“รวมไทยสร้างชาติ” ภายใต้การนำของ ‘เสี่ยตุ๋ย’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มี ‘รากแก้ว’ มาจาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
คำว่า ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เป็นคำที่ ‘บิ๊กตู่’ ชื่นชอบ เช่นเดียวกับคำว่า ‘ประชารัฐ’ ที่มาของชื่อพรรค ‘พลังประชารัฐ’ แต่กาลก่อน
‘รากแก้ว’ ของทั้ง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ และ ‘พลังประชารัฐ’ ล้วนมาจาก ‘บิ๊กตู่’ ด้วยกันทั้งสิ้น
แม้ ‘พีระพันธุ์’ จะยืนยันว่า พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้เป็นพรรคอะไหล่ของพรรคพลังประชารัฐ แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทางเดินให้กับ ‘บิ๊กตู่’
เพราะตั้งแต่วางโครงสร้างจวบจนตั้งพรรค ‘บิ๊กตู่’ รับรู้ในทุกขั้นตอน
อยู่แค่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จะอยู่ในสถานะ ‘แบงก์พัน’ หรือ ‘แบงก์ย่อย’ ของ ‘บิ๊กตู่’ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ยังไม่ชัดเจน
ต่างจาก ‘พลังประชารัฐ’ ที่วัตถุประสงค์ชัดเจนว่า เป็น ‘นั่งร้าน’ ของ ‘บิ๊กตู่’ ตั้งแต่วันแรกที่ไปยื่นจดจัดตั้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อหลายปีก่อน
อีกความต่างคือ พรรคพลังประชารัฐเน้นการกวาดต้อนนักการเมืองไม่ว่าจะอยู่ขั้วไหนให้มากระจุกตัวกันอยู่ที่จุดเดียว ในขณะที่จุดเริ่มต้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นการรวมตัวกันของนักการเมืองที่ส่วนใหญ่เคยอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะสาย กปปส.ที่คนมักเรียกกันว่า ‘ทีมลุง’
ขณะเดียวกัน ‘รวมไทยสร้างชาติ’ มีลักษณะคล้ายกับ ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ ของ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ต่างกันที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้มืออาชีพในพรรคประชาธิปัตย์มาเยอะกว่า และมีโอกาสจะโตได้มากกว่า
แต่จะโตเท่ากับพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี 2562 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ‘ลมใต้ปีก’ เพราะต้องยอมรับว่า คีย์แมนสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ในเวลารวดเร็วได้มาจากเพาเวอร์และบารมีของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค
นักการเมืองที่เดินเข้าซุ้มพลังประชารัฐในครั้งนั้น มีทั้ง ‘สมัครใจ-จำเป็น’ เดดไลน์สุดท้ายก่อนตัดสินใจส่วนใหญ่ล้วนแต่ผ่านการพูดคุยกับ ‘บิ๊กป้อม’ มาแล้วทั้งนั้น
ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า ‘บิ๊กป้อม’ ไม่ค่อยโอเคสักเท่าไหร่ เพราะไม่ต้องการให้กระจัดกระจายกันไปอยู่ที่อื่น แต่ต้องการให้รวมกันอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐแห่งเดียว
แม้แต่ตัว ‘พีระพันธุ์’ เอง ครั้งหนึ่ง ‘บิ๊กป้อม’ ยังต้องการมัดให้อยู่ด้วยกัน โดยดึงรุ่นน้องเซนต์คาเบรียลรายนี้ไปพรีเซนต์การปฏิรูปโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐใหม่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคมาแล้ว แต่สุดท้ายพิมพ์เขียวของ ‘พีระพันธุ์’ ไม่ได้รับการตอบสนอง
เมื่อแตกตัวออกมา จึงไม่รู้ว่ารุ่นพี่เซนต์คาเบรียลอย่าง ‘บิ๊กป้อม’ จะยังซัพพอร์ตอยู่หรือไม่
เพราะในบรรดาพรรคใหม่ วันนี้มีเพียง ‘พรรครวมแผ่นดิน’ ของ ‘บิ๊กน้อย’ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเท่านั้นที่ ‘บิ๊กป้อม’ ออกมาพูดชัดว่าเป็นพรรคพันธมิตร
แต่ไม่ว่าอย่างไร ‘บิ๊กตู่’ จำเป็นต้องมี ‘รวมไทยสร้างชาติ’ เอาไว้เผื่อเหลือ-เผื่อขาดไว้ก่อน เพราะวันนี้ไม่มีใครรับประกันได้ว่า เมื่อถึงการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐจะยังเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่
ต่อให้ ‘บิ๊กป้อม’ หรือใครต่อใครในพรรคพลังประชารัฐจะยืนยันหนักแน่นว่า จะเสนอชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เหมือนเดิม แต่อย่างที่ทราบกันภายในพรรคเองมีบางส่วนที่คิดว่า ‘บิ๊กตู่’ ไปต่อไม่ไหว โดยเฉพาะทีมหลังม่านป่ารอยต่อฯ ที่เปิดปฏิบัติการขย่ม 2 ป. ป.ประยุทธ์ และ ‘ป.ป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยมาหลายครา
ฉะนั้น หากถึงเวลาพรรคพลังประชารัฐตุกติกขึ้นมา ‘บิ๊กตู่’ ยังมีทางไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนของ ‘บิ๊กตู่’ ต้องพูดว่ายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะยังต้องร่วมทำงานกันอีกหลายเดือน และรักษาไมตรีไม่ให้ขัดข้องหมองใจกับพี่ใหญ่
เช่นเดียวกับการที่ระบุว่า กำลังคิดเรื่องจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่เสนอชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯ ตราบใดที่พรรคยังประกาศว่าสนับสนุน ก็ไม่มีเหตุต้องตีตัวเหินห่าง
และหากถึงวันเลือกตั้ง ไม่มีการบิดพลิ้วเปลี่ยนแผน พรรคพลังประชารัฐก็ยังคงจะเป็น ‘นั่งร้านหลัก’ เฉกเช่นเดิม เพราะมีศักยภาพมากกว่าพรรคอื่นๆ ในองคาพยพ
เพียงแต่วันนี้วันที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ‘บิ๊กตู่’ จำเป็นต้องมีตัวเลือกมากกว่าหนึ่งไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย และไม่เสียหายอะไรหากจะมีมากกว่า 1 พรรคเสนอชื่อ ‘บิ๊กตู่’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
แต่ที่น่าสนใจคือ 2 พรรคนี้ จะเป็น ‘กัลยาณมิตร’ หรือ ‘คู่แข่ง’ ในสนามเลือกตั้ง เพราะทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐต่างระบุว่า จะส่งผู้สมัครครบทุกเขต
หาก ‘บิ๊กป้อม’ ไม่มองพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพันธมิตร และมองว่าเป็นอุปสรรค เพราะผลเสียมันจะเกิดขึ้นกับทั้งคู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ดูแล้วเป็น ‘พื้นที่เป้าหมาย’
วันนี้การมีพรรครวมไทยสร้างชาติมันอาจชัดเจนว่าเป็นพรรค ‘บิ๊กตู่’ แต่มันกำลังสร้างความไม่ชัดเจนให้กับผู้ตามที่ไม่รู้ว่า ตกลงเอาอย่างไร ต้องอยู่พรรคไหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย