ประยุทธ์-รอฝ่าด่านนายกฯ8ปี ศาลอาจไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่!

เข้าสู่ช่วงเดือนสิงหาคม ปมร้อนการเมืองที่ร้อนแรงนับจากนี้คงไม่พ้นเรื่อง “วาระ 8 ปี การเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาข้อถกเถียงจากฝ่ายต่างๆ มากมาย ที่ต่างก็ตีความไปกันคนละมุม

เรื่องวาระ 8 ปีบนเก้าอี้นายกฯ นับจากนี้จะเป็นเดิมพันที่สูง ของ พลเอกประยุทธ์ เพราะหลังผ่านศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เหลือแค่ด่านนี้อีกเพียงด่านเดียว ที่หากฝ่าไปได้ พลเอกประยุทธ์หมดห่วงทางการเมือง และมีโอกาสสูงที่จะอยู่ครบเทอม 4 ปี ไปจนถึงมีนาคมปีหน้า  

ต้องดูกันว่า ส.ส.ฝ่ายค้านจะเข้าชื่อยื่นคำร้องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวช่วงใด หรือจะเป็นฝ่ายอื่นที่จะยื่นคำร้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่กฎหมายเปิดช่องให้ยื่นคำร้องได้ หลังล่าสุดมือกฎหมายรัฐบาล “วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี“ ออกมายืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการยื่นคำร้อง

หลังที่ผ่านมา ฝ่ายค้านโหมโรงประเด็นนี้มานานหลายเดือน บนความเชื่อทางการเมืองที่ว่า พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อหลัง 23 สิงหาคมไม่ได้ เพราะการนับวาระนายกฯ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”  

ฝ่ายค้านจึงชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ที่เป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 จะอยู่เป็นนายกฯ เกินเที่ยงคืน 23 สิงหาคมไม่ได้ เพราะหากอยู่เกิน เท่ากับจะเกิน 8 ปี เท่ากับฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ  

เมื่อตอนนี้เข้าสู่เดือนสิงหาคม หลายฝ่ายจึงเห็นว่า ฝ่ายค้านควรเร่งทำความชัดเจนเรื่องนี้ให้ปรากฏ ด้วยการเร่งส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพื่อจะได้ให้เวลาศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยตีความ เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องศึกษาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเจตจำนงในการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ซึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. เพื่อดูว่า กรธ.เขียนมาตรานี้มีเจตนาให้นับวาระนายกฯ 8 ปี มีผลย้อนไปถึง 2557 หรือไม่

   ทั้งนี้ ปมปัญหาข้อกฎหมายเรื่องนี้มีข้อถกเถียงแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง

แนวทางแรก ต้องนับตั้งแต่ปี 2557 ที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ รอบแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีการเขียนข้อยกเว้นเรื่องการไม่ให้นับอายุการเป็นนายกฯ ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เอาไว้ ฝ่ายที่เชื่อในสูตรนี้จึงเห็นว่า พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ เกินวันที่ 23 สิงหาคมนี้ไม่ได้

แนวทางที่สอง คือต้องนับช่วงการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 เพราะรัฐธรรมนูญต้องนับตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ และโดยหลักทั่วไป กฎหมายก็ไม่มีผลย้อนหลังอยู่แล้ว เพราะหากจะให้ย้อนหลัง จะต้องมีการเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เมื่อไม่ได้เขียนไว้ เท่ากับช่วงที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ก่อน 6 เมษายน 2560 จะนำมานับรวมไม่ได้ ต้องนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งสูตรที่สอง เท่ากับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มา 5 ปี ยังเป็นได้อีก 3 ปี  

แนวทางที่สาม คือนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่หากนับตามนี้ ปัจจุบันนี้ปี 2565 จึงเท่ากับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแล้ว 3 ปี ยังสามารถเป็นได้อีก 5 ปี

แต่สุดท้ายแล้วข้อถกเถียงทั้งหมด ฝ่ายที่จะชี้ขาดได้ดีที่สุดก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่พบว่าตอนนี้เริ่มมีกระแสกดดันพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลทยอยออกมาแล้ว เช่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ร่วมลงชื่อ 99 คน ที่ประกอบด้วยบุคคลจากหลายสาขาอาชีพร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยอ้างเหตุว่า ไม่สามารถอยู่เป็นนายกฯ ได้เกิน 23 สิงหาคม เพราะจะเกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ

และหลังจากนี้คาดว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะเคลื่อนไหวประเด็นนี้ตลอดเดือนสิงหาคม เพื่อกดดันพลเอกประยุทธ์ รวมถึงเพื่อสร้างแรงกดดันไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เร่งตีความเรื่องนี้ให้จบก่อน 23 สิงหาคม

 อีกทั้งอาจมีการสร้างกระแสกดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญ หลังรับคำร้องแล้ว ต้องมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์ “หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกรัฐมนตรี” ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา โดยอ้างเหตุว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะตามมา เช่นหากพลเอกประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ครม. แล้วมีมติ ครม.ใดๆ ออกมา และต่อมาภายหลังหากเกิดกรณีว่าศาลมีมติออกมาว่า พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ต่อไปอีกหลัง 23 สิงหาคม ก็จะเกิดปัญหาตามมา

เรื่องนี้อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่?

แต่หากไปดูหลายคำร้องก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับรัฐมนตรีโดนยื่นคำร้องแล้วศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ซึ่งกรณีของรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็มีหลายคนที่เคยมีคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่น “คดีนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย” ที่ตอนนี้มีคดีอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณี ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นให้วินิจฉัยกรณีความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ หลังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ อบจ.สงขลา ซึ่งศาลรับไว้พิจารณา แต่ไม่ได้สั่งให้นิพนธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่

หรือกรณี “ธรรมนัส พรหมเผ่า” สมัยเป็น รมช.เกษตรฯ ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามเพราะเคยจำคุกที่ออสเตรเลีย ที่ตอนศาลรับคำร้องก็ไม่ได้สั่งให้ธรรมนัสหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

ที่สำคัญ ตัวของพลเอกประยุทธ์เคยตกเป็นผู้ถูกร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 คดี เช่น เรื่อง "พักบ้านทหาร" ซึ่งศาลก็รับคำร้อง แต่ไม่สั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

แต่ก็ไม่แน่ กับคดี 8 ปีนายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญอาจมองว่า พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ และเรื่องนี้เป็นคดีใหญ่ เพื่อป้องกันสิ่งที่จะตามมา หากผลคำตัดสินออกมาไม่เป็นคุณกับพลเอกประยุทธ์ ก็อาจสั่งให้หยุดพักปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน แล้วก็เร่งพิจารณาคดีให้เสร็จ ซึ่งคำร้องคดีแบบนี้ ที่เป็นเรื่องข้อกฎหมายล้วนๆ วินิจฉัยได้ไม่ยาก ไม่ต้องเปิดห้องพิจารณาคดี ศาลใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนก็จบ ศาลก็อาจสั่งพลเอกประยุทธ์ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนก็ได้เช่นกัน

เส้นทางการเมืองบนเก้าอี้นายกฯ ของพลเอกประยุทธ์หลังจากนี้จึงอยู่ในกำมือของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าพลเอกประยุทธ์ฝ่าด่านนี้ไปได้ ก็ตีตั๋วยาว มีโอกาสอยู่ครบเทอมไปเลย.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1