ชิงปิดประชุมสภา รักษาภาพ ส.ส.สันหลังยาว

พลันมีประกาศพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เปิดฉากประเดิมด้วยนัดประชุมสภา สแกนระเบียบวาระการประชุมยาวเป็นหางว่าว

งานกฎหมายทั้งที่รัฐบาล และ ส.ส.เสนอมาใหม่ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว รอให้ผู้แทนราษฎรพิจารณาเพียบ

แต่เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลิกเร็วผิดปกติ อันเกิดจากตัว ส.ส.ซึ่งเป็นองค์ประชุมสภาลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนทำให้การพิจารณาและการโหวตผ่านกฎหมายเดินหน้าต่อไม่ได้ เมื่อประธานที่ประชุมเห็นท่าไม่ดี ส.ส.เหลือน้อย จึงชิงประกาศปิดการประชุมสภา

อย่างน้อยในเชิงเกมการเมืองสภา ก็พูดได้ไม่เต็มปากว่า “สภาล่ม” เพราะความจริง ในที่ประชุมสภายังไม่ทันได้โชว์ผลการแสดงตน “สุชาติ ตันเจริญ” ในฐานะรองประธานสภาคนที่ 1 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)   ทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมขณะนั้น ก็สั่งให้ยุติเสียก่อน อีกทั้งถือว่าเป็นการช่วยพรรคพวกไม่ให้โดนประจานด้วย

แต่หาก “ปธ.สุชาติ” เอาจริง จากไม่ล่ม ก็จะกลายเป็นล่ม เพียงกดออดให้สมาชิกมาแสดงตนเพื่อเช็กองค์ประชุม และสั่งปิดการแสดงตน ถ้าเป็นแบบนั้นตามหลักทั่วไปหลังจากนั้นจะต้องมีการประกาศรายชื่อว่ามี ส.ส.คนใดอยู่ในห้องประชุมบ้าง ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบชื่อได้

เท่ากับสังคมจะได้รับรู้เลยว่า ส.ส.ที่แสดงตนอยู่ในห้องประชุม ส่วนที่ไม่ได้แสดงตนจะเกิดคำถามตามหลังมาทันทีว่าโดดประชุมใช่หรือไม่

แต่หลายครั้ง “ประธานในที่ประชุม” เลือกที่จะชิงปิดก่อน เพื่อกู้ภาพลักษณ์สภาและภาพลักษณ์ซีกรัฐบาล

แน่นอนว่า ฝ่ายค้าน จ้องเปิดเกมในสภา เมื่อไหร่ที่เห็นฟากรัฐบาลนั่งกันน้อย จังหวะได้ ก็มักขอเช็กองค์ประชุม หวังจะหักหน้าฝ่ายรัฐบาล ฟ้องให้ชาวบ้านรู้ว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขี้เกียจ สันหลังยาว โดดประชุม ไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเอง

เรื่องนี้หากจะหาคนผิด คำพูดของ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา และประธานสภา สะท้อนได้ดีที่สุด

ประธานสภาระบุว่า "เรื่ององค์ประชุมเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือรัฐบาลต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ในระบบรัฐสภานี้ การจะได้เป็นรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมเสียงข้างมากให้พร้อม"

พูดง่ายๆ ถ้า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่กันเหนียวแน่น ฝ่ายค้านจะขอนับองค์กี่ครั้ง องค์ประชุมก็จะไม่มีวันไม่ครบ

ขณะนี้ชาวบ้านกำลังจับตาเหตุการณ์ “สภาล่ม” ซ้ำซากสะสม และดูว่าพฤติกรรมผู้แทนที่ตัวเองเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้สมกับที่คาดหวังไว้หรือไม่ หากทำตัวเหลวไหล การเลือกตั้งคราวหน้าคงจะลำบาก เพราะมีการว่ากันว่า ประชาชนเป็นแบบไหน ก็ได้ ส.ส.แบบนั้นเข้าสภา    

แม้ก่อนหน้านี้ “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตประธานวิปรัฐบาล จะเคยบอกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีมาตรการคุมเข้มในส่วนที่ ส.ส.ขาดการประชุม ลาการประชุมโดยไม่มีเหตุผลสมควรก็ต้องมีบทลงโทษ 

แต่ดูเหมือนคำสั่งจะเป็นเพียงน้ำลาย ที่ ส.ส.ไม่ให้ค่า และยังกล้าให้เหตุการณ์สภาไม่ล่ม ก็เหมือนล่มเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ ความแตกสามัคคีในหมู่รัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะระยะหลังที่มีรายงานว่ามีการแบ่งก๊กใน พปชร. ระหว่าง “ทีมลุงป้อม-ธรรมนัส” กับ “ทีมนายกฯ-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จึงอาจเป็นสาเหตุให้เสถียรภาพของรัฐบาลสะเทือน

ดังนั้นต่อไปนี้ “วิปรัฐบาล” จะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการคุมเกมสภา ควบคุมทิศทางและสอดส่อง ส.ส.ที่นอกลู่นอกทาง

ที่ผ่านมาวิปรัฐบาลอาจไม่ได้เข้มงวดกับ ส.ส.ในซีกรัฐบาล จนทำให้ ส.ส.รู้สึกสบายทำตามใจตัวเอง ไม่ค่อยเห็นความสำคัญในการเข้าร่วมประชุมสภา เข้าประชุมสภาบ้าง ไม่เข้าบ้าง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ ส.ส.

ขืนยังเป็นแบบนี้ หากกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาก็เสี่ยงสูงที่จะโหวตไม่ผ่าน เพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลพลาดเอง

ถ้าลงมติไม่ผ่านก็ต้องรับผิดชอบ เพราะแสดงให้เห็นแล้วว่าฝ่ายรัฐบาลไม่พร้อมจะเป็นรัฐบาลอีกต่อไป ลำพังแค่กฎหมายของตัวเองยังไม่สามารถโหวตให้ผ่านได้ ทั้งที่ตามระบบรัฐสภา รัฐบาลกำเสียงข้างมากในสภาไว้อยู่

“ประธานวิปรัฐบาล” จึงต้องเป็นที่ยอมรับของ ส.ส. เพราะเวลาพูดอะไรทุกคนจะต้องเชื่อฟัง  

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสรุปตั้ง นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานวิปรัฐบาล แทน นายวิรัช รัตนเศรษฐ แล้ว มั่นใจว่านายนิโรจน์จะประสานงานได้

ทั้งนี้ จะมีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.เข้าไปเสริมการทำงานของนายนิโรธคือ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เป็นที่ปรึกษาและกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเคยเป็นเลขานุการวิปรัฐบาล 

จับตาบทบาท ประธานวิปรัฐบาล คนใหม่ กับการประชุมสภาต่อจากนี้สำคัญสุดๆ!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี