กกต.-ผู้ตรวจการฯ จ่อชงศาลฯ ชี้ชะตาวาระ 8 ปีนายกฯ

การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงนี้ เนื่องจากในวันที่ 23 ส.ค.2565 จะครบ 8 ปีของการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีหลายฝ่ายเริ่มเขย่าเก้าอี้นายกฯ

ตั้งแต่ฝ่ายค้าน ไปจนถึงนักร้องอิสระอย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เคยมีผลงานในการยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องลงจากตำแหน่ง เพราะในมาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่" ปัญหาที่ตามคือ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์จะเริ่มนับ 8 ปีตอนไหน เพราะเจ้าตัวได้ดำรงตำแหน่งวาระแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร จึงเป็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ทางนายศรีสุวรรณได้ยื่นต่อองค์กรอิสระ 2 องค์กรคือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปี และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ยุติปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยด้วย

ส่วนฝั่งพรรคฝ่ายค้านนัดดีเดย์วันที่ 17 ส.ค. เตรียมเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีเดียวกัน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ต้องการยื่นในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด ตอนนี้ข้อตกลงกันแล้วว่าจะเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภา เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก่อน พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 ประมาณ 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เรื่องกรอบเวลา 8 ปีดังกล่าวมีข้อถกเถียงอยู่ 3 แนวทาง 3 กรอบเวลา คือแนวทางแรก ต้องนับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรก 24 ส.ค.2557 ครบ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค.2565 กรอบเวลาที่ 2 คือครบกำหนด 5 เม.ย.2568 หรือ 8 ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อ 6 เม.ย.2560 และกรอบที่ 3 วันที่ 8 มิ.ย.2570 ครบ 8 ปีนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562

เมื่อเปิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง วรรคสอง ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าพิจารณาคือ บทเฉพาะกาล มาตรา 264 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

และคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของมาตรา 158 (ปรากฏในหน้า 275) ระบุว่า การกำหนดระยะเวลา 8 ปีก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้

ส่วนท่าทีขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยว่า เมื่อสำนักงาน กกต.ได้รับเรื่อง ก็จะประมวลความเห็นเพื่อเสนอต่อที่ประชุม กกต.ว่ามีเหตุสิ้นสุดลงของความเป็นนายกฯ หรือไม่ หากเห็นว่ามีเหตุดังกล่าว ก็จะจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ต่อไป ทราบจากข่าวว่า ส.ส.จะเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า มีคำสั่งรับคำร้องของนายศรีสุวรรณไว้พิจารณาแล้ว ส่วนกระบวนการต่อไปสำนักงานได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายและคดี   พิจารณาเนื้อหาว่านายกรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อไหร่ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากพ้นวันที่ 23 ส.ค. 2565 ไปแล้วจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายมีช่องทางให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากมีช่องทางให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ จะต้องมาพิจารณาในสาระสำคัญ ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งเกินวันที่ 23 ส.ค.นี้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูเนื้อหาสาระตามคำร้อง

หากมีข้อเท็จจริงที่ต้องแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมก็จะทำหนังสือไปสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยให้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะไม่ทันการประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดินในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีการประชุมในวันอังคารที่ 9 ส.ค. แต่หากฝ่ายกฎหมายได้ข้อสรุปมีความชัดเจนแล้ว  คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถนัดประชุมได้ทันทีเพื่อวินิจฉัย

ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนไม่วิตกกังวลในเรื่องนี้แต่อย่างใด ยิ่งถ้าฟังจากการให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ เจ้าตัวระบุสั้นๆ ว่า "ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน่น จะต้องกังวลอะไรเล่า" รวมไปถึงบทสัมภาษณ์ของสุดยอดกุนซือด้านกฎหมายของประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย แนะนำว่า เรื่องนายกรัฐมนตรี ประชาชนต้องไปยื่นร้องผ่าน กกต. ซึ่งเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะมาตรา 170 วรรคท้ายบอกว่าให้ กกต.มีอำนาจดำเนินการเรื่องนี้ หากฝ่ายค้านต้องการยื่น ควรต้องไปยื่นต่อ กกต. ถึงขณะนี้มีผู้ยื่นคำร้องและประกาศว่าจะยื่นคำร้องเพื่อตีความสถานะของนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 3 กลุ่ม

ถ้าให้ฟันธงประเด็นร้อนเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรอดหรือไม่รอดร้อยเปอร์เซ็นต์ คงเป็นเรื่องยาก และก็สามารถตีความให้ออกได้ทุกประตู แต่จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงการชี้ช่องทางท้าทายของนายวิษณุ  แล้ว เรียกว่าไม่มีความกังวลต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด ท่ามกลางข่าวลือสารพัดว่า ตุลาการ 9 เสียงให้น้ำหนักไปทางไหน

ทั้งนี้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกผลวินิจฉัยเป็นอย่างไรก็ตาม จะต้องมีกลุ่มที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ทั้งฝั่งกองเชียร์ และกองแช่ง และสิ่งที่ต้องติดตามอย่างยิ่งคือ ดุลยพินิจของตุลาการ เพื่อประกอบเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายสำหรับไว้ใช้ในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ

ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่