สบช่องรอยร้าวภายในพรรค เขย่าต้นกล้วยบีบ รมต. ‘หนีบ๊วย’

หากดูจาก ระยะห่าง เรื่องคะแนนเสียงของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 11 คน น่าจะ สอบผ่าน การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไปได้ 

 และผ่านได้ในสมการที่ไม่มี พรรคเศรษฐกิจไทย ของ  ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะหัวหน้าพรรค  ที่มีเสียง ส.ส.อยู่ในมือ 16 คนด้วย 

ปัจจุบัน เสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมี 477 คน เป็นของฝ่ายรัฐบาล 269 คน ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 97 คน พรรคภูมิใจไทย 62 คน พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน  พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย  5 คน  

พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน พรรคชาติพัฒนา 4 คน  พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พรรคพลังชาติไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน พรรคเพื่อชาติไทย  1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน พรรคพลเมืองไทย 1 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน และพรรคไทรักธรรม 1 คน 

หากตัดพรรคเศรษฐกิจไทยออกไป 16 คน ฝ่ายรัฐบาลจะเหลือ 253 คน            

ขณะที่เสียงฝ่ายค้านมี 208 คน ประกอบด้วย  พรรคเพื่อไทย 132 คน พรรคก้าวไกล 51 คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคประชาชาติ 7 คน พรรคเพื่อชาติ 6 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน 

ในจำนวน 208 เสียงนี้ ยังไม่นับรวม งูเห่า ของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ ที่เปิดตัวว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาทำกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทยอีกหลายคน  

ในส่วนของพรรคขนาดเล็กที่มีการจับกลุ่มกันในนาม กลุ่ม 16 ที่ดูจะเป็น ตัวแปร สำคัญในกรณีที่ผนึกกำลังกับ ร.อ.ธรรมนัส แต่ในกลุ่มเองไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ เพราะตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการ ต่อรอง กับพรรคขนาดใหญ่ที่ต้องการเสียง 

ในขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ได้มี  ร.อ.ธรรมนัสคนเดียวที่ดูแล แต่บางคนยังได้รับการดูแลจากทางอื่นอีก โดยเฉพาะ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ที่รับภารกิจอุ้มชูพรรคเล็ก คานกับ ร.อ.ธรรมนัสมาสักระยะ 

 หรือต่อให้ ร.อ.ธรรมนัสผนึกกำลังกับกลุ่ม 16 สำเร็จ  แบบเป็นทิศทางเดียวกันหมด แต่ก็ยังยากในการจะคว่ำเสนาบดีสักคนหนึ่งได้สำเร็จ 

เพราะแม้แต่ในพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง ร.อ.ธรรมนัสก็ยังไม่สามารถกดรีโมตให้ทุกคนโหวตเหมือนกันได้ทั้งหมด โดยมี 3 คนที่เตรียมจะย้ายไปพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่อีก 1 คนเป็นคนของ บิ๊กน้อย-พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหากับ ร.อ.ธรรมนัส  

และแม้ฝ่ายค้านจะได้เสียงจากพรรคเศรษฐกิจไทย กับ ส.ส.พรรคขนาดเล็กไปเพิ่ม แต่เสียงของฝ่ายค้านก็ลด  เพราะกลายร่างเป็นงูเห่าที่พรรคภูมิใจไทยเลี้ยงไว้ ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 17-20 เสียง 

จึงถือเป็นเรื่องยากมากที่จะมีรัฐมนตรี ตกชั้น 

แต่อย่างไรก็ดี ข้อนี้พรรคเศรษฐกิจไทยและพรรคขนาดเล็กรู้ดี แต่เกมของพวกเขาคือ ทำให้รัฐมนตรีบางคน ขายขี้หน้า ด้วยการ กินบ๊วย เพื่อนำไปสู่ผลทางการเมืองอย่างอื่น โดยใช้ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเข้าผสมโรง 

โดยพรรคร่วมรัฐบาลที่มีปัญหาภายในมีอยู่ 2 พรรค  คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ 

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ พวกเขารู้ว่า ส.ส.หลายคนไม่พอใจการทำหน้าที่ของ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ไม่เคยซัพพอร์ต ส.ส.ในพรรคที่ต้องการต่อยอดทำพื้นที่ จึงใช้ช่องทางนี้ผสมโรงเพื่อกดดัน บิ๊กป๊อก 

อีกทั้งยังว่ากันว่า มีคนคับแค้น บิ๊กป๊อก ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งซ่อม จ.ลำปางที่ผ่านมา 

ขณะที่ในรายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นอกจากเป็น โจทก์เก่า ของ ร.อ.ธรรมนัสแล้ว ยังมีข่าวว่าช่วงหลังกำลังถูก นางสิงห์ คนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐ เขย่าเก้าอี้ รมช.การคลัง โดยหวังใช้เรื่องโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีเป็นตัวกดดัน 

หวังใช้ความอับอายจากการ กินบ๊วย ในศึกซักฟอกนำไปสู่การปรับ ครม. นอกจากนี้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังมีขบวนการปล่อยข่าวว่า สันติ จะหอบลูกทีมย้ายไปพรรคภูมิใจไทยในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใหญ่เกิดความหวาดระแวง 

 ส่วนพรรคเล็กที่เป็น ตัวแปร ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกดดัน เพราะรัฐมนตรีทุกคนไม่มีใครอยาก ตกชั้น หรือ  กินบ๊วย เหมือนบีบให้ วิ่งมาหา เพื่อ หนีบ๊วย 

ในฟากของพรรคประชาธิปัตย์ 3 คนที่ถูกกลุ่ม  16 เขย่า คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และนายจุติ ไกรฤกษ์  รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นคนที่เจอปัญหาภายในทั้งหมด 

นายจุรินทร์และนายนิพนธ์ มีปัญหากับนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายนิพนธ์กับนายอันวาร์ ที่นายอันวาร์มองว่ามีส่วนสำคัญในการไม่ส่งตัวเองลงสมัครในครั้งหน้า ซึ่ง 2 เสียงนี้มีโอกาสจะหายสูงมาก 

 ด้านในรายนายจุติ ส.ส.หลายคนในพรรคไม่ต้องการโหวตให้ เพราะเห็นว่าไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับพรรคนานแล้ว  และครั้งหน้าจะไม่ได้อยู่ แต่พรรคกลับไม่ดำเนินการปรับออกแต่อย่างใด 

เมื่อเสียงในพรรคตัวเองจะหาย 2-3 เสียง จึงทำให้พรรคขนาดเล็กสบช่องเขย่า ซึ่งทำมาหลายวันตั้งแต่ก่อนซักฟอกแล้ว 

 คะแนนเสียงรัฐมนตรีแต่ละคนในครั้งนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ เนื้อหา ที่จะเป็นตัวตัดสินแต่อย่างใดเลย 

 เพราะใครได้มาก-ได้น้อย ขึ้นอยู่กับว่า ใครยอม-ใครไม่ยอมต่างหาก. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี