ตัดขาด "บิ๊กตู่" ขยิบตา "บิ๊กป้อม

เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองพรรคเศรษฐกิจไทยประกาศถอนตัวจากรัฐบาลภายใต้การนำของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อร่วมทำงานกับฝ่ายค้าน 

 ภายหลังพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 จ.ลำปาง หวังทำให้ภาพการเมืองชัดเจน เพื่อมีที่ยืนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

โดยอ้างกระแสประชาชนไม่เอารัฐบาล โดยเฉพาะชาวบ้านในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน  ลำปาง 

แต่ยุทธศาสตร์นี้ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย จะได้ผลหรือไม่ แม้จะพยายามลงทุนให้ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรค และนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคลาออกจากวิปรัฐบาล 

ก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าทั้งหมดจะตัดขาดได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นตำแหน่งที่เล็กเกินไปหากเทียบกับ กมธ.วิสามัญงบประมาณในปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านบาท ที่ได้โควตาในสัดส่วน ครม. รวมทั้งการจัดสรรตำแหน่งให้พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ยังทำหน้าที่การประชุมกันอยู่เวลานี้

 ท่าทีเช่นนี้จึงทำให้ถูกดูแคลนว่าเป็นการเล่นละครเพื่อหาที่ยืนทางการเมืองเท่านั้น เพราะเลือกจะสร้างกระแสความชัดเจนเพียงไม่เอา “บิ๊กตู่”-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีที่เป็นคู่ขัดแย้งเพราะเหตุผลทางการเมือง หลังต่างฝ่ายต่างต้องการโค่นล้มซึ่งกันและกัน

คำถามตามมาหาก “ผู้กอง” ต้องการตัดขาดกับรัฐบาลจริงๆ เหตุไฉนต้องไปกราบลา “บิ๊กป้อม”-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ถ้าพรรคเศรษฐกิจไทยต้องการทำให้ตัวเองชัดเจน ไร้เยื่อใยกับรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องไปร่ำลา พล.อ.ประวิตร เพราะนั่นทำให้การแยกทางกันครั้งนี้เป็นเพียงปาหี่

และตราบใดที่ ร.อ.ธรรมนัสยังมองว่า พล.อ.ประวิตรเป็นเจ้านาย ย่อมหมายความว่ายังอยู่ภายใต้คอนโทรลที่ยังสามารถขอกันได้อยู่เสมอ

 มันไม่ได้ช่วยทำให้พรรคเศรษฐกิจไทยได้คะแนนตรงนี้ และอาจเป็นแผลที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปขยี้และโจมตีได้ 

ขณะเดียวกัน ผลพวงของการประกาศแยกตัวของ “ร.อ.ธรรมนัส” อาจถูกโยงว่าจะกระทบต่อการไม่โหวตให้รัฐบาล ที่ประกอบไปด้วย นายกฯ และ 10 รัฐมนตรี ในการอภิปรายไว้วางใจสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 19-23  กรกฎาคม 

มีคำถามว่า แล้ว ร.อ.ธรรมนัสกับ ส.ส.ทั้งหมด กล้ายกมือไม่ไว้วางใจ  “พล.อ.ประวิตร” หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “ผู้กอง” ระบุผ่านทุกเวทีว่า “บิ๊กป้อม” ไม่มีความผิด เพราะไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย

อีกทั้งต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงสำคัญคือ “ผู้กอง” ขึ้นลิฟต์ทางการเมืองขึ้นชั้นมาเป็นรัฐมนตรีมีเครดิตทางการเมืองทุกวันนี้ รวมทั้งบรรดา ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ย้ายมาเป็นพรรคสาขา 2 ได้อย่างสะดวกไร้ปัญหาข้อกฎหมาย หรือก่อนหน้าเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐมาได้  ก็เพราะบารมี “พล.อ.ประวิตร” ทั้งสิ้น  และเอาเข้าจริง วันลงมติซักฟอกจะมีใครหน้าไหนกล้าทรยศ “นายป้อม” หรือไม่

แต่หากจะอ้างแค่การไม่โหวตให้  “พล.อ.ประยุทธ์” หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ไม่ช่วยให้พรรคเศรษฐกิจไทยยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยได้ หรือจะทำให้คนฝั่งสีแดง สีส้มยอมรับได้ แต่จะมองว่าเป็นเพียงเรื่องความเคียดแค้นกับนายกฯ และรัฐมนตรีบางคนเสียมากกว่า 

นอกจากนี้ การที่พรรคเศรษฐกิจไทยประกาศว่าจะไม่โหวตให้รัฐบาล มั่นใจได้อย่างไรว่า 16 เสียงของพรรคจะโหวตเป็นเอกภาพกันหมด เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ในจำนวน 16 คนนี้อยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส แบบไปไหนไปกันเพียงไม่กี่คน

และมีราว 3-4 คน มีกระแสข่าวไปปรากฏตัวอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้ว   ไม่เพียงเท่านั้นบางคนตามมาพรรคเศรษฐกิจไทยเพราะ “บิ๊กน้อย”-พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรค 

แต่วันนี้ พล.อ.วิชญ์แตกหักกับ ร.อ.ธรรมนัสไปแล้ว ส.ส.บางคนย่อมไม่ทำตามสัญญาณของ ร.อ.ธรรมนัสอย่างแน่แท้ คิดคำนวณแล้ว พรรคเศรษฐกิจไทยที่พร้อมจะโหวตตาม ร.อ.ธรรมนัส อาจเหลือไม่มากด้วยซ้ำ 

หรือต่อให้พรรคเศรษฐกิจเป็นเอกภาพโหวตคว่ำรัฐบาลหมด แต่รัฐบาลก็ยังอยู่รอดปลอดภัยอยู่ดี เพราะวันนี้เสียงของรัฐบาลก็เกินกว่าฝ่ายค้านค่อนข้างมากถึง 84 เสียง ประเมินได้จากคะแนนในการลงมติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  

ไม่นับศึกซักฟอกครั้งที่ 4 นี้ ยังมีแนวโน้ม งูเห่า ขอหอบผ้าหอบผ่อนหนีร้อนมาพึ่งเย็นในฝ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพื่อโอกาสทางการเมือง ได้เป็น ส.ส.ในวันข้างหน้าทำงานให้แก่ชาวบ้าน

ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลแทบไม่ได้ยี่หระกับท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทยเลย เพราะที่ผ่านมาแกนนำรัฐบาลแทบไม่ได้นับพรรคหอกข้างแคร่อยู่ในฝ่ายเดียวกับตัวเองอยู่แล้ว 

 หรือกรณีกลุ่มพรรคเล็ก 16 เสียง ที่รีบชิงออกมาโหนกระแสพรรคเศรษฐกิจไทย เอาเข้าจริงก็ได้แค่ส่งเสียงร้องหิว “กล้วย” เพราะจมูกไวรู้ว่า รัฐมนตรีไม่มีใครอยากได้คะแนนรั้งท้ายให้เสื่อมเสียเครดิตทางการเมืองก็เท่านั้น 

 และคงไม่กล้าแผลงฤทธิ์ออกเดชอะไรมาก เพราะกฎหมายลูกเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 ยังไม่มีผลบังคับใช้  ซึ่งอภินิหารทางกฎหมายเกิดขึ้นได้เสมอ 

แตกต่างจากบทบาทของพรรคร่วมรัฐบาล ที่บัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถฝากผีฝากไข้ได้ 100% จากการทำงานร่วมมือกันมาตลอด 3 ปีเศษ ท่ามกลางสัญญาใจจะจับมือกันหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่ผ่านมาก็ดึง ส.ส.ลดทอนอำนาจจากฝ่ายค้าน จนอยู่ในสภาพไร้น้ำยา  

รวมทั้งก่อนหน้านั้นยังปาดหน้า 3 ส.ส.พปชร. ได้แก่ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา นายวัฒนา  ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น และ นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกจากอ้อมอกพรรคเศรษฐกิจไทยมาก่อนแล้วด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะทำให้ “นายกฯ” ต้องทุกข์ใจในเรื่องจำนวนเสียงของฝ่ายรัฐบาลในสภาฯ

แตกต่างจากโอกาสของพรรคเศรษฐกิจไทยบนกระดานทางการเมืองอาจแคบลงทุกที แม้ปากจะอ้างว่าตัดขาดกับรัฐบาล แต่เบื้องหลังยังขยิบตาให้ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1