่างไร ทางศาล รธน.อาจใช้วิธีการแบบที่เคยทำตอนวินิจฉัยคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 256 ที่ฝ่ายค้านยื่นแก้ไข รธน.เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตอนนั้นศาลได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นอดีต กรธ.สองคนคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และอุดม รัฐอมฤต อดีตเลขานุการ กรธ. ที่พบว่าความเห็นของทั้งสองคนที่ยกร่าง รธน.มากับมือทุกมาตรา ได้กลายมาเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักอย่างมาก จนทำให้ศาล รธน.มีคำวินิจฉัยสั่งเบรกการแก้ไข รธน.ดังกล่าวของฝ่ายค้านว่าไม่สามารถทำได้ หากจะแก้ต้องจัดทำประชามติก่อน

มาในรอบนี้กับการวินิจฉัยคดี 8 ปี พลเอกประยุทธ์ จึงไม่แน่ ศาล รธน.อาจทำแบบเดียวกัน คือทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยัง มีชัย-อดีตประธาน กรธ. รวมถึงอาจสอบถามสุพจน์ ไข่มุกด์ และ ดร.อุดม อดีตเลขานุการ กรธ.ด้วยรวมสามคน เพื่อให้ทำหนังสือตอบกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญให้สิ้นกระแสความว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องกับวาระ 8 ปีนายกฯ ทาง กรธ.มีเจตนารมณ์อย่างไร โดยเฉพาะต้องการให้มีผลย้อนหลังไปถึงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วยใช่หรือไม่ 

ซึ่งหากอดีต กรธ.ทำหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า 8 ปีการเป็นนายกฯ ต้องนับรวมย้อนหลังก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วย แบบนี้พลเอกประยุทธ์ก็มีสิทธิ์ลงจากหลังเสือ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ค่อนข้างสูง แต่หาก กรธ.บอกว่าการนับเวลาการเป็นนายกฯ ไม่ให้นับย้อนหลัง แต่ต้องนับหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 หรือบอกว่าให้นับจากหลังการเลือกตั้งครั้งแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่าพลเอกประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ รอบสองเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562

หากอดีต กรธ.มีความเห็นแบบนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหากเป็นความเห็นของ มีชัย-อดีตประธาน กรธ. ที่ถือว่ามีน้ำหนักสูง ซึ่งหากมีชัยให้ความเห็นไปในทางดังกล่าว

พลเอกประยุทธ์ก็ได้ไปต่อ ยังรักษาเก้าอี้นายกฯ ไว้ได้

ด้วยเหตุนี้ หากกระบวนการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญเดินมาแนวนี้ "มีชัย" คือ บุคคลสำคัญที่จะทำให้พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อไป

โดยต้องไม่ลืมว่ามีชัยคืออดีตบอร์ด คสช.-อดีตประธาน กรธ.ที่พลเอกประยุทธ์ตั้งมากับมือ ทั้งพลเอกประยุทธ์และมีชัยจึงมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้น่าจะต่อสายหากันได้ อีกทั้งรู้กันดีว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาล ก็คือศิษย์เอก-น้องรักของมีชัย ที่ต่อสายคุยกันตลอดเวลา

ดังนั้น มีหรือที่ป่านนี้ พลเอกประยุทธ์และวิษณุจะไม่รู้ว่ามาตรา 158 เรื่องวาระ 8 ปีนายกฯ ดังกล่าว กรธ.มีเจตนาให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ และน่าจะพอรู้ได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญถามความเห็นมาที่มีชัยแล้ว ตัวมีชัยจะตอบศาลรัฐธรรมนูญในทางที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อหรือต้องหลุดจากเก้าอี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ

ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567

ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)