ผลหลังเลื่อนใช้ กม.ตำรวจฯ ศึกชิงเก้าอี้ ‘บิ๊กสีกากี’ เดือด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไปเมื่อ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมนำร่างดังกล่าวทูลเกล้าฯ ต่อไป หลังรัฐสภาใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนานหลายสัปดาห์ ตั้งแต่ 9 มิถุนายน กับร่าง พ.ร.บ.ที่มีความยาวร่วม 172 มาตรา ทำให้ใช้เวลาการพิจารณายาวนานเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม พบว่าจุดพีกสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาปรากฏในวันสุดท้าย เมื่อ 5 กรกฎาคม ที่เป็นการพิจารณามาตรา 169/1 ที่เป็นเรื่อง

หลักเกณฑ์การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงระดับสารวัตร"

ที่ในตัวร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติของรัฐสภา กำหนดเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งไว้ชัดเจนว่า ตำรวจที่จะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในตำแหน่ง จะต้องอยู่ในตำแหน่งก่อนหน้านั้นเป็นเวลาเท่าใด แต่จุดสำคัญคือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนขั้น มีการเขียนล็อกโยงไว้ในมาตรา 74 ว่า

การแต่งตั้งตำแหน่งรอง ผบ.ตร. จนถึงระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้พิจารณาจากผู้มีความรู้ ความสามารถในบัญชีรายชื่อและให้จัดเรียงตามลำดับอาวุโส

ทว่าในตอนพิจารณากลางที่ประชุมที่เป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรา วาระ 2  ปรากฏว่า กรรมาธิการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร.ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ ได้เสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยขอให้เขียนเพิ่มเติมข้อความว่า หลังจากประกาศใช้กฎหมายแล้วเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจทั้งหมดในร่างกฎหมาย ให้ไปบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 6 เดือน หรือ 180 วัน

ที่แม้ที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบด้วย แต่ก็ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่พากันลุกขึ้นอภิปรายไปในทางว่า การแก้ไขดังกล่าวเพื่อเปิดช่องให้บิ๊กตำรวจอย่างน้อย 2 คนได้ตำแหน่งสูงขึ้นในการแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กตำรวจปีนี้ เพราะทั้ง 2 คนมีอันดับอาวุโสท้ายสุดในกลุ่มบิ๊กตำรวจระนาบเดียวกัน

ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่า หลังจากมีการนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว เมื่อดูจากช่วงเวลาที่อาจจะมีการโปรดเกล้าฯ กฎหมายลงมา ช้าสุดอาจจะเกิดขึ้นภายในไม่เกินช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ที่ทำให้การพิจารณาแต่งตั้งบิ๊กตำรวจปีนี้ต้องใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตามกฎหมายใหม่ แต่เมื่อเลื่อนออกไป 180 วัน ก็ทำให้ใช้แค่กฎของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ที่จะยังคงยึดอาวุโส 33% นอกนั้นพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ ที่เปิดช่องให้เหาะเหินเดินอากาศได้

ซึ่ง 2 บิ๊กตำรวจที่ฝ่ายค้านระบุตำแหน่งชัดเจนว่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ คนแรกคือ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่แม้ไม่ระบุชื่อ แต่ก็รู้กันว่าฝ่ายค้านหมายถึงผู้ช่วย ผบ.ตร.คนหนึ่งที่มีอาวุโสอันดับท้ายๆ แต่ข่าวว่ามาแรง จะได้ลุ้นขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร.ปีนี้ 

และอีกหนึ่งคนที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านระบุตำแหน่งชัดกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็คือ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ก็คือ บิ๊กก้อง-พล...จิรภพ ภูริเดช ซึ่งเหลืออายุราชการอีกถึง 14 ปี เพราะเกษียณปี 2579 ที่ข่าวว่ารอบนี้อาจะได้พาสชั้นขึ้นเป็น ผช.ผบ.ตร. แม้จะถูกท้วงติงว่าเป็นบิ๊กตำรวจระดับผู้บัญชาการ หรือ พล.ต.ท.ที่อาวุโสน้อยที่สุด คืออันดับที่ 31 ในกลุ่ม ผู้บัญชาการ หรือ พล.ต.ท.ที่มี 31 คน 

ทำให้ฝ่ายค้านและวงการสีกากีตั้งข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า หากกฎหมายประกาศก่อนเดือนกันยายน ผช.ผบ.ตร.คนหนึ่ง กับบิ๊กก้อง จะหมดสิทธิ์ลุ้นเลื่อนขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร.และ ผช.ผบ.ตร.ในปีนี้ เพราะติดเรื่องลำดับอาวุโส

แต่เมื่อเลื่อนออกไป 180 วัน ทำให้ทั้ง 2 คนมีสิทธิ์ลุ้น เพราะเกณฑ์แต่งตั้งปัจจุบันใช้ระบบกฎ ก.ตร.ที่มีความยืดหยุ่นและยังพอเปิดช่องให้ข้ามอาวุโสได้ หากเสียงส่วนใหญ่ใน ก.ตร.อ้างเหตุผลว่ามีความเหมาะสม

สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กตำรวจระดับนายพลของรั้วปทุมวันปีนี้ เป็นอีก 1 ปีที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะจะมีการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่แทน ผบ.ปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่จะเกษียณอายุราชการปีนี้

ที่แม้จะเหลือเวลาพิจารณาอีกพอสมควร แต่ข่าวว่าตอนนี้พลิกไปพลิกมาหลายตลบ หลังเดิมที บิ๊กเด่น-พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ที่เกษียณปี 2566 เต็งหนึ่ง ไร้คู่แข่ง แต่ระยะหลังข่าวว่าคู่ชิงเริ่มกลับมามีลุ้น คือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เกษียณปี 2567 และ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ  เกษียณปี 2566

ขณะที่เก้าอี้รอง ผบ.ตร.รอบนี้จะว่าง 4 ตำแหน่ง ทำให้ต้องตั้ง พล.ต.อ.ใหม่ 4 คน โดยคนที่จะได้ขึ้นแน่นอน ไม่มีพลิก ก็คือ พล.ต.ท.ชินภัทร สารสิน ผู้ช่วย ผบ.ตร.อาวุโสลำดับที่ 1 เกษียณปี 2566 โดยเป็นบุตรชายของ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ

ส่วนอีก 3 เก้าอี้ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ทุกคนลุ้นได้หมด แต่ตัวเต็งที่ถูกจับตามองก็มี เช่น บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 4 เกษียณปี 2574 ทว่าคนที่ถูกสปอตไลต์จับตามองมากสุดก็คือ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ที่เป็น ผช.ผบ.ตร.ที่อาวุโสน้อยสุด อยู่อันดับสุดท้าย จากจำนวน 10 คน

ขณะที่ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่รอบนี้จะว่าง 7 ตำแหน่ง เพราะต้องตั้งแทนคนที่ขึ้นไปติดยศ พล.ต.อ. รอง ผบ.ตร. รวมถึงตั้งแทน ผช.ผบ.ตร.ที่เกษียณ ซึ่งปีนี้พบว่าระดับผู้บัญชาการหรือ พล.ต.ท.ที่ยังไม่เกษียณ มีลุ้นเลื่อนตำแหน่ง มีทั้งสิ้น 31 คน โดยอาวุโสอันดับ 1 คือ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา

ส่วนอาวุโสอันดับสุดท้าย อันดับที่ 31 ก็คือ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ที่ลุ้นพาสชั้นเป็น ผช.ผบ.ตร.

การจัดทัพ แต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กสีกากีปีนี้ ที่เดิมก็เข้มข้นอยู่แล้ว เพราะเป็นการแต่งตั้งของฝ่ายการเมือง รัฐบาลพลเอกประยุทธ์รอบสุดท้าย ที่ก็ต้องมองไปที่การจัดทัพในรั้วปทุมวัน-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ รวมถึงเพื่อจัดแถวขั้วอำนาจใหม่ หลัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร.เกษียณในปีนี้

 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเลื่อนการใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจ ที่ให้ยึดหลักอาวุโสเป็นสำคัญในการตั้งตำแหน่งใหญ่ๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติออกไปอีก 180 วัน เลยยิ่งทำให้การจัดทัพบิ๊กสีกากีปีนี้แนวโน้มยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก.

 

 

 

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรับ“ฉก.ทม.รอ.904” “ลดอาร์ม-ถอดคอแดง”จบหรือไม่?

นับแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นในหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) หรือ ฉก.คอแดง อย่างเป็นรูปธรรม หลัง “โผทหาร” ระดับชั้นนายพลเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาจบลงไปแบบตึงๆ

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย