บิ๊กดีลการควบรวมกิจการ 2 กลุ่มทุนบริษัทขนาดใหญ่ในวงการโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ถูกจับตามองทุกความเคลื่อนไหวมานานร่วมปี แต่ที่ผ่านมาดีลดังกล่าวไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะทั้ง 2 บริษัทต่างรอไฟเขียวจาก “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ชุดปัจจุบัน” ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ช่วงเมษายนปีนี้ ซึ่งถึงขณะนี้ก็ร่วม 3 เดือนกว่าแล้ว แต่บอร์ด กสทช.ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปหรือมีมติอย่างเป็นทางการออกมา
จนกระทั่งตอนนี้บิ๊กดีลดังกล่าวถูกมองว่า กสทช.ที่มี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน กสทช.คนปัจจุบัน คงต้องสร้างความชัดเจนออกมาได้แล้วว่า กสทช.จะไฟเขียวหรือจะสั่งล้มกระดานการควบรวมกิจการดังกล่าว หลังคณะอนุกรรมการที่บอร์ดใหญ่ กสทช.ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้ง 2 บริษัท จำนวน 4 คณะ ได้ส่งรายงานผลสรุปของอนุกรรมการให้บอร์ด กสทช.ไปเมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา จนมีกระแสข่าวว่า กสทช.อาจจะเตรียมพิจารณาชี้ขาดเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้หรือช้าสุดไม่เกินเดือนสิงหาคม
อย่างไรก็ตาม พบว่าการขอรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นฯ ที่มีเครือข่ายทางธุรกิจและสินทรัพย์ที่รวมกัน 2 บริษัทมีมูลค่ามหาศาลเป็นแสนล้านบาท และที่สำคัญ เป็น 2 กิจการที่มีประชาชนเป็นลูกค้า-ผู้ใช้บริการระบบโทรคมนาคมรวมกันหลายล้านคน ที่มีการมองกันว่าหากสุดท้าย ดีลนี้หากสามารถควบรวมกิจการได้ ยังไงผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการ-ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ 2 บริษัทที่จะรวมเป็นกิจการเดียวกัน โดยพบได้อย่างหนึ่งว่า ถึงตอนนี้เรื่องดีลควบรวมกิจการดังกล่าวเริ่มกลายเป็นประเด็นการเมืองมากขึ้นหลังมีข่าวว่า กสทช.ใกล้เคาะเรื่องนี้ แม้ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ กสทช." จะออกมาเปิดเผยหลังการประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อ 4 ส.ค. ที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่าบอร์ด กสทช.ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจ จึงได้ให้สำนักงาน กสทช.ไปทำการวิเคราะห์และส่งข้อมูลเพิ่มด้านต่างๆ เช่น เรื่องโครงสร้างการรวมธุรกิจ ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด การลดอัตราค่าบริการ เพื่อส่งให้ กสทช.ได้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่คณะกรรมการจะมีมติในเรื่องนี้ออกมา และย้ำว่าการพิจารณาของ กสทช.จะพยายามไม่ให้ยืดเยื้อ
แต่ระหว่างนี้ ในเชิงประเด็นการเมืองพบว่าเริ่มมีฝ่ายการเมืองออกมาให้ความเห็นและเคลื่อนไหวในเชิงไม่เห็นด้วย หากคณะกรรมการ กสทช.จะไฟเขียวให้มีการควบรวมกิจการกันได้ของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจโทรคมนาคม
เห็นได้จากเช่น นักการเมืองเริ่มออกมาขยับให้ความเห็นเรื่องนี้มากขึ้น เช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล" ก็มีการออกมาระบุ โดยอ้างว่า ในวันที่ 10 ส.ค. จะมีการประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อพิจารณาการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งในการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ TRUE-DTAC เกิน 50% ของส่วนแบ่งตลาด ในเรื่องนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยเอาไว้ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้วว่า กสทช.มีอำนาจเต็มในการระงับการควบรวมธุรกิจ หากการควบรวมธุรกิจส่งผลให้เกิดการผูกขาด ซึ่งหากปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ ผูกขาดธุรกิจดิจิทัล ต่อไปเอกชนก็จะไม่ต้องแข่งขัน ไม่เกิดนวัตกรรม ไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพราะสามารถที่จะทำกำไรได้จากการผูกขาด เป็นการทำกำไรบนความลำบากของประชาชน ขอเรียกร้องให้ กสทช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ทำตามความเห็นของอนุกรรมการของ กสทช.ทั้ง 4 คณะ ในการยับยั้งการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC เพราะไม่มีเหตุผลเลยที่บอร์ด กสทช.จะปฏิเสธความรับผิดชอบอ้างว่า แค่รับจดแจ้งรายงานไม่มีอำนาจยับยั้ง
ส่วนความเห็นของ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภคและอดีต กสทช. ให้ความเห็นผ่านเวทีเสวนา “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” ที่จัดไปเมื่อ 2 สิงหาคม โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค กรณีผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ของ 'ทรู-ดีแทค' และเอไอเอส ประกาศควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน กับทรีบรอดแบนด์ (3BB)
พบว่า สุภิญญา-อดีต กสทช. ระบุตอนหนึ่งว่า กรณีควบรวมทรู-ดีแทค หากควบรวมกิจการกันจะทำให้ตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงแค่ 2 ราย ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก กสทช.ต้องปลดล็อกปัญหานี้ให้ได้ ด้วยมีอำนาจลงมติจะให้เกิดการควบรวมทรู-ดีแทคหรือไม่ รวมถึงกรณีเอไอเอสกับ 3BB ด้วย ทั้ง 2 กรณีนี้หากเกิดขึ้นจะเป็นฝันร้ายของผู้บริโภค กสทช.ต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการลงมติคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม โดยหากเอกชนไม่เห็นด้วยก็ให้ไปฟ้องร้องที่ศาลปกครอง สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสิน
สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็อยู่ที่ การพิจารณาและตัดสินใจของ กสทช.ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ก่อนหน้านี้ นพ.สรณ-ประธาน กสทช. เคยบอกไว้ว่า หลักการทำงานของ กสทช.รวมถึงนโยบายที่ให้ไว้หลัง กสทช.เข้ามาทำหน้าที่คือ ต้องยึดมั่นหลัก Integrity ขององค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและสังคม ว่า กสทช.จะดูแลผลประโยชน์ให้เขา และสามารถกำกับดูแลกิจการให้มีความยุติธรรมและเท่าเทียม เป็นไปตามกฎหมาย
"นโยบายที่ให้คือ Integrity Justice and Equality ความน่าเชื่อถือ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม องค์กรต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศ และบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เอกชนและประชาชนมั่นใจถึงนโยบาย และการพัฒนาที่จะช่วยเอื้อตลาดให้เติบโต รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์ของโครงข่ายให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน"
จึงต้องบอกว่า การตัดสินใจของ กสทช.ในเรื่องดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทคฯ ที่เป็นเผือกร้อนรอการตัดสินใจของ กสทช.อยู่ในเวลานี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงการทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบันว่าประชาชนจะเห็นอย่างไร และจะให้ กสทช.สอบผ่านการทำงานหรือไม่ ขอให้อดใจ รอติดตาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี