ผลพวงของการประกาศแยกตัวจากรัฐบาลของพรรคเศรษฐกิจไทย ภายใต้การนำของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา และในฐานะหัวหน้าพรรค ภายหลังการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง ต้องพ่ายแพ้ให้พรรคการเมืองซีกฝ่ายค้าน
ถูกจับโยงว่าจะกระทบต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กับ 10 รัฐมนตรี ในระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม
สอดรับกับที่ประธานวิปรัฐบาลระบุว่า อาจจะกระทบต่อเสียงของรัฐบาล เนื่องจากพรรคเศรษฐกิจไทยมีจำนวน 16 เสียง บวกกับกลุ่มพรรคเล็ก 16 เสียง รวมถึงที่อ้างว่าฝากเลี้ยงไว้ที่พรรคร่วมรัฐบาลอีกเกือบ 10 เสียง รวมประมาณกว่า 40 เสียง
ดังนั้น หากเป็นไปตามสมมุติฐานนี้ “รัฐบาลล้มแน่นอน”
แต่ความเป็นจริงเรื่องดังกล่าวยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะยืนอยู่ในขั้วฝ่ายรัฐบาลอยู่ดีๆ แล้วทำไมถึงอยากไปตกระกำลำบาก อดอยากปากแห้งอยู่ฝ่ายค้าน
โดยเฉพาะกว่า 40 เสียงเหล่านี้ถามว่าจะเดินตาม ร.อ.ธรรมนัสหรือไม่ และจะกล้าลงมติไม่ไว้วางใจ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่
นอกจากนี้ “บิ๊กป้อม” ยังเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ที่มีอำนาจเหลือล้นทั้งบนดินและใต้ดิน และมีบุญคุณช่วยให้ ร.อ.ธรรมนัสได้เป็นรัฐมนตรี และบริวารพวกพ้องได้เป็น ส.ส. มีตำแหน่ง เอางบประมาณลงพื้นที่ได้ หรือธุรกิจส่วนตัวต่างๆ ก็ยังรอดพ้นจากกฎหมายบ้านเมือง ไม่ถูกกวาดล้างจนเหี้ยน ก็เพราะช่วยประนีประนอมเอาไว้ให้
ฉะนั้น ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม หรือวันลงมติซักฟอก ถามว่าจะมีใครกล้าทรยศ “พล.อ.ประวิตร” หรือไม่
รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รัฐมนตรีคนที่เหลือ ส.ส.ในกลุ่มก๊วนนี้จะเดินตามสัญญาณ ร.อ.ธรรมนัสทั้งหมดหรือไม่
หรือดีไม่ดี ส.ส.ในพรรคเศรษฐกิจไทยอาจเดินตาม “ผู้กอง” ไม่ถึง 10 คน จากจำนวนทั้งหมด 16 คน โดยมีกระแสข่าวแว่วมาว่า มีราว 3-4 คนไปปรากฏตัวอยู่กับพรรคภูมิใจไทยเรียบร้อยแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น บางคนที่ตามมาพรรคเศรษฐกิจไทยก็เพราะ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรค แต่วันนี้ พล.อ.วิชญ์แตกหักกับ ร.อ.ธรรมนัสไปแล้ว ส.ส.บางคนย่อมไม่ทำตาม “ผู้กองยอดรัก” อย่างแน่นอน
ขณะที่พรรคเล็กกลุ่ม 16 ที่ก่อนหน้าอ้างว่าพร้อมฟัง “ผู้กองธรรมนัส” เพราะเคยเป็นคนเลี้ยงลิงมาก่อน ล่าสุดก็ส่งสัญญาณไม่ถอนตัวจากรัฐบาล
โดยนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม ยอมรับท่าทีของกลุ่ม 16 ส.ส.และพรรคเล็กว่า
“ยืนยันเราไม่ได้ไปตาม ร.อ.ธรรมนัสทุกเรื่อง พรรคของ ร.อ.ธรรมนัสก็เป็นพรรคของเขา เราก็ยังคงอยู่ร่วมรัฐบาล” ตัวแทนพรรคเล็กกลุ่ม 16 กล่าว
กลับมาที่ตัวเลข ส.ส.ทั้งหมดในสภา จำนวน 477 เสียง แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 269 เสียง และฝ่ายค้าน 208 เสียง
เมื่อประเมินจากผลการลงมติรับหลักการร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปรากฏว่าเสียงรับหลักการ 278 เสียง ไม่รับหลักการ 194 เสียง โดยฝ่ายรัฐบาลคะแนนทิ้งห่าง ฝ่ายค้านถึง 84 เสียง หลังมี 7 ส.ส.เพื่อไทย และ 4 ส.ส.ก้าวไกล ย้ายไปทำการเมืองให้พรรคภูมิใจไทย เติมแต้มให้ฝ่ายรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนั้นสถานภาพของฝ่ายค้านที่เดิมมี 208 เสียง ก็ลดลงเหลือไม่ถึง 200 เสียง แม้จะได้เสียงจากพรรคเศรษฐกิจไทยก็คงไม่ทำให้มีคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสภา
อีกทั้งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลแทบไม่ได้นับพรรคหอกข้างแคร่อยู่ในฝ่ายเดียวกับตัวเองอยู่แล้ว
ยิ่งกลุ่มพรรคเล็ก 16 เสียงไม่ต้องพูดถึง ออกมาเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็เพื่อขอต่อรองเพราะ “หิวกล้วย” จากรัฐมนตรีเพื่อไม่ให้ได้คะแนนรั้งท้าย
หรือล่าสุด เพิ่มความกดดันไปที่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามสัญญาณของ ร.อ.ธรรมนัส หวังให้มีการปรับ ครม.หลังศึกซักฟอก เพื่อผลักดันให้ “บิ๊ก ป.” คนหนึ่งไปนั่งแทนในกระทรวงคลองหลอด คุมกลไกฝ่ายปกครองเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งครั้งหน้า
แต่ก็คงเป็นแค่สีสัน แผลงฤทธิ์ออกเดชอะไรมากไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่ากฎหมายลูกประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 ยังไม่มีผลบังคับใช้ อภินิหารทางกฎหมายสามารถลงโทษพรรคเล็กได้เสมอ
ขณะที่บทบาทฝ่ายค้านก็ไม่มีน้ำยา นอกจากใช้เวทีนี้โจมตีรัฐบาลก็เท่านั้น โดยไม่รู้ว่าตัวเองจะเลือดไหลอีกเท่าไหร่ เพราะมี ส.ส.ดาวฤกษ์ไม่สนใจกระแสแลนด์สไลด์ทิพย์ของนายใหญ่ ฟันธงได้ว่าการซักฟอกครั้งนี้ “รัฐบาล" คงจะผ่านฉลุย
คอนเฟิร์มโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน/ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ/ผู้ประสานงานพรรคเล็ก ที่ออกมาแสดงความมั่นใจถึงเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเล็ก และกลุ่ม 16 โดยอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ที่มีมาด้วยกัน และเชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคนจะได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจผ่านทั้ง 11 คน
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กระแสอาจตีกลับมาที่ “ร.อ.ธรรมนัส” และพรรคเศรษฐกิจไทย ทำให้เหลือเส้นทางเดินทางการเมืองน้อยลงทุกที
แม้จะทิ้งไพ่ใบสุดท้ายโดยอ้างว่าจะไปอยู่ฝ่ายค้าน แต่คำพูดไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ แม้ก่อนหน้านี้สั่งให้นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรค และนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรค ลาออกจากวิปรัฐบาลก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียงละคร
ดังที่ ส.ส.ก้าวไกลออกมาตั้งคำถาม โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นว่า ความสัมพันธ์ของ ร.อ.ธรรมนัสกับ พล.อ.ประวิตรยังไม่ถึงขั้นขาดกันจริงๆ และ พล.อ.ประวิตรเชื่อมโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์อย่างแนบแน่นอีก ในส่วนนี้จะบอกว่าขาดจริงๆ มันต้องพิสูจน์ว่าขาดได้จริงหรือไม่ เช่นการลงมติยืนข้างฝ่ายค้าน หรือการอภิปรายอย่างเด็ดขาด โดยต้องแสดงให้เห็น แค่ท่าทีคงไม่เพียงพอว่ามาอยู่ฝ่ายค้านแล้ว
ฉะนั้น ตราบใดที่ยังให้ความเคารพ นอบน้อมกับนัดไปกราบลา ก็ไม่แคล้วถูกมองว่า “บิ๊กป้อม” ยังสามารถคอนโทรลได้
แม้จะอ้างว่าได้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ รัฐมนตรีในปีกพรรคพลังประชารัฐ น้ำหนักก็ไม่เพียงพอ แต่กลับถูกมองว่าเป็นความแค้นส่วนตัว หลังจากถูกปลดจากรัฐมนตรี และถูกรัฐมนตรีสายตึกไทยคู่ฟ้าขจัดออกจากพรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกันหาก “ผู้กองเมืองพะเยา” กล้าตัดขาดกับ พล.อ.ประวิตรแบบชัดเจน พร้อมอ้างเสียงของชาวบ้านเพื่อกลับไปซบบ้านเก่าพรรคเพื่อไทย โอกาสจะได้เป็น ส.ส.ก็ยังพอมี
แต่บทบาทการเมืองอาจลดระดับไปเป็น "คนไร้ตัวตนในระบอบทักษิณ" เพราะต้องไม่ลืมว่าพรรคแห่งนี้มีเจ้าของพรรค มีเจ้าที่ ไม่ว่าจะเป็นคนในตระกูล และพี่น้องชินวัตร นักรบห้องแอร์ คนเด่นคนดัง และแกนนำเสื้อแดง คนเหล่านี้คงไม่เปิดทางให้ผู้กองมีอำนาจได้ง่ายๆ อีกทั้งในพื้นที่ภาคเหนือก็มีกระแส ไม่จำเป็นต้องใช้บริการ ร.อ.ธรรมนัส
อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงหากโชคร้ายถูกคลื่นใต้น้ำต่อต้านอย่างหนัก เช่นกรณี “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” อดีต รมช.มหาดไทย ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องกระเด็นออกจากพรรคไปในที่สุด และไร้ที่ยืนทางการเมือง
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญ “ร.อ.ธรรมนัส” จะไปยืนอยู่ตรงข้าม และเป็นศัตรูกับ “บิ๊กป้อม” ได้จริงหรือไม่ เพราะบัดนี้ยุทธศาสตร์ต่างๆ ชัดเจนว่า สนับสนุนให้พี่น้อง 3 ป. ครองอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง โดยยังมี ส.ว.จำนวน 250 คน และองคาพยพแห่งอำนาจทั้งปวงสนับสนุน
ฉะนั้น เส้นทางการเมืองของ “ร.อ.ธรรมนัส” จึงแคบลงทุกที อยู่ขั้วรัฐบาลก็กลืนน้ำลายตัวเอง หันไปซบนายใหญ่ก็อาจใช้ชีวิตลำบาก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1