ปรากฏการณ์ กลับไปกลับมา ในการกำหนดกติกาเลือกตั้ง โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อระหว่างหาร 100 กับหาร 500 รวมถึงการลังเลว่าจะใช้บัตรใบเดียวหรือบัตรสองใบ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ไปหลายทิศทาง ทั้งมองว่า 3 ป.มีเป้าหมายในการกำหนดกติกาให้ได้เปรียบที่สุด เพื่อรวบรวมเสียง ส.ส.เพียงพอที่จะกลับมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง
และอีกบทวิเคราะห์ก็มองว่า เป็นเพียงการงัดตำราการรบของทหารด้วยวิธีสร้างสภาวะแวดล้อมให้การเมืองดูวุ่นวาย กลายเป็นความขัดแย้งจนถึงทางตัน ยากที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง
ต้องยอมรับว่าภายใต้โจทย์ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางการปลุกกระแส “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทยที่หวังดึง ส.ส.ให้กลับมาบ้านเดิม เลยไปถึงความนิยมของพรรคก้าวไกลในกลุ่มโหวตเตอร์ใหม่ที่จะได้สิทธิ์ในการลงคะแนนในปีหน้า รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์แห่งยุคสมัย กลายเป็นตัวแปรที่เหล่าบรรดากุนซือ ฝ่ายเสธ. ต้องจำลองฉากทัศน์ร่วมกับนักการเมืองอาชีพ เพื่อหากติกาที่เอื้ออำนวยในการรวบรวมเสียงให้มากที่สุด
จึงทำให้เนื้อหาการบรรยายพิเศษหัวข้อ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม กับการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 (พตส.12) ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย น่าสนใจ
“การเลือกตั้งที่พึงปรารถนาที่สุดคือการเลือกตั้งที่ดี แต่วันนี้การเลือกตั้งที่ดีต้องสุจริตและเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ไม่มีกลอุบายแอบแฝง ไม่มีวิชามาร เที่ยงตรง มีคุณธรรม ไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน ทั้งนี้วิธีจัดการเลือกตั้งในโลกมีหลายวิธี แต่ละประเทศแตกต่างไม่เหมือนกัน อังกฤษเลือกแบบ 1 คน 1 เขต สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จะพิสดารออกไป และประเทศไทยเคยพิสดารและกำลังจะพิสดารยิ่งขึ้นในไม่ช้า และกำลังจะย้อนกลับไปอย่างเก่าอีกหรือไม่นั้น ไม่รู้ แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เรียกว่าพัฒนาการของการเลือกตั้ง”
ทำให้ทุกฝ่ายต่างจับตามองการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตาไม่กะพริบ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าผลการประชุมจะออกมาได้เพียง 3 แนวทางเท่านั้นคือ
เห็นชอบในวาระ 2-3 จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) ประธานรัฐสภาส่งร่างกฎหมายไปองค์กรอิสระ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นชอบว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือไม่ให้ความเห็นชอบ ถือว่าร่างกฎหมายนี้ตกไป หากจะมีการหยิบยกขึ้นใหม่ต้องเริ่มกระบวนการกันใหม่
หรือถ้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) นำร่างที่เสนอในวาระ 1 มาพิจารณาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ คือร่างของ กกต.ให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 และส่งให้นายกฯ ต่อไป
ณ ขณะนี้แนวโน้มว่าคำตอบน่าจะออกไปแนวทางที่สาม หลังจากมีสัญญาณมาตั้งแต่การล้มสูตรหาร 500 ที่เสนอโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เลยไปถึงการเกิดเหตุสภาล่มเนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม เมื่อวันที่ 3 ส.ค. จากกรณีที่ ส.ส.พลังประชารัฐ ส.ส.เพื่อไทย ไม่อยู่เป็นองค์ประชุม
สอดรับกับแผนการถ่วงเวลาให้กฎหมายลูกฉบับนี้พิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 180 วัน ซึ่งครบกำหนดเวลาในวันที่ 15 ส.ค.2565 เพื่อจะได้กลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ ครม.เสนอการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100
แม้นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล จะพยายามอธิบายว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ติดประชุมกรรมาธิการงบประมาณ ไม่ได้มีการจับมือฮั้วกับพรรคเพื่อไทยเพื่อทำให้องค์ประชุมล่ม เพื่อเดินไปสู่กติกาหาร 100 อย่างที่มองกัน
แต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กลับมองว่ามีนัยทางการเมือง พร้อมกับโยนระเบิดกลับมาทางฝั่งรัฐบาล หากซีกรัฐบาลไม่เอาด้วย องค์ประชุมคงไม่ล่ม
ที่น่าสนใจคือ นพ.ระวีออกมาแฉว่า มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย โดยระบุว่านายสั่งให้กลับ จึงทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐสภาก็ล่ม พร้อมกับชี้ปมปัญหาว่าเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ยอมแสดงตน แต่เรื่องก็คงไม่จบง่ายๆ
“เชื่อว่าฝั่งที่สนับสนุนสูตรหารด้วย 100 คนนั้นเตรียมฉลอง แต่ผมขอบอกไว้ว่าสงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร เพราะวิธีการที่เขาทำเรียกว่าต้อนให้หมาจนตรอก และยังมีด่านสำคัญ คือด่าน กกต.และด่านศาลรัฐธรรมนูญ”
แต่เมื่อคำนวณกรอบเวลาแล้วคงไม่กระทบต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องใช้เวลาในการจัดทัพปรับย้ายข้าราชการ ทหาร ตำรวจ วางกลไกอำนาจรัฐให้เข้าที่เข้าทาง และควรให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.เพื่อความอุ่นใจ
ภายใต้การประเมินว่าผลจากการยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญในช่วงกลางเดือน ส.ค.อาจไม่ส่งผลต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมีการอ้างอิงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์มีความผิดแม้แต่ครั้งเดียว
เมื่อหันมาดูการเปิดตัวของพรรคพันธมิตรของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเก็บตกคะแนนแถวสองก็ยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดตัวของพรรคร่วมแผ่นดินที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรักของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค รวมไปถึงการเปิดตัวพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และมีแกนนำจากประชาธิปัตย์เก่าและ กปปส.มาร่วมงาน
เป็นไปตามสมมุติฐานว่าเป็นสาขาของพรรคพลังประชารัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บคะแนนฐานเสียงเดิม ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ยังไม่นับพรรคการเมืองเล็ก จิ๋ว ที่เริ่มทยอยเปิดตัวกันเป็นดอกเห็ด
และหากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกินคาดหมาย หรือมี “ฟ้าผ่า” ลงกลางทำเนียบฯ จากปมวาระ 8 ปีของนายกฯ ก็เชื่อว่าการเดินหน้านำกติกาสูตรหาร 100 จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง ฝ่ากระแสโจมตีเรื่องความพิลึกพิลั่นจากการทำคลอด “พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว” สร้างประดิษฐกรรมทางการเมืองหนุนนั่งร้าน “ระบอบลุง” ให้เสียงที่เคยปริ่มน้ำตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆ กลายเป็นเสียงที่มากพอ ผสมผสานกับ “งูเห่าฝากเลี้ยง” ที่กระจายอยู่ในพรรคฝ่ายตรงข้าม ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัยครบวาระ ฝ่าการประณามทำการเมืองแบบ “แจกกล้วย” เพื่อต่อชีวิตเป็นรายครั้ง
ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นชัดเจนว่า 3 ป.ยังอยู่ในสถานะของผู้กำหนดเกมและกติกา แม้ว่าจะมีมรสุมจากความไม่ลงรอยกันบ้าง แต่เป้าหมายหลักยังคงเหมือนเดิมคือ การเดินหน้าสู้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ได้คิดจะกลับไปเลี้ยงหลานอยู่บ้านอย่างที่หลายคนคาดหวัง
ระยะเวลาหลายปีในการครองอำนาจ 3 ป.ได้รับรู้และเข้าถึงธรรมชาติของนักการเมืองมากขึ้น จึงทำให้รู้เหลี่ยมมุมในการรับมือ การต่อสู้ได้แยบยลขึ้น จึงทำให้เกิดหมากกลพิสดารกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย ยกระดับให้เกมอยู่เหนือคุณค่าและหลักการพัฒนาประชาธิปไตยไปอย่างสิ้นเชิง
บทพิสูจน์ของรัฐสภาในการตัดสินใจสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า 3 ทหารเสือบูรพาพยัคฆ์ยังทรงพลังในการคุมสภาพการเมืองได้อยู่หมัดจากที่ได้อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567