อดีต กรธ.-หนุนสูตรปม 8 ปี บิ๊กตู่ ไม่หลุดนายกฯ หลัง 23 ส.ค.

ปมปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแปดปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถกเถียงกันว่าจะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลัง 23 สิงหาคมนี้หรือไม่ ถึงตอนนี้เข้าสู่ช่วงเวลาอีกไม่นานแล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องคดีนี้ไว้วินิจฉัยให้สิ้นกระแสความ

หลังหลายฝ่ายถกเถียงกันมาหลายเดือน ว่าจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน  8 ปีมิได้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

จนเกิดข้อถกเถียงว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเริ่มนับจากช่วงเวลาใด?

ปมเรื่องนี้จึงเป็นเผือกร้อนที่รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้สะเด็ดน้ำ ที่พบว่าเส้นทางคำร้องคดีนี้ ยังไงเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน หลังสององค์กรอิสระคือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตั้งแท่นรอลงมติว่าจะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ในเร็ววันนี้ ตามคำร้องที่ศรีสุวรรณ จรรยา ไปยื่นไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนวันที่ 17 สิงหาคม  ส.ส.พรรคฝ่ายค้านก็จะยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลวินิจฉัยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ คำร้องเรื่องวาระนายกฯ แปดปีของพลเอกประยุทธ์ ถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

สิ่งที่้ต้องติดตามหลังมีการส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญก็คือ จะพบว่าในตัวคำร้องของศรีสุวรรณ และที่ฝ่ายค้านจะยื่น 17 สิงหาคม ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์ "หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี" ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยคำร้องคดีนี้ออกมา

โดยหากสุดท้าย ศาลสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็จะทำให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ  เบอร์หนึ่ง ได้ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ไปจนกว่าคดีจะจบ แต่หากศาลไม่สั่งพลเอกประยุทธ์ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ โดยมีอำนาจเต็มทุกอย่างจนกว่าศาลจะอ่านคำวินิจฉัยออกมา

ที่ก็มีโอกาสที่ศาล รธน.จะสั่งหรือไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้ทั้งสิ้น

ที่พบว่าหากดูคำร้องรัฐมนตรีใน ครม.ประยุทธ์ที่ถูกส่งเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่น นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไท ที่ตอนนี้มีคดีอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ  จากกรณี ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นให้วินิจฉัยกรณีความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ หลังมหาดไทยมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา จากเรื่องการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทาง ซึ่งศาล รธน.รับคำร้องไว้พิจารณาแต่ไม่ได้สั่งให้นิพนธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นรัฐมนตรี

ที่สำคัญ เมื่อไปดูตัวพลเอกประยุทธ์ พบว่าเคยตกเป็นผู้ถูกร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 คดี โดยมีสองคดีที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณา

คดีแรกคือ คดีฝ่ายค้านยื่นให้วินิจฉัยกรณีเป็นหัวหน้า คสช.แล้วไปลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ พลังประชารัฐ  ซึ่งศาลรับไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2562 โดยไม่สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่อมาศาลมีคำวินิจฉัย 18  กันยายน 2562 ว่าหัวหน้า คสช.ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี

คดีที่สองคือ คดีที่ฝ่ายค้านร้องพลเอกประยุทธ์อยู่บ้านพักทหาร ที่ศาลรับไว้เมื่อ 11 มิถุนายน 2563 โดยไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และต่อมามีคำวินิจฉัยเมื่อ 2 ธันวาคม 2563 ให้ยกคำร้อง พลเอกประยุทธ์ยังได้เป็นนายกฯ ต่อไป

ขณะที่คำร้องของฝ่ายค้านในคดีพลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง

เท่ากับว่า พลเอกประยุทธ์ตกเป็นผู้ถูกร้องสองคดี แต่ศาลไม่เคยสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ไม่แน่เช่นกันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจมองว่า บริบทการเมืองและข้อกฎหมายคดี 8 ปีนายกฯ กับคดีบ้านพักทหารและคดีสถานภาพหัวหน้า คสช.แตกต่างกันก็ได้ เพราะตุลาการมองว่าหากผลคำตัดสินออกมา

“ไม่เป็นคุณกับพลเอกประยุทธ์”

และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะตามมาหากพลเอกประยุทธ์บริหารประเทศในฐานะนายกฯ ไปเรื่อยๆ เช่นไปร่วมประชุม ครม.หรือมีการออกคำสั่งทางราชการใดๆ แล้วผลคำตัดสินออกมาไม่เป็นคุณกับพลเอกประยุทธ์ ศาล รธน.ก็อาจให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนก็ได้

ส่วนผลจะออกมาแบบไหน ฉากนี้คือปฐมบทซีนแรกของการพิจารณาคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร

ขณะเดียวกัน ระหว่างที่เรื่องคดี 8 ปีพลเอกประยุทธ์ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ามีการเผยแพร่เอกสาร บันทึกการประชุม คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธาน ซึ่งในบันทึกดังกล่าวมีการพูดคุยให้ความเห็นตอนยกร่าง รธน.มาตรา 154 ว่าการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกินแปดปีจะต้องนับจากช่วงไหน ซึ่งมีชัยและสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.ตอนนั้นให้ความเห็นในโทนว่า ควรให้นับรวมไปถึงรัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่าง ที่ก็คือ รธน.ฉบับปี 2560 ด้วย จนถูกตีความว่าหากเป็นไปตามนี้เท่ากับว่า พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ หลัง  23 ส.ค.ไม่ได้

เรื่องดังกล่าว สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธาน กรธ. ออกมาชี้แจงว่า บันทึกการประชุมดังกล่าวเป็นแค่การพูดคุยปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการของ กรธ.ตอนนั้น และในความเป็นจริงมีการพูดกันหลายคน แต่มีคนไปจับประเด็นที่บางกลุ่มต้องการ เลยดึงโควตคำพูดที่เขาต้องการให้มาประเด็นในตอนนี้เท่านั้นเอง ทั้งที่บันทึกดังกล่าวไม่ใช่มติของ กรธ.ในการเขียนมาตรา 154 เป็นแค่การหารือทั่วไป ซึ่งตอนที่คุยก็มีความเห็นกันหลากหลายของ กรธ. อีกทั้งตอนนี้อะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว การพิจารณาเรื่องนี้ต้องดูบริบทอื่นๆ ด้วย

 สุพจน์ อดีต กรธ.และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกต่อว่า ตอนที่คุยกันดังกล่าวขณะนั้น กรธ.ยังไม่ได้ไปเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพราะหลังจากนั้น กรธ.ก็ไปเขียนรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา การจะตีความประเด็นนี้จึงควรที่ ต้องพิจารณารัฐธรรมนูญหลายมาตรา หลายวรรค หลายตอนในรัฐธรรมนูญมาประกอบกัน ไม่ใช่มาดูกันแค่วรรคเดียวของบางมาตราในรัฐธรรมนูญแล้วนำมาสรุป

นอกจากนี้ สุพจน์ ยังพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องนี้ขอให้ไปดูความเห็นที่ ชูชาติ ศรีแสง  อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ออกมาโพสต์ เรื่องการตีความการนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะให้ความเห็นดีมาก

อันพบว่าความเห็นดังกล่าวของชูชาติ ในเรื่องข้อกฎหมายแปดปีของพลเอกประยุทธ์ ได้โพสต์ไว้เมื่อ 3  ส.ค.มีเนื้อหาโดยสรุปคือเห็นว่า “การนับเวลาการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ต้องนับหลังจากเข้ามาเป็นนายกฯ รอบสองหลังเลือกตั้งเมื่อ 9 มิถุนายน 2562 ไม่ใช่นับจากตอนเป็นนายกฯ รอบแรกปี 2557 หรือนับจากประกาศใช้ รธน.เมื่อ 6 เมษายน 2560”

ถ้าเป็นไปตามนี้ เท่ากับ สุพจน์ อดีต กรธ.และอดีตตุลาการศาล รธน. ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เห็นว่า  พลเอกประยุทธ์ ไม่หลุดจากเก้าอี้นายกฯ หลัง 23  ส.ค.นี้ และยังเป็นนายกฯ ได้อีก 5 ปี นับจากปัจจุบันปี 2565 ที่เป็นมาแล้ว 3 ปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี