สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ยังไม่จบ ม.132 ให้ส่งศาล-องค์กรอิสระถกต่อ

จริงอย่างที่ “หมอระวี มาศฉมาดล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ว่าไว้ว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” เพราะในศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก เลือกสูตร 500 หารของ “หมอระวี” ยังคงอยู่ในวาระ 2 เท่านั้น

เส้นทางยังต้องผ่านอีกหลายด่าน ในร่างกฎหมายลูกดังกล่าว มีทั้งสิ้น 32 มาตรา เมื่อวันที่ 6 ก.ค.เพิ่งพิจารณาเรียงตามรายมาตราไปเพียง 24 มาตรา จากนี้ต้องพิจารณาให้ครบทุกมาตราเสียก่อน และต้องลงคะแนนเสียงในวาระ 3 ว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งฉบับอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอีกด้วย  

อย่างไรก็ตาม เดิมกำหนดไว้ว่าต้องพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่เสร็จ จึงนัดประชุมรัฐสภาต่อ ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค.นี้

วกกลับมาที่ความร้อนแรงในการพิจารณา มาตรา 23 ว่าด้วยการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนหน้าวันโหวต ลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยเสนาบดีใน ครม.ทุบโต๊ะเอาสูตร 500 หาร

และเมื่อถึงเวลาจริงก็เป็นไปตามนั้น สมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่โหวตหักกรรมาธิการเสียงข้างมากที่เสนอให้ใช้สูตร 100 หาร

หลายคนในเสียงโหวต 354 คน ที่ไฟเขียวให้กับสูตร 500 หารของ “หมอระวี” นั้น ก่อนหน้านั้นเคยยกมือให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จนต้องแก้ไขการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นแบบ 100 หาร จึงถือเป็นความอัปลักษณ์อย่างมาก เพราะเป็นการหักล้างสิ่งที่ตัวเองเสนอมากับมือ

โดยให้เหตุผลหลักๆ ว่า เนื่องจากในรัฐธรรมนูญยังคงมี ส.ส.พึงมี ในมาตรา 93 และมาตรา 94 หากคำนวณโดยใช้สูตร 100 หาร ส.ส.พึงมีจะหายไป เท่ากับเป็นการขัดมาตรา 93, 94

ฟากฝั่งสนับสนุน 100 หาร มองว่าจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยบัญญัติว่า “การคำนวณสัดส่วนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยระบุให้ใช้คะแนนที่พรรคได้รับเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศมาคำนวณเพื่อแบ่งจำนวน ผู้ได้รับเลือกตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมของพรรค และให้ผู้ที่อยู่ในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงลำดับหมายเลข”

ดังนั้น ถ้าเลือก 500 หาร จะขัดกับมาตรานี้อย่างชัดเจน เท่ากับว่าความขัดแย้งเรื่องนี้เกิดขึ้นในวงสมาชิกรัฐสภาแล้ว

และเป็นไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ “เรื่องนี้ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ” แต่จบแบบรัฐธรรมนูญ มาตรา 132

โดยกำหนดไว้ว่า เมื่อผ่านวาระที่ 3 แล้ว ภายใน 15 วันรัฐสภาต้องส่งให้ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ถ้าเห็นว่าขัดหรือแย้งก็ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็น ซึ่งรัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอตามที่เห็นสมควรได้

หรือหมายความแบบขีดเส้นใต้ว่า “ไม่ใช่ใครก็ได้” จะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความเรื่องสูตรคำนวณ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องทางนี้ไว้ เหมือนที่ “สุขุมพงศ์ โง่นคำ” กมธ.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “ตอนนี้คนไทยทั้งหมด ทั้งคนใน ครม. คนนอก ครม.บอกว่า ผมจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ท่านยื่นไปเถอะ เขารับไม่ได้”

เอาเป็นว่ารอฟัง 2 ศาล และองค์กรอิสระก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเป็นผู้ยกร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ให้ ครม.นำมาเสนอต่อรัฐสภา ให้ใช้สูตร 100 หารด้วย นาทีนี้คงมึนน่าดู!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนรอยสปิริต‘เพื่อไทย’ สู่กรณี‘ชาญ พวงเพ็ชร์’

กรณี “ชาญ พวงเพ็ชร์” จากพรรคเพื่อไทย หลังชนะเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เหมือน “มีบุญ แต่กรรมบัง” เพราะใช้พลังและทรัพยากรณ์สุดความสามารถ