ตอนนี้หลายคนอาจจะกำลังรู้สึกงงๆ เกี่ยวกับกระบวนการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ....หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ร่างกฎหมายลูก ส.ส.
ความคืบหน้าของร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการมาแล้วนั้น ค้างอยู่ที่การพิจารณาของ “ที่ประชุมร่วมกันรัฐสภา” ใน ชั้นวาระสอง ซึ่งสมาชิกจะพิจารณามาตราต่างๆ ไปตามลำดับจนถึงมาตราสุดท้าย ซึ่งในที่นี้มีอยู่ด้วยกัน 32 มาตรา จากนั้นจะเข้า สู่วาระสาม โดยที่ประชุมจะต้องให้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งฉบับ
อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ได้กำหนดอีกว่าขั้นตอนของการออกร่างกฎหมายลูก เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามวาระสามแล้ว ภายใน 15 วันรัฐสภาจะต้องส่งไปให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าร่างกฎหมายนั้นขัดหรือแย้ง หรือปฏิบัติได้หรือไม่ได้อย่างไร โดยให้ทำเป็นข้อเสนอแนะ แนะนำกลับมายังรัฐสภาภายใน 30 วัน ต่อมารัฐสภาอาจเปิดประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ได้
จากนั้นจึงส่งให้นายกรัฐมนตรี รอไว้ 5 วัน เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป ทว่า ขั้นตอนนี้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน โดยฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนฝ่ายค้านมองว่าสมาชิกไม่สามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรา 132
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะ กมธ.ได้ขอถอนร่างกฎหมาย ส.ส.ออกไป เพื่อปรับปรุงให้สอดรับกับมติที่ประชุมรัฐสภา ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากสูตรหาร 100 เป็นสูตรหาร 500 แทน ด้วยเหตุนี้ ทำให้คณะ กมธ.ต้องกลับไปพิจารณามาตราที่เหลืออยู่อย่างละเอียดรอบคอบ และต้องไม่เป็นปัญหากับสูตรหาร 500
ถัดจากนั้นอีกวัน คือวันที่ 27 ก.ค. คณะ กมธ.ก็ทำงานเสร็จเรียบร้อย ผลมีดังนี้ คณะ กมธ.เพิ่มมาตราขึ้นมาใหม่ 1 มาตรา คือ มาตรา 24/1 การคำนวณ ส.ส.บัญชี แบบหาร 500 กรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ
อีกทั้งเปลี่ยนแปลงมาตรา 26 แก้ไขมาตรา 131 เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณีเลือกตั้ง ส.ส.เขตใหม่ด้วยเหตุทุจริตเลือกตั้งภายใน 1 ปี จากเดิม กมธ.ให้ยกเลิก กลายมาเป็นนำมาตรา 131 กลับมาใช้ตามปกติ
ต่อจากนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่ารัฐสภาจะพิจารณาร่างกฎหมายลูก ส.ส.ทันกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 180 วัน หรือ วันที่ 15 ส.ค.หรือไม่ ซึ่งประเมินจากทิศทางลมแล้วคาดว่าน่าจะเสร็จทันเวลา โดยจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้ง ในวันที่ 2-3 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่วาระพิจารณากฎหมายลูก จะเริ่มต้นที่มาตรา 24/1
ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือกระบวนการตราร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.
แรกเริ่มแก้กติกาเลือกตั้ง ให้ใช้ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประชาชนมีสิทธิ์เลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบ และให้ใช้สูตรหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการหาร 100 พอใกล้เวลาต้องลงมติจะเลือกหาร 100 ฝ่ายบริหารส่งสัญญาณมายังสมุนในสภา ลงมติหักหาร 100 เอาแบบหาร 500 แทน เพราะคิดว่าตัวเองจะได้เปรียบ เอาชนะคู่แข่งขันได้ ชาวบ้านก็บ่นอุบผู้มีอำนาจเปลี่ยนใจกลับไปกลับมา จนน่ารำคาญ
ไม่วายดีดลูกคิดอีกรอบ สูตรหาร 500 ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเสียเปรียบอยู่ดี แถมยังเจอความยุ่งยากวุ่นวายด้านกฎหมายอีก คราวนี้ข่าวหลุดออกมาจากทำเนียบรัฐบาลว่า กระบวนการทั้งหมดที่ทำๆ อยู่ในสภาไม่เอาแล้ว เพราะ “บิ๊กรัฐบาล” ต้องการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เสกมาเพื่อประโยชน์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น นั่นคือ การกลับไปใช้ บัตรเลือกตั้งใบเดียว
ข่าวลือเพียงข้ามวัน นอกจากฝ่ายค้านจะออกมาด่าแล้ว แม้กระทั่ง ส.ส.ภาคเหนือ อีสาน พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเองยังร้องยี้
ยิ่งพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ยิ่งกุมขมับ เพราะทั้งสองค่ายนี้มีเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่แรก ว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขืนทำแบบที่ “บิ๊กรัฐบาล” อยากได้ ก็แปลว่าไม่ได้มีการแก้รัฐธรรมนูญที่แท้จริง สังคมจะตั้งคำถามได้ว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ พรรคร่วมสมควรถอนตัวจากการเป็นรัฐบาลตั้งแต่นาทีนี้เลยดีไหม
อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามถึงแนวคิดของ “บิ๊กรัฐบาล” ในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องบอกเลยว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น จะยื้อเวลาแล้วไปออกเป็นพระราชกำหนด หรือจะถูลู่ถูกัง ตีตกร่างกฎหมายลูกในวาระสาม แล้วเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้แบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือจะเดินหน้าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เอาสูตรหาร 100 หาร 500 ก็ได้ทั้งนั้น เพราะเวลาพอมี และที่สำคัญเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นของฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว
แต่ฝากเป็นข้อคิดเดินหน้ามาถึงขนาดนี้ แล้วยังจะหันหัวกลับลำไปเดินเส้นทางเก่าที่ทุกคนต่างประจักษ์แล้วว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง มองแต่ว่าจะกลับมามีอำนาจใหม่อีกครั้งอย่างไร โดยไม่สนใจวิธีการ กติกาบ้านเมือง ไม่สนแม้แต่ความทระนงเกียรติในการต่อสู้ของตัวเอง คนดีๆ เขาไม่ทำกัน
นอกจากชาวบ้านจะมองว่าเป็น ไม้หลักปักขี้เลน แล้ว เขาก็ยังไม่ชอบพวกแก้กติกาเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ได้เอาเปรียบอีกฝ่าย ในอดีตก็มีตัวอย่างแล้ว จนถูกต่อต้าน รัฐบาลชุดนี้ยังจะทำ(ผิด)ซ้ำอีกหรือ???.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี