ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กลางเสียงค้าน "เอื้อบิ๊กสีกากี"

หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เวลาในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นร่างกฎหมายที่ต้องออกมาตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ โดยใช้เวลาการประชุมถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่ 9 มิถุนายน ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติก็ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณาวาระ 2 เรียงรายมาตราและวาระ 3 ขั้นเห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา และขั้นตอนหลังจากนี้ก็อยู่ในขั้นการเตรียมนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดยตลอดการประชุมร่วมรัฐสภา ก็ได้มีทั้งการอภิปรายแสดงเหตุผลกันของกรรมาธิการเสียงข้างมาก-กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นขอสงวนคำแปรญัตติ ได้อภิปรายแสดงเหตุผลต่างๆ ถึงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีร่วม 172 มาตรา

ซึ่งเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย ก็มีทั้งเสียงสะท้อนว่าไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจได้จริง บ้างก็ว่าเป็นการ ปฏิลวง ขณะที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก็นิยามว่า เป็นการปฏิลูบแบบเบาๆ เหตุเพราะไม่ได้มีการปฏิรูปงานสอบสวนที่เป็นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม

ก่อนหน้านี้ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา และในฐานะหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เคยสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไว้ในประเด็นสำคัญๆ เช่น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงกับประชาชนทั่วไปก็เช่น เพิ่มความเป็นธรรมให้ประชาชน เพราะในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ มีการยกระดับความเป็นธรรมให้ประชาชน จากกรณีการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องหรือผิดพลาดของตำรวจ โดยการสร้างคณะกรรมการชุดใหม่ที่เรียกว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาตัดสินด้านนี้ แทนที่สำนักงานจเรตำรวจที่จะเป็นเพียงหน่วยงานภายใน ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมจับตาการทำงานของตำรวจให้อยู่ในกรอบกฎหมายและความเหมาะสม เสมือนเป็นตาวิเศษ พบเห็นความผิดปกติใดก็ให้แจ้งไปที่ ก.ร.ตร.ได้ ซึ่งปกติงานด้านนี้จะเป็นงานของสำนักงานจเรตำรวจ โดยทางคณะผู้ยกร่างกฎหมายมองว่า หากประชาชนไปร้องเรียนการทำงานของตำรวจที่ผิดพลาด แล้วให้ตำรวจตัดสิน ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความยุติธรรมอย่างไรก็ตามแต่ ทว่ามันก็อาจจะมีปัญหาได้ จึงมีการสร้าง ก.ร.ตร.ที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ก็ทำให้ประชาชนที่หากพบเห็นการทำงานที่ไม่ถูกต้องหรือบกพร่อง หรือแม้กระทั่งการกระทำที่ขาดวินัย ขาดศักดิ์ศรีของความเป็นตำรวจ ก็สามารถร้องไปยังคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจได้ ส่วนสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติก็มีหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เป็นต้น

ก็ถือเป็นโมเดลใหม่ในวงการงานของแวดวงสีกากี ที่น่าสนใจว่าสุดท้ายแล้วในทางปฏิบัติเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ โมเดลอย่าง คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ จะเป็นระบบที่ใช้ได้ผลกว่าระบบปัจจุบันที่มีอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐสภาจะโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าบรรยากาศการประชุมก็ร้อนระอุพอสมควร เหตุเพราะก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการไปขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในประเด็นสำคัญคือเรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงมาถึงระดับสารวัตร ที่ในตัวร่างกำหนดเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งไว้ชัดเจนว่า ตำรวจที่จะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จะต้องอยู่ในตำแหน่งก่อนหน้านั้นเป็นเวลาเท่าใด 

อาทิ (1) ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือรองจเรตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

 (2) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองจเรตำรวจแห่งชาติ จะต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหรือจเรตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ซึ่งในตัวร่างเขียนไว้ว่า ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ให้พิจารณาจากระยะเวลาการดำรงตำแหน่งข้างต้นที่ยกมาด้วย

แต่ปรากฏว่า พล.ต.อ.ปิยะมาเสนอขอแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมกลางคัน โดยใช้เสียงข้างมากของกรรมาธิการ เพื่อเขียนเพิ่มเติมใหม่ ให้เว้นการบังคับใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป 180 วัน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการพิจารณาทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายในช่วงเดือนตุลาคม

จนทำให้มีเสียงทักท้วงคัดค้านการยืดเวลาออกไป 180 วันดังกล่าว ในทำนองว่า จะทำให้มีบิ๊กตำรวจบางคน ได้ประโยชน์ ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับนายพลในปีนี้ ใช่หรือไม่?

เช่น รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า คนที่นั่งอยู่ในแห่งนี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เรากำลังจะอนุมัติให้เกิดตั๋วช้างอีกรอบ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้ไม่ใช่แค่การวางตัวคนที่จะไปเป็นรอง ผบ.ตร.เท่านั้น แต่ได้ยินมาว่าลำดับท้ายๆ กำลังจะได้รับสิทธิ์ในการข้ามหัวคนอื่น ขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ตร. แล้วปีถัดไปก็จะเป็น ผบ.ตร. และเหตุผลที่ กมธ.ต้องขอ 180 วันในการชะลอกฎหมายที่กำลังจะผ่านสภาฯ ออกไปก็เพื่อที่จะได้วางไข่ ตั้งแต่รอง ผบ.ตร.ไปจนถึงตำรวจระดับชั้นที่น้อยที่สุด ก็แค่ใช้โอกาสนี้ช่วยตำรวจบางคนเท่านั้น

ส่วน พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ขณะนี้ตำรวจทั้งประเทศกำลังจับตามองบุคคลที่ได้ตั๋วช้างมาตลอด ถ้าบังคับใช้กฎหมายใหม่ในรอบนี้ จะไม่ได้เลื่อนขึ้นแน่นอน แต่ถ้าเลื่อนออกไปอีก 180 วัน นายตำรวจระดับสูง 2 คน จะสามารถเลื่อนขึ้นได้ ดังนั้นถ้าที่ประชุมรัฐสภามีมติผ่านเรื่องนี้ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ตั๋วช้างคนดังกล่าว ปีนี้จะได้เป็นรอง ผบ.ตร. และในปีหน้าก็จะสามารถขึ้นเป็น ผบ.ตร.ได้ 

อย่างไรก็ตาม สมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะรองประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า รัฐสภาต้องออกกฎหมายแล้วต้องใช้ได้ อย่างไรก็ตาม มีตำรวจมาร้องว่าเกิดปัญหาตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจจะย้ายกลับลำบาก ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทันที ดังนั้นสภาฯ จะใจจืดใจดำไม่ให้หรือ เพียงแค่ 180 วัน

ซึ่งหลังที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงมาตราดังกล่าวนานเกือบ 3 ชั่วโมง สุดท้ายก็ลงมติโดยเสียงข้างมาก 344 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. ขณะที่ 181 เสียงไม่เห็นด้วย, งดออกเสียง 50 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 คน

และพอผ่านมาตราเรื่องให้เว้นวรรคใช้เกณฑ์แต่งตั้งโยกย้าย ตำรวจ 180 วันดังกล่าวที่เป็นประเด็นร้อนแรงในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติแล้วทุกอย่างก็ฉลุย จากนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพื่อรอการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567