ถอดรหัส‘บิ๊กแป๊ะ’ทิ้งสนามผู้ว่าฯกทม. จับตาบทบาทการเมืองระดับชาติ

บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ส่งสัญญาณว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ยังไม่ทันเกษียณอายุราชการด้วยซ้ำ 

ขณะเดียวกัน บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐประกาศชัดเจนว่า ครั้งนี้จะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค แต่ส่งซิกให้ ส.ส.และสมาชิกทุกคนสนับสนุน บิ๊กแป๊ะ เต็มที่ 

บิ๊กแป๊ะ เอง แม้ลงสมัครแบบไม่มีโลโก้พรรคพลังประชารัฐ แต่แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนของใคร โดยเฉพาะการใช้อาคารปานศรี ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ ริมถนนรัชดาภิเษก เป็นที่สำนักงานของตัวเอง  

ขณะที่ขุนพลใหญ่ที่ บิ๊กป้อม ส่งไปช่วย บิ๊กแป๊ะ ทำพื้นที่คือ ผู้กองนัส-ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โดยมี เสธ.หิ-หิมาลัย ผิวพรรณ นายทหารคนดังช่วยอยู่เบื้องหน้า 

ส่วนการทำพื้นที่ กทม.ของ บิ๊กแป๊ะ ในช่วงที่ผ่านมา มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และผู้สมัครสมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คอยห้อมล้อม หรือเคียงข้าง 

แต่ผ่านไปปีกว่า กลับมีกระแสข่าวว่า บิ๊กแป๊ะ ประกาศต่อหน้าผู้สมัคร ส.ก. ซึ่งเป็นทีมของตัวเองว่า ได้ถอนตัวจากการลงแข่งขันชิงเก้าอี้เบอร์ 1 เสาชิงช้าแล้ว 

มีการระบุว่า บิ๊กแป๊ะ ไม่ต้องการปะทะกับรุ่นพี่อย่าง บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ก่อนหน้านี้แสดงความจำนงว่า ต้องการลงแข่งขันครั้งหน้า ต่อให้พรรคพลังประชารัฐไม่สนับสนุนเขา แต่สนับสนุน บิ๊กแป๊ะ ก็ตาม  

บิ๊กวิน เองก็มีทีม ส.ก.ของตัวเองเตรียมไว้เช่นเดียวกันทั้ง 50 เขต หนำซ้ำยังหมั่นทำพื้นที่กันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19 อาละวาดหนักๆ ใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการสถานที่รักษาและวัคซีน 

ถึงขั้นครั้งหนึ่ง บิ๊กวิน เคยออกมาเปิดเผยว่า บิ๊กแป๊ะ ต่อสายโทรศัพท์หาถึงความชัดเจนเรื่องนี้ว่า “ลูกพี่เอาไง ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ต่อหรือเปล่า” 

แต่อย่างไรก็ดี แม้ช่วงนั้นจะชัดเจนว่า บิ๊กวิน ต้องการลงป้องกันเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวง แต่ บิ๊กแป๊ะ ก็ก้มหน้าก้มตาทำพื้นที่ต่อ ในฐานะที่มีพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ ส.ส.กทม.มากที่สุดในการเลือกตั้งมาเป็นซัพพอร์ตเตอร์ 

ฉะนั้นการอ้างว่า บิ๊กแป๊ะ ไม่อยากชนกับรุ่นพี่ จึงน่าเป็นเพียงเสี้ยวเดียว แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด มิเช่นนั้นคงประกาศถอยไปนานแล้ว  

กระทั่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ มีสัญญาณแปลกๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เกิดขึ้น หลัง ผู้กองนัส เรียกประชุม ส.ส.กทม. พร้อมกับพูดในลักษณะว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้สนับสนุน บิ๊กแป๊ะ แล้ว แต่จะหันไปสนับสนุน บิ๊กวิน แทน 

ประเด็นดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับ ส.ส.กทม.อย่างมาก จนมี ส.ส. 2-3 คน ตัดสินใจเข้าไปในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อสอบถามจากปาก บิ๊กป้อม ว่าจริงหรือไม่ 

คำตอบในวันนั้นของ บิ๊กป้อม คือ “ก็แป๊ะไง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”          

นั่นทำให้หลายคนเริ่มเสาะหาว่า เกิดอะไรขึ้นระหว่าง บิ๊กแป๊ะ กับ ผู้กองนัส ที่แต่เดิมวางแพลนเอาไว้ว่าจะเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถึงขนาดให้ มาดามแหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ไปร่างยุทธศาสตร์เอาไว้เลย 

บางสายให้ข้อมูลว่า ผู้กองนัส ร้องขออะไรบางอย่างจาก บิ๊กแป๊ะ แต่เป็นสิ่งที่ฝ่ายหลังไม่สามารถให้ได้ ทำให้ฝ่ายแรกพลิกลำกลับไปสนับสนุน บิ๊กวิน 

สิ่งที่ บิ๊กแป๊ะ ให้ไม่ได้ ถูกเดากันต่างๆ นานา ไม่เว้นแม้แต่ข่าวลือเรื่องปริมาณกระสุนดินดำที่ต้องใช้ในสนาม ที่ว่ากันว่า คนฟังถึงกับสะอึก 

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตกันไปถึงเรื่องที่ว่า มีผู้ใหญ่ขอมาให้ บิ๊กแป๊ะ ถอย ผู้ใหญ่คนนั้นคือใคร ใช่ บิ๊กป้อม หรือไม่ 

เพราะหากถอดรหัสจากคำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ในวันรุ่งขึ้นระบุว่า ทุกอย่างอยู่ที่ บิ๊กป้อม เป็นคนตัดสินใจ ในขณะที่ ผู้กองนัส ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถอนตัวครั้งนี้ พร้อมโชว์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับ บิ๊กแป๊ะ 

“ผมกับพี่แป๊ะเหมือนคอหอยกับลูกกระเดือก ผมคบกันมาตั้งแต่เด็กๆ”  

แต่พอถูกถามว่า จะทาบทามให้กลับมาหรือไม่ คำตอบของ ผู้กองนัส คือ เคารพในเหตุผลของ บิ๊กแป๊ะ 

แต่แน่นอนว่า ลำพังเรื่องที่มีการขอ บิ๊กแป๊ะ หรือการเลี่ยงให้ บิ๊กวิน คงไม่ใช่เหตุผลใหญ่ แต่มันน่าจะมีอะไรลึกซึ้งมากกว่านี้ในการถอย 

อย่างไรก็ตาม แม้ บิ๊กแป๊ะ จะเปลี่ยนใจไม่ลงสนามผู้ว่าฯ กทม. แต่บทบาทคงไม่จบเพียงเท่านี้ โดยเฉพาะการเมืองสนามใหญ่ ในฐานะคนที่มากคอนเนกชั่น และพัวพันกับการมีชื่อเป็นรัฐมนตรีมาแล้วตั้งหลายหน 

บิ๊กแป๊ะ ไม่ได้แค่คุ้นเคยกับ บิ๊กป้อม แต่ยังเข้าหา บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมได้  

ผู้กองนัส อาจบอกว่า รักกับ บิ๊กแป๊ะ มาก แต่เชื่อว่าคงไม่เท่ากับที่ บิ๊กแป๊ะ สนิทกับ บิ๊ก ด. อดีตนายทหารคนดังที่มีข่าวพยายามเข้ามากระชับอำนาจพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย 

บทบาทของอดีต ผบ.ตร. รายนี้น่าสนใจ เพราะหากหันมาการเมืองสนามใหญ่ คงไม่ได้มาแค่ตัวประกอบแน่. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี