แม้จะเริ่มซาลงบ้างแล้ว กับเสียงวิจารณ์ทางการเมืองต่อกรณีเครื่องบิน MiG29 ของเมียนมาบินล้ำน่านฟ้า หลังปฏิบัติการตอบโต้ชนกลุ่มน้อยที่โจมตีฐานทหารพม่า ฝั่งตรงข้ามบ้านวาเลย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F16 MLU จากกองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ทำการบินขึ้นรักษาเขตแดนด้านตะวันตก โดยที่ผู้นำฝ่ายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงบิ๊กๆ ในกองทัพอากาศก็พยายามขอให้เรื่องนี้จบลงได้เร็ว ไม่อยากให้บานปลายจนกระทบกับความสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารของ 2 ประเทศ ไทย-เมียนมาที่มีชายแดนติดกัน
โดยประเด็นในเชิงการเมืองที่มีการวิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล-กองทัพ ก็คือ มองว่าปฏิบัติการของทัพฟ้าไทยล่าช้าเกินไปหรือไม่ และอาจไม่เป็นตามที่กองทัพอากาศเคยยืนยันเรื่องประสิทธิภาพของระบบป้องกันภัยทางอากาศ การสั่งการบังคับบัญชา และความพร้อมในการทำการบินรบ
อย่างไรก็ตาม มองได้ว่าเหตุที่เสียงวิจารณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเริ่มซาลง คงเพราะเห็นว่าฝ่ายพม่าเอง ทั้งฝ่ายการทูตและการทหารมีการแสดงออกถึงการขอโทษต่อประเทศไทยอย่างรวดเร็ว บนการสื่อสารว่าไม่ได้ตั้งใจ และเป็นเรื่องข้อผิดพลาดในการบินที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่รู้กันดีว่า การเมืองไทยภายในประเทศ หากเสียงวิจารณ์ทางการเมืองเป็นประเด็นเกี่ยวกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกัน ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองและการทูต หากลางโยงกันไปไม่จบสิ้น เพราะหากเมียนมาไม่ขอโทษและแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แบบนั้นจะมีความชอบธรรมในการกระตุกรัฐบาลและกองทัพ ต้องมีแอกชันออกมา แต่เมื่อฝ่ายเมียนมาแสดงออกข้างต้นแล้ว และท่าทีของคนไทยเองที่ไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยย่อมรู้และส่งข่าวสารความรู้สึกดังกล่าวไปถึงผู้นำทหารของรัฐบาลเมียนมาไปแล้วอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีควันหลงเรื่องนี้อยู่บ้างหลังจากนี้ เพราะท่าทีฝ่ายค้านบอกว่า อาจนำประเด็นดังกล่าวไปอภิปรายพลเอกประยุทธ์ ในฐานะควบ รมว.กลาโหม ในช่วงศึกซักฟอก อภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย
ต้องบอกไว้ว่า หากฝ่ายค้านจะอภิปรายประเด็นนี้ ฝ่ายค้านเองก็ต้องมั่นใจเช่นกันว่า อภิปรายแล้วจะมีประเด็นอะไรที่สามารถอภิปรายได้ที่เป็นข้อมูลใหม่ แตกต่างจากข่าวปกติ อีกทั้งก็ต้องมั่นใจว่าอภิปรายแล้ว จะไม่ทำให้สัมพันธ์ทางการทูตและทหารระหว่างไทยกับเมียนมาคุกรุ่นขึ้นมาอีกรอบ หลังไฟเริ่มมอดลงไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ควันหลงเรื่องนี้ก็ต้องดูด้วยว่าจะเป็นแรงส่ง ให้ความหวังของ กองทัพอากาศ ในยุคที่มี พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่บอกมาตลอดว่า ต้องการเสริมเขี้ยวเล็บให้ทัพฟ้าด้วยการให้เครื่องบินขับไล่ F-35 ที่ถูกยกให้เป็นเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของโลกรุ่นหนึ่งในปัจจุบัน มีประจำการอยู่ในกองทัพอากาศไทย โดยแม้ขณะนี้กระทรวงกลาโหมเบื้องต้นจะไฟเขียวนำร่องการจัดซื้อ F-35 ด้วยการจัดงบผูกพันข้ามปี ในปี 2566 ประมาณเจ็ดร้อยกว่าล้านบาท เพื่อจัดซื้อ F-35 วงเงินกว่าเจ็ดพันกว่าล้านบาทไว้แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้แรงต้าน การจัดซื้ออาวุธของทหาร ที่ปกติก็มีมากอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยิ่งต้านมากกว่าเดิมหลายเท่า จึงทำให้ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าการจัดซื้อ F-35 ของกองทัพอากาศจะผ่านฉลุยหรือไม่ เพราะกรรมาธิการงบจากฝ่ายค้าน ก็จ้องสกัด-ขัดขวาง อยู่ยามเมื่อพิจารณางบของกระทรวงกลาโหมในชั้นกรรมาธิการกลางเดือน ก.ค.นี้
เพราะแม้จะมีการมองกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชายแดน อ.พบพระ จะยิ่งทำให้กองทัพอากาศมีเหตุผลความชอบธรรมมากขึ้นในการอ้างได้ว่า เห็นหรือไม่ว่ากองทัพอากาศจำเป็นต้องมีความพร้อมในการป้องกันประเทศเพื่อรักษาอธิปไตย เพราะปัจจุบันเครื่องบินรบของกองทัพอากาศที่มีอยู่ปฏิบัติภารกิจมาร่วมจะ 30 ปีแล้ว ต้องทยอยปลดประจำการ เนื่องจากไม่สามารถหาชิ้นส่วนอะไหล่เข้ามาทดแทน หรือซ่อมบำรุงไม่คุ้มค่า ทำให้กองทัพอากาศมีเครื่องบินสกัดกั้นโจมตีอยู่ในระดับไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ หากไม่มีการจัดซื้อ อาจจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องการป้องกันประเทศได้
ที่ผ่านมา จะพบว่า "บิ๊กป้อง-พล.อ.อ.นภาเดช" เป็นบิ๊กกองทัพ ที่พูดเรื่องความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธต่อสาธารณชนหลายครั้ง ทั้งที่บิ๊กกองทัพส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าทัพไหน จะไม่ค่อยอยากพูดเรื่องนี้ เพราะจะเข้าตัวเองและทัวร์ลง จึงพยายามเลี่ยง แต่ พล.อ.อ.นภาเดช กลับแสดงออกอย่างชัดเจนในการเชียร์ว่าควรซื้อ f-35 เช่น เคยระบุว่า กองทัพอากาศต้องมียุทโธปกรณ์ที่น่าสะพรึงกลัว ไม่ใช่มีแต่ยุทโธปกรณ์ที่เก่า ล้าสมัย และบอกว่าปัจจุบันราคาของเครื่องบินขับไล่ F-35 เครื่องบินขับไล่สเปกสูง ที่สามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับเรดาห์ได้ ที่เป็นเครื่องบินรบสัญญาติสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตโดย บริษัท Lockheed Martin ราคาก็ลดลงจากเดิมมาก ใกล้เคียงกับเครื่องบินรบ Gripen สัญชาติสวีเดน ที่กองทัพอากาศเคยจัดซื้อ จึงมีโอกาสที่กองทัพอากาศจะจัดหามาประจำการได้
จึงน่าติดตามว่า ข้อพิพาทน่านฟ้า ไทย-เมียนมาที่จบไปแล้ว จะยิ่งทำให้กองทัพอากาศมีเหตุผลในการชี้แจงต่อฝ่ายสภาฯ และต่อสังคมได้มากขึ้นในการจัดซื้อ F-35 โดยอ้างเรื่องการเตรียมพร้อมเพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือจะพลิกไปอีกแบบ กลายเป็นตรงกันข้ามไปเลย คือจะยิ่งทำให้ ฝ่ายที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อของกองทัพอากาศที่นอกจากจะนำเรื่องสภาพเศรษฐกิจ-ไม่มีความจำเป็นในการจัดซื้อ หรือจะซื้อมาทำไม จะเอาไปรบกับใคร นอกจากจะยกเหตุผลเหล่านี้มาสกัดแล้ว ก็อาจยกเหตุอื่นๆ มาประกอบ เช่น ในเมื่อกองทัพอากาศบอกว่า เครื่องบิน F-16 ที่บินไปที่ อ.พบพระ จ.ตาก บินไปปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ก็ให้ใช้เครื่องที่มีอยู่ไปก่อน น่าจะเพียงพอต่อภาคกิจปกป้องความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องจัดซื้อ F-35 ในเวลานี้แต่อย่างใด เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1