เลือกตั้ง ปชป.เจองานหิน หวังหาร 500 ช่วยเพิ่ม ส.ส.

กติกาการเลือกตั้งชัวร์ว่ามีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.ที่ชอบ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 400 คน ส่วนอีกใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือที่เข้าใจอีกอย่างว่าคือการเลือกพรรคที่ใช่นั่นเอง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 100 คน

ขณะนี้เรื่องที่ยังไม่จบคือ “วิธีการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” แม้รัฐสภาจะลงมติโหวตเลือกหาร 500 แต่ก็ต้องลุ้น ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องจะเห็นอย่างไร จะใช้เลขใด “หาร” กับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดของประเทศ

ทางคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้ยืนยันว่า ต้อง 100 เท่านั้น แต่ท้ายที่สุด เมื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา กรรมาธิการบางคนที่เห็นด้วยกับ 100 หาร พร้อมกับสมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนใจ ยกมือโหวตสนับสนุน สูตรหาร 500

ฉะนั้นจึงจบที่ว่า การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ นำคะแนนบัญชีรายชื่อของทุกพรรคมารวม แล้วหารด้วย 500   

ความจริงที่ว่าการเอา 500 มาหาร จะทำให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ใช้คะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าใช้ 100 หารนั้น ถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่า สูตรดังกล่าวจะทำให้พรรคขนาดเล็กหรือพรรคเกิดใหม่มีที่ยืนในสภามากกว่า อย่าลืมว่า “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีแค่ 100 คนเท่านั้น”  

พรรคการเมืองขนาดใหญ่และพรรคการเมืองขนาดกลางที่ประชาชนคุ้นเคยต่างหากที่จะได้เปรียบ ยกเว้นแต่ว่าพรรคเล็กจะกลายเป็นกระแส หรือเข้าตาประชาชน เขาจึงจะหันมาเหลียวมอง

สังคมไทยส่วนใหญ่ชอบเดินสายกลาง รักความสงบของประเทศ ชอบความประนีประนอม ก็มักจะแบ่งว่าใบหนึ่งกาให้ฝ่ายซ้าย อีกใบกาให้ฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งยังมองว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย

นอกเสียจากประชาชนจะอดทนกับการกระทำของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ ทั้งพฤติกรรมเอาแต่เล่นการเมือง ความปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง การบริหารประเทศล้มเหลว ถ้าเป็นเช่นนั้นชาวบ้านก็อาจจะเทคะแนน ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งทั้งหมด

ภายใต้กติกานี้ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งหน้าการใช้สูตรหาร 500 ได้มากกว่าเสีย จะเห็นว่าฐานเสียงหลักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ทั้งหมด แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทำให้พรรคประเมินออกว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นหัวใจของพรรคเปลี่ยนไปเพียงใด

ส่วนภาคใต้เป็นอีกพื้นที่หลักของ “ประชาธิปัตย์” รอบหน้าเจองานหิน เพราะต้องยอมรับว่าพรรค “ภูมิใจไทย” บุกหนักที่สุด โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุง นาทีนี้ตระกูลของ “รัชกิจประการ” พร้อมรบ เสียงระฆังเลือกตั้งดังขึ้นเมื่อไหร่เตรียมถล่ม

ขณะที่ฟากฝั่งประชาธิปัตย์ ฝากความหวังไว้กับตระกูล “ธรรมเพชร” แต่ที่ผ่านมาก็เกิดเรื่องวุ่นๆ เพราะขาหนึ่งของเขาอยู่ประชาธิปัตย์ อีกขาอยู่พลังประชารัฐ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเคลียร์ถึงไหน รวมถึง “นริศ ขำนุรักษ์” ในการเลือกตั้งปี 62 เป็นเพียงผู้เดียวที่ผ่านมาเข้าสภา เป็น ส.ส.พัทลุง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ คราวที่แล้วเห็นว่าแทบกระอัก

นอกจากนี้ “ภูมิใจไทย” ยังวางเป้าหมายที่จังหวัดระนอง สตูล ซึ่งคราวที่แล้วภูมิใจไทยยกจังหวัด และครั้งนี้ขยายฐานไปจังหวัดกระบี่ โดยเมื่อครั้งที่แล้ว ตระกูล “เกี่ยวข้อง” คนหนึ่งเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีกคนเป็น ส.ส.ภูมิใจไทย

ส่วนที่จังหวัดพังงา บ้านเกิดหัวหน้า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ตอนนี้ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย เมื่อ “ราเมศ รัตนะเชวง” เสนอตัวเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค แต่พรรคเตรียมคนไว้หมดแล้ว    

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส น่าเป็นห่วงมากที่สุด เมื่อการเลือกตั้งปี 62 พรรคประชาชาติได้ที่นั่ง 3 จังหวัด ไปครองจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นพรรคพลังประชารัฐ และเหลือไว้ให้พรรคประชาธิปัตย์เพียง 1 ที่นั่ง จาก “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี

มาครั้งนี้ “นิพนธ์ บุญญามณี” ขุนพลประชาธิปัตย์ที่ดูแลกลุ่มจังหวัดดังกล่าว ไม่รู้จะโดนสอยหรือไม่ จากคดีรถซ่อมบำรุงทาง สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา ต้องคอยดูว่าภายหลังจากที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแล้ว ศาลจะมีคำสั่งใดออกมาอย่างไรบ้าง ทว่า จังหวัดที่น่าจะเป็นกังวลน้อยที่สุด เห็นจะเป็น “นครศรีธรรมราช” ว่ากันว่าคนคุมจังหวัดนี้แข็งแกร่งและเก๋าพอตัว ส่วนความเคลื่อนไหวที่จังหวัดชุมพรต้องยกให้กลุ่ม “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส ทราบว่าไม่ไปพลังประชารัฐแน่นอน แต่จะอยู่กับประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่น ยังไม่ทราบ

นี่ก็คือภาพรวมคร่าวๆ ของ “ประชาธิปัตย์” ที่เคยครองใจชาว กทม.และคนใต้มานานนับสิบๆ ปี แต่มาวันนี้ตำนานมนต์รักอาจเริ่มจืดจาง เพราะเริ่มมีการปันใจให้กับพรรคอื่น เช่น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ก้าวไกล เป็นต้น ฉะนั้นการแข่งขันเที่ยวหน้าคนปักษ์ใต้ก็อาจจะเลือก ส.ส.เขตเป็นพรรคอื่น แต่เลือกบัญชีรายชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์”

ฉะนั้น เวลาปัจจุบันที่ยังได้เป็นรัฐมนตรีก็เร่งสร้างผลงาน ขจัดทุกข์ บำรุงสุขให้ราษฎร ดูแลของแพง ช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และปัญหาในมิติสังคมให้ถูกจุดด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย