2ฉากการเมืองร้อนเดือนก.ค. กม.ลูกสูตรปาร์ตี้ลิสต์ เกมวัดใจ ศึกซักฟอก พายุรอก่อตัว

เข้าสู่ช่วงเดือนกรกฎาคม โหมดการเมืองในสภากับวาระการเมืองร้อนๆ ที่แลเห็นและต้องจับตากันให้ดี เพราะผลพวงของวาระร้อนดังกล่าวมีผลกับการเมืองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไปถึงการเลือกตั้งรอบหน้า ไม่ใช่แค่กับสภาสมัยนี้ ที่นับถอยหลังรอครบวาระเดือนมีนาคม 2566 หากไม่มีการยุบสภาเสียก่อน

โดยวาระร้อนการเมือง 2 ไทมิงที่รออยู่ในเดือนนี้ ก็คือ

1.การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ ที่แก้ไขรองรับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ได้มีการแก้กติกาการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ

นั่นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขดังกล่าวของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขทั้งสองฉบับในวาระสองและสาม โดยเริ่มต้นที่สัปดาห์นี้ช่วง 5-6 ก.ค. 

2.ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 10 รัฐมนตรี รวมเป็น 11 รายชื่อ

โดยสองวาระร้อนการเมืองดังกล่าวในเดือน ก.ค.  เมื่อไปส่องกล้องมองทิศทาง พบว่าเนื้อในของทั้งสองไทมิงมีฉากความเป็นไปน่าสนใจอย่างมาก

เริ่มจากเรื่อง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งในส่วนของร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองไม่ค่อยมีประเด็นอะไรมากนัก แต่ที่เป็นจุดไฮไต์คือร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะเรื่อง สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์

เพราะแม้ตามร่างฯ ของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีสาธิต ปิตุเตชะ เป็นประธาน จะเคาะออกมาให้ใช้สูตร 100 หาร คะแนนในบัตรลงคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศของทุกพรรคการเมืองที่นับรวมกันหมด จากนั้นได้เท่าไหร่ก็นำ 100 ไปหาร เพื่อคิดค่ากลางของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เก้าอี้ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้ อันเป็นสูตรที่เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่เคยทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และส่งให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่แปลกที่ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทยจะมั่นใจว่าสูตรบัตรเลือกตั้งสองใบและคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แบบ 100 หาร จะทำให้ชนะการเลือกตั้ง และฝันไกลไปถึงแลนด์สไลด์เกิน 250 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม สูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ แม้พรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย รวมถึงพรรครัฐบาลอย่าง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ จะเอาด้วย ก่อนที่ต่อมา ก้าวไกลและภูมิใจไทย ที่เดิมทียังไม่ชัดเจน แต่ต่อมาก็แสดงท่าทีเอาด้วย จึงทำให้เสียงโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภาตอนพิจารณาโหวตวาระสอง พิจารณาเรียงรายมาตราที่ใช้เสียงข้างมากในที่ประชุม หาก ส.ส.พรรคการเมืองเหล่านี้ ทั้งเพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ก้าวไกล-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ไม่มีพลิกท่าที ไม่มีแตกแถว "มันก็ยากที่สูตร 100 หารจะถูกตีตก กลายเป็นสูตร 500 ขึ้นมาแทน ในการพิจารณาวาระสอง อย่างที่พรรคขนาดเล็กหลายพรรคในสภายังหวังลุ้น” ให้พลิกกลับมาเป็นสูตร 500 หาร เพราะหากใช้สูตร 100 หารจะทำให้พรรคขนาดเล็ก-พรรคต่ำสิบมีโอกาสสูญพันธุ์สูง

จนพรรคต่ำสิบทั้งหลายพยายามจะต่อรองให้ใช้สูตร 500 หารกับแกนนำพลังประชารัฐ เห็นได้จากการไปล็อบบี้กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ส่งซิก ส.ส.พลังประชารัฐกับสมาชิกวุฒิสภาดันสูตร 500 อย่างไรก็ดี พบว่าพลเอกประวิตรไม่ได้มีท่าทีตอบรับใดๆ กับแกนนำกลุ่มพรรคเล็กที่ไปพบขอเจรจา

จุดสำคัญเพราะพลเอกประวิตรรู้ดีว่าหากจะเอาใจพวกพรรคเล็ก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีกสองสัปดาห์ถัดไป ที่เกิดหลังการพิจารณาร่าง กม.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่หากคิดจะเอาใจพรรคเล็กไว้ก่อน เพื่อจะได้ให้พรรคเล็กมาช่วยโหวตหนุนรัฐบาล แต่แม้อยากจะทำ แต่ในความเป็นจริง บิ๊กป้อมก็ได้ข้อมูลความเห็นจากนักกฎหมายและฝ่ายต่างๆ แล้วว่า สูตร 500 หารปาร์ตี้ลิสต์ แม้อาจทำได้ แต่มันก็เดินไปลำบาก เสี่ยงที่จะถูกบางฝ่าย เช่น เพื่อไทย ไม่ยอมง่ายๆ แน่ ด้วยการไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เสี่ยงสูงที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกสูตร 500 หาร จนต้องกลับไปนับหนึ่ง รีเซตกันใหม่ จะยิ่งทำให้กระบวนการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับการเลือกตั้งยิ่งล่าช้า ไม่เป็นผลดีต่อพลังประชารัฐในภาพรวม

อีกทั้งหากมองเส้นทางการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สมมุติเกิดกรณีว่ารัฐสภามีมติแบบพลิกผันไปเห็นชอบด้วยกับสูตร 500 หารปาร์ตี้ลิสต์ จนคลอดออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. แต่ว่าก่อนที่จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ประธานรัฐสภาต้องส่งร่างไปถามความเห็นคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนในฐานะฝ่ายปฏิบัติเวลามีการเลือกตั้ง ที่เป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ

ต้องไม่ลืมว่าร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กกต.เสนอเข้ามายังรัฐสภาให้ใช้สูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้นหากรัฐสภาไปเห็นชอบสูตร 500 หาร ในหลักปฏิบัติ กกต.ก็ควรต้อง ยืนความเห็นเดิม ตามร่างของ กกต. ที่เป็นร่างหลักในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ และของรัฐสภา คือให้ใช้ 100 หาร เพราะหาก กกต.จะเปลี่ยนท่าทีไปเอาด้วยกับสูตร 500 หาร ทั้งที่กฎหมายของตัวเองบอกให้เอา 100 หาร กกต.จะเสียเครดิต กลายเป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีจุดยืน กลับไปกลับมา เสี่ยงจะถูกมองว่าเปลี่ยนท่าทีเพราะถูกฝ่ายการเมืองล็อบบี้มา

ดังนั้น หาก กกต.มีมติยืนความเห็นกลับไปที่รัฐสภาว่าให้ใช้สูตร 100 หาร ทางรัฐสภาก็ต้องกลับมาประชุมกันใหม่ เพื่อตกลงว่าจะเอาอย่างไร ก็จะกลายเป็นปัญหาระหว่างรัฐสภากับองค์กรอิสระ

หรือหากเกิดกรณีสูตร 500 หารผ่านมาได้ทั้งรัฐสภา-กกต. โดย กกต.ยอมเปลี่ยนท่าทีตัวเอง แต่ยังไงก็ไม่รอด ที่จะต้องไปเจอด่านสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เพื่อไทยคงยื่นเรื่องให้ตีความแน่นอน เพราะขนาดก่อนหน้านี้ พรรคเล็กก็ยอมรับเองว่าสูตร 500 หาร ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ดังนั้นถ้าเดินไปแบบนี้ก็ไม่รอด เสี่ยงสูจะถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก ล้มกระดานการแก้ไขกฎหมายลูก 

ดังนั้น ถึงชั่วโมงนี้ แม้จะมีความพยายามจากพรรคเล็ก-กลุ่ม ส.ว.บางส่วน กำลังเคลื่อนไหวเพื่อ

ล้มสูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์

ในการพิจารณาร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส.วาระสองสัปดาห์หน้า แต่หากพรรคเล็กและกลุ่ม ส.ว.ที่ต้านสูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ ไม่สามารถตอบคำถามข้อใหญ่ได้ว่า หากหันไปใช้สูตร 500 หาร จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่ขัด รธน. ในเมื่อพรรคเล็กบอกเองว่าสูตรนี้ขัดรัฐธรรมนูญ

มองได้วา หากเคลียร์ปมนี้ไม่ได้ การจะหวังพลิกให้กลับมาเป็นสูตร 500 หาร มันก็เดินไปได้ยากลำบาก

ยิ่งหากพลเอกประยุทธ์-พลเอกประวิตรไม่เอาด้วย เพราะเห็นแล้วว่าสูตร 500 หารติดล็อกด้านข้อกฎหมายมากกว่าสูตร 100 หาร จนไม่ส่งสัญญาณให้พลังประชารัฐและ ส.ว.ล้มสูตร 100 หาร

ถ้าสถานการณ์เป็นไปในรูปนี้ ถึงตอนนี้ก็ต้องมองไว้ก่อนว่า โอกาสที่ กม.เลือกตั้ง ส.ส.จะออกมาที่ 100 หาร มีมากกว่า 500 หาร แต่โอกาสจะพลิกมันก็มีอยู่ เพียงแต่หากดูเส้นทางเดินและข้อกฎหมายแล้ว ถ้าจะเกิดเหตุแบบนั้นจริง ในทางการเมืองต้องถือว่าเป็นเรื่อง extraordinary ไม่ใช่น้อย 

โดยสุดท้าย หากผลออกมาคือ ร่าง กม.ลูกทั้งสองฉบับผ่านฉลุยและออกมาในสูตร 100 หาร ฝั่งพรรคเพื่อไทย-ทักษิณคงแฮปปี้ เพราะยิ่งทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะชนะเลือกตั้งโดยได้ ส.ส.มากกว่าพลังประชารัฐพอสมควร จนมีโอกาสจะดิ้นสู้จัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่าฝั่งพลังประชารัฐและ 3 ป.

ขณะที่ฝ่ายพลังประชารัฐ-3 ป. ก็ต้องไปวางยุทธศาสตร์การเมือง การเลือกตั้ง ให้สอดรับกับกติกาเลือกตั้งบัตรสองใบและสูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อสู้กับเพื่อไทยต่อไป

ขณะที่ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องยอมรับว่าหลังเสียงโหวตของสภาที่โหวตรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2566 ที่เสียงเห็นชอบ 278 เสียง ขณะที่เสียงไม่เห็นชอบคือเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านมีแค่ 194 เสียง โดยที่สภาปัจจุบันมีเสียง ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ประมาณ 477 คน

ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะฝ่าด่านศึกซักฟอกไปได้ แม้ในความเป็นจริงเสียง 278 เสียงข้างต้น จะมีเสียงของ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยของธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มี ส.ส.ในพรรค 16 เสียงร่วมโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบฯ รวมอยู่ด้วย

ทว่าในศึกซักฟอก ท่าทีของธรรมนัสชัดเจนว่าอาจจะไม่ลงมติสนับสนุนพลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีบางคนที่ถูกซักฟอก โดยเฉพาะรัฐมนตรีสายพลังประชารัฐที่ไม่ถูกกับธรรมนัส ที่อาจทำให้ คะแนนเสียงที่จะอยู่ฝ่ายรัฐบาลหายไปจำนวนหนึ่ง อย่างน้อยก็ 16 เสียง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย หากทุกคนเอาตามที่ธรรมนัสสั่งหมด

อย่างไรก็ตาม มีการมองกันว่าหากธรรมนัสสามารถจับมือพวก ส.ส.พรรคเล็ก-ปัดเศษได้สักระดับหนึ่ง เช่น ประมาณ 30 เสียง ที่อาจจะสร้างปัญหาในช่วงเตรียมลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ แต่ทว่ามีการกางตัวเลข ส.ส.ในสภา โดยเช็กเสียงกันแบบเรียงชื่อรายบุคคล ฝ่ายแกนนำรัฐบาลก็ยังมั่นใจว่านายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ยังน่าจะได้เสียงไว้วางใจมากกว่าไม่ไว้วางใจอยู่พอสมควร เพราะก็ยังมี ส.ส.งูเห่าในฝ่ายค้านทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลที่จะไปอยู่กับภูมิใจไทย ก็พร้อมจะมาโหวตช่วยฝั่งรัฐบาล ก็ร่วมๆ 13 เสียงเป็นอย่างต่ำ อีกทั้ง ส.ส.พรรคเล็กจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้อยู่ในสังกัดฝ่ายธรรมนัส หลายพรรคพร้อมจะชิ่งมาฝั่งนายกฯ และ 10 รัฐมนตรีได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม เรื่องเสียงโหวตในสภาดังกล่าวต้องรอให้ถึงช่วงใกล้ๆ ศึกซักฟอกจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ดังนั้น การเมืองในเดือน ก.ค.นี้ เรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นสองฉากการเมืองร้อนที่ต้องจับตามองกันให้ดี เพราะส่งผลต่อการเมืองทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเสถียรภาพรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ต่อจากนี้.

  

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ

สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล

ที่บริเวณ​หน้าศาลรัฐธรรมนูญ​ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์

'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ

จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ