จับตาประชุมร่วมกันของรัฐสภาเช้านี้ ไม่รู้ “ส.ส.-ส.ว.” ผู้ทรงคุณวุฒิ จะให้เกียรติร่วมลงชื่อเป็นองค์ประชุมให้รัฐสภาสามารถเปิดประชุมได้หรือไม่ ถ้าได้ จะเปิดประชุมได้กี่โมง ตามเวลานัดหมายในหนังสือเชิญประชุมสมาชิกรัฐสภาก็ 09.00 น.
ตารางวาระที่รอให้สมาชิกพิจารณาต้องเริ่มที่ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ....ที่เมื่อการประชุมรัฐสภาคราวก่อน 3 ส.ค.ล่มไม่เป็นท่า เพราะพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เจตนาทำให้สภาล่ม จึงทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กรอบทำงานกระบวนการยุติธรรม ในมาตรา 8 ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว ฉะนั้น วันนี้ต้องเริ่มพิจารณาในมาตราดังกล่าวเรื่อยไปจนครบทั้ง 12 มาตรา
จากนั้นจึงจะเข้าสู่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ครั้งก่อนโน้น ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ขอถอนร่างกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อปรับปรุงแก้ไขมาตรา และมีการเพิ่มมาตราใหม่ให้สอดคล้องกับมติเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภา ที่เห็นชอบให้วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้สูตรหาร 500 แทนสูตรหาร 100 อย่างไรก็ตาม ถ้ากระบวนการรัฐสภาเดินมาถึงจุดนี้ ที่ประชุมรัฐสภาจะเริ่มพิจารณาที่มาตรา 24/1 ที่คณะ กมธ.เพิ่มขึ้นมาใหม่
ขั้นตอนทั้งหมดที่ร่ายมาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ พท. และสาย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งใน พปชร.และ ส.ว.ให้ความร่วมมือยอมลงชื่อเป็นองค์ประชุม ทว่า คงมีโอกาสน้อย เพราะเจตนาทำ “สภาล่ม” เพื่อต้องการ “ทำแท้ง” สูตรหาร 500 ชัดเจน
ขนาด “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ผู้ระมัดระวังคำพูด การให้สัมภาษณ์ และวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง ยังระบุว่า “เดิมอาจจะไม่ค่อยรู้ว่าสาเหตุอะไร แต่ครั้งนี้ชัดเจน เพราะมีสมาชิกบางฝ่ายแสดงความเห็นชัดว่าไม่ประสงค์จะให้กฎหมายผ่าน โดยให้ระยะเวลาเกิน 180 วัน เพื่อนำร่างกฎหมายเดิมที่รัฐสภาเสนอมาใช้”
หากเป็นไปตามแผน สภาล่มจนพิจารณาร่างกฎหมายลูกไม่ทันตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ก็มีทางออกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดว่า ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131
ทั้งนี้ มาตรา 131 บอกไว้ว่า ร่างกฎหมายลูกจะเสนอได้แค่ 2 ทาง คือ 1.เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือ 2.เสนอโดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งในคราวการพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ในวาระที่ 1 ปรากฏว่า ทั้ง ครม.และพรรคการเมืองอีก 3 พรรคเสนอ และที่ประชุมมีมติรับหลักการไว้ทั้ง 4 ร่าง แต่ให้ใช้ฉบับของ ครม.ตามคำแนะนำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นร่างหลักในการพิจารณา
ฉะนั้น ถ้ารัฐสภาล้มเหลว ทำงานไม่เสร็จก็ต้องใช้ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับ ครม.เสนอ ซึ่งเท่ากับเป็นการฟื้นคืนชีพวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100
ประเด็นของเรื่องนี้ ยังต้องจับตาที่กลวิธีระหว่าง “พวกเอา 500” กับ “พวกเอา 100” ที่มีการพลิกกลับไปกลับมาหลายตลบ เมื่อคราวแต้มต่อเป็นของ “พวก 500” การเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิจารณ์การเมืองส่งเสียงเซ็งแซ่ บอกว่า พวกนี้เป็นพวกเขียนด้วยมือ ลบด้วย.... กลืนน้ำตัวเองระวังจะเสียคน เป็นพวกลุ่มหลงคิดแต่จะอยู่ในอำนาจ ไม่สนใจวิธีการ หลักการ เลยเลือกสูตรคำนวณที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง
มาวันนี้ “พวกเอา 100” ถือไพ่เหนือกว่า พท. จับมือ พปชร. เล่นเกมไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม หวังจะเอาสูตร 100 หารกลับคืนมาให้ได้ สภาล่มก็ช่างหัวมัน พฤติกรรมคล้ายคลึงกับตอน “พวกเอา 500” ทำ คือไม่สนวิธีการ ไม่สนหลักการ และยิ่งนาทีนี้เริ่มปั่นกระแส พท.ดีลกับ “พี่ใหญ่” ด้วยแล้ว ว่ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และถอยให้ “พี่ใหญ่” เป็นนายกฯ! ยิ่งสรุปได้ว่า เวลาและการกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตนว่า ส.ส.แต่ละคนสมควรได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นผู้แทนอีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี