ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดยฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น 11 คน ตั้งแต่วันอังคารที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านรวม 4 วัน และลงมติช่วงวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. ผลการโหวตลงคะแนน ดังนี้
1.พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไว้วางใจ 256 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
2.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ไว้วางใจ 241 เสียง ไม่ไว้วางใจ 207 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง
3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ไว้วางใจ 264 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
4.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ 268 เสียง ไม่ไว้วางใจ 193 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง
5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไว้วางใจ 245 ไม่ไว้วางใจ 212 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง
6.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไว้วางใจ 262 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
7.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไว้วางใจ 249 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง
8.นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไว้วางใจ 244 เสียง ไม่ไว้วางใจ 209 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง
9.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ไว้วางใจ 249 เสียง ไม่ไว้วางใจ 204 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง
10.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ไว้วางใจ 246 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง
11.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ไว้วางใจ 243 เสียง ไม่ไว้วางใจ 208 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง
ทั้งนี้ถือว่ารัฐมนตรีทั้ง 11 คนยังคงได้รับความไว้วางใจจากสภาให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ฝ่ายค้านนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน โหมโรงอย่างน่าตื่นเต้นอย่างกับหนังสงคราม ใช้ชื่อยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน ส่วนพรรคก้าวไกล ปล่อยทีเซอร์ซักฟอกแนวงานศพ ตอกตะปูปิดตาย ทลายระบอบประยุทธ์
สำหรับการอภิปรายตลอด 4 วันจะเห็นได้ว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยใช้ประเด็นเก่าๆ ที่เคยอภิปรายและเป็นข่าวตามสื่อมวลชนมาอภิปรายซ้ำ โดยเน้นโวหารวาทกรรมพูดจาเสียดสี โจมตีรัฐบาล มากกว่าใช้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐมนตรีมาอภิปราย ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลยังเปิดประเด็นใหม่ๆ มีข้อมูลหลักฐานว่ารัฐมนตรีบางคนมีประพฤติมิชอบ ส่อทุจริตคอร์รัปชัน
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาแทบทุกประเด็น และมักย้อนกลับผู้อภิปรายอย่างเจ็บแสบ เนื่องจากฝ่ายผู้อภิปรายและเครือข่ายพวกพ้องก็มีแผลเก่าที่เคยมีพฤติกรรมประพฤติมิชอบไว้มากมาย
จุดแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีบริษัทกิจการของตัวเองที่จะกำหนดนโยบายเอื้อประโยชน์ให้บริษัทตัวเอง แตกต่างจาก อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และบริวาร ซึ่งโดนข้อหาทุจริตโกงชาติจนหนีไปอยู่ต่างประเทศ บางคนยังติดคุกในประเทศไทย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรอบข้างนายกฯ บางคนมีพฤติกรรมแอบอ้างใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง รวมทั้งรัฐมนตรีร่วมคณะบางคนที่มีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ ซึ่งฝ่ายค้านก็อภิปรายเปิดโปงได้พอสมควร
การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ใช่แค่การตรวจสอบรัฐบาล แต่คือการขับไล่รัฐบาล ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ผู้อภิปรายต้องมีหลักฐานชี้ชัดว่ารัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมประพฤติมิชอบ ทุจริตคอร์รัปชันทำให้ประเทศชาติเสียหาย แล้วนำหลักฐานไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินคดีเอาผิดทั้งทางแพ่งอาญาต่อไป
ต้องรอดูว่าฝ่ายค้านจะสามารถยื่นเอาผิดรัฐมนตรีคนใด และนำมาลงโทษเหมือนยุคก่อนๆ ได้หรือไม่
สำหรับลงมติก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลก็สอบผ่านเสมอ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวสรุปว่า อย่างน้อยก็จะยับยั้งไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน บอกว่า ฝ่ายค้านไม่ได้แพ้จะ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน ในสนามการเลือกตั้ง
ย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามากกว่าเนื้อหาในการอภิปรายคือ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในการเจรจาต่อรองเพื่อให้ นายกฯ และ รมต.รวม 11 คน ที่ถูกซักฟอกได้รับคะแนนไว้วางใจ
โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็กที่อยู่ฝั่งรัฐบาลเป็นตัวแปรสำคัญในการลงคะแนนโหวต ประกอบด้วย พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน พรรคชาติพัฒนา 4 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พรรคพลังชาติไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน พรรคเพื่อชาติไทย 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน พรรคพลเมืองไทย 1 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน และพรรคไทรักธรรม 1 คน นำโดย นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 และ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม
มีการออกข่าวว่าจะโหวตคว่ำรัฐมนตรี 2 คน คือ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รวมทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
แต่ภายหลังจากได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใน ร.1 ทม.รอ. ก็ยอมรับว่า พล.อ.ประวิตรสั่งโหวตให้ 11 รัฐมนตรีทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน
ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้ประกาศจุดยืนตรงข้ามรัฐบาลอย่างชัดเจนแล้ว ออกมาแฉว่าพรรคเล็กรับเงินเดือนจากใครให้จำไว้ ตนมีลายเซ็นทุกอย่าง รับเกิน 3,000 บาท ให้ระวังไว้ พร้อมกับฟาดกลับว่าไม่ชอบโสเภณีการเมือง
สำหรับ ร.อ.ธรรมนัสยังมีความแค้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปลดพ้นตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ และเป็นผู้ดูแลพรรคเล็กมาตลอด เมื่อพรรคเล็กกลับไปยืนฝั่งตรงข้ามจึงเกิดความคับแค้น
หลังจากนั้นก็มีการเปิดหลักฐานไลน์หลุดเป็นสลิปการจ่ายเงินให้ ส.ส.พรรคเล็ก 9 พรรคการเมือง เดือนละ 100,000 บาท อย่างต่อเนื่องมา 3 ปี และจะมีการยื่นหลักฐานให้ ป.ป.ช.เอาผิดข้อหารับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาทด้วย
ก่อนหน้านั้น ร.อ.ธรรมนัสก็เคยพูดเองว่า พรรคเล็กชอบกิน กล้วย หรือเงินที่ใช้ตอบแทนกันทางการเมือง คราวนี้ถึงกับเปิดหลักฐานลากไส้กันเลยทีเดียว
ทั้งนี้มีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐได้ไม่เกินสามพันบาท และตามมาตรา 28 และ 29 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ห้ามพรรคการเมืองถูกครอบงำชี้นำโดยคนนอกและห้ามคนนอกครอบงำชี้นำพรรคด้วย
นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้ากลุ่ม 16 ยอมรับว่า "เรื่องทั้งหมดเกิดที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ขอให้ไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ในขณะนั้นมอบให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นผู้ดูแลพรรคเล็กที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การลงพื้นที่พบประชาชน เมื่อเกิดปัญหา ร.อ.ธรรมนัสออกมาทำเช่นนี้ ต้องถามว่า พล.อ.ประวิตรจะทำอย่างไร"
เมื่อมีการยอมรับสารภาพอย่างชัดเจนและมีใบเสร็จแล้ว ต้องจับตาการดำเนินการต่อไปจากนี้ เมื่อยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.จะเอาผิดได้หรือไม่ หรือจะเป็นมวยล้มต้มคนดู เหมือนกรณี นาฬิกาเพื่อน หรือไม่ รวมทั้งยื่น กกต.จะเอาผิดได้แค่ไหน
ทางด้าน พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ กรณีรองหัวหน้าพรรคล็อบบี้ ส.ส.ไม่โหวตให้ นายจุติ ไกรฤกษ์ นั้น ก็เนื่องมาจากเรื่องเงินทองที่ค้างจ่ายกันเป็นการส่วนตัว และตนเองไม่ได้ตำแหน่งที่เหมาะสมกับที่รับปากกันไว้ ทำให้ ส.ส.ปีกกลุ่ม กปปส.ผนึกกำลังสู้กลับ รวบรวม ส.ส.ได้ 12 เสียง พร้อมขู่กลับต่อผู้บริหารพรรคว่าให้เร่งจัดการปัญหานี้ และหากคะแนนไว้วางใจนายจุติน้อยหรือขาดไป กลุ่ม ส.ส.ปีกก กปส.ก็จะโหวตงดออกเสียงให้กับนายจุรินทร์และนายนิพนธ์เช่นกัน
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนการเมืองไทยที่อยู่ในวังวนแห่งผลประโยชน์ มีการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เมื่อสมประโยชน์กันแล้วก็สามารถพลิกจุดยืนหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่หากไม่สมประโยชน์ก็หักหลัง ลากไส้ แทงกันเลือดสาดได้เช่นกัน
ส่วนกระแสข่าว 3 ป. ขัดคอกันนั้น ศึกซักฟอกครั้งนี้ก็พิสูจน์ชัดว่า 3 ป.ยังกอดคอกันไปต่อ บิ๊กป้อม ยังอุ้ม น้องตู่ ให้อยู่ในตำแหน่ง และอาจต้องมีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่เร็วๆ นี้
ที่น่าจับตาต่อไปคือ ปมปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"
โดย พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 หลังการรัฐประหาร ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และครั้งที่ 2 คือ 9 มิ.ย.2562 ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560
ซึ่งว่ากันว่า พล.อ.ประวิตร คาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รอด โดยจะถูกศาล รธน.วินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง หรือกรณีรับเรื่องไว้วินิจฉัยอาจสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนก็ได้
นั่นหมายความว่า พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกฯ ลำดับที่ 1 จะขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ จะนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตาม ม.158 ตั้งแต่วันใด ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาล และจะส่งผลต่อทิศทางการเมืองทั้งกระดาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'อนุทิน' ลงสงขลาเปิดอาคารเทศบาลเมืองคอหงส์
'อนุทิน' ลงพื้นที่สงขลา เป็นประธานเปิดอาคารเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ ย้ำบทบาทเทศบาลยุคใหม่ส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกด้าน
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน