1 เดือน 'ชัชชาติ' คน กทม.ว่าไง สอบผ่าน-ไม่ผ่าน?

หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เมื่อ 22 พ.ค.2565 แบบแลนด์สไลด์ของจริง 1.3 ล้านคะแนน จนเกิดเป็นกระแสฟีเวอร์จนถึงปัจจุบัน สำหรับ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์-ผู้ว่าฯ กทม." และต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อ 31 พ.ค. จากนั้น 1 มิ.ย. ชัชชาติเดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เพื่อเข้ารับตำแหน่งและเริ่มต้นทำงานวันแรกในฐานะผู้ว่าฯ เมืองหลวง 

เท่ากับว่า ขณะนี้ ชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาแล้ว 1 เดือนเต็ม ท่ามกลางการจับตาจากสังคม ไม่ใช่แค่คน กทม.ว่า ผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้คะแนนเสียงเยอะสุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กันมา ตัวชัชชาติจะสามารถทำงานพิสูจน์คำพูดตามสโกแกนช่วงหาเสียง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ได้หรือไม่

ซึ่งต่อจากนั้นไม่นาน ชัชชาติได้เริ่มออกลูกแอ็กชัน มีการวางแผนและลงมือปฏิบัติการจริงในการแก้ปัญหาเรื้อรังของ กทม.ต่างๆ อาทิ น้ำท่วม การจราจรติดขัด ปัญหาด้านมลพิษ ซึ่ง “ชัชชาติ” บอกว่า การลงไปทำงานเร็วก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเร็ว และที่สำคัญคือการทำงานทุกอย่างต้องปราศจากการทุจริตโดยเด็ดขาด

ส่วนเรื่องการตัดสินใจของชัชชาติในประเด็นเชิงนโยบายหรือโครงการใหญ่ๆ ในความรับผิดชอบของ กทม.ที่ถูกจับตามองก็มีไม่น้อย แต่เรื่องสำคัญสุดตอนนี้คงไม่พ้นกรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกลุ่มบริษัทบีทีเอส ออกไปอีก 30 ปี  ซึ่งหลังเข้ารับตำแหน่งได้แค่ 2 วัน “ชัชชาติ” ได้เรียกประชุมหารือร่วมกับผู้บริหาร กทม.และตัวแทนบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เพื่อขอดูรายละเอียดของสัมปทานการจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว พร้อมกำหนดกรอบการทำงานเพื่อหาข้อสรุปการแก้ปัญหาสัมปทานและภาระหนี้ของ กทม. โดยขอเวลาในการศึกษาเรื่องนี้ภายในเวลา 1 เดือน

และต่อมาก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับกรุงเทพธนาคม คือที่ประชุมบริษัทมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่ 7 คน แทนคณะกรรมการบริหารชุดเก่าที่ลาออกยกคณะ เพื่อเปิดทางให้ชัชชาติเข้ามาจัดทัพในบริษัทใหม่ โดยมี ธงทอง จันทรางศุ อดีตอาจารย์จุฬาฯ ที่คุ้นเคยกับชัชชาติดีอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยชัชชาติเป็นอาจารย์และทีมผู้บริหารอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการบริหารกรุงเทพธนาคม

 ส่วนที่ว่าสุดท้ายแล้ว กรุงเทพธนาคมและ กทม.จะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไร คาดกันว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ เรื่องนี้อาจมีข้อสรุปบางอย่างออกมา หากไม่มีการซื้อเวลาออกไป

และอีกฉากความน่าตื่นเต้นที่หลายคนจับตามองก็คือ การที่ชัชชาติ อดีต รมว.คมนาคม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็น ผบ.ทบ. ทำรัฐประหารกลางสโมรสรกองทัพบก เมื่อ 22 พ.ค.2557 ที่วันดังกล่าวชัชชาติก็เข้าไปร่วมเจรจาหาทางออกทางการเมืองในนามตัวแทนคณะรัฐบาลด้วย จนสุดท้ายเมื่อเจรจากันไม่ได้ พลเอกประยุทธ์เลยประกาศยึดอำนาจและให้ทหารเข้ามาคุมตัวชัชชาติออกจากสโมสรกองทัพบก ที่ก็เท่ากับ ชัชชาติ กับ พลเอกประยุทธ์ ก็มีความหลังต่อกันที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

โดยชัชชาติได้เข้าทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. เพื่อนำเสนอในที่ประชุม ศบค.ถึงเรื่องการถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้ง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลดลง ซึ่งชัชชาติยอมรับว่า “ตื่นเต้น ไม่ได้เข้าทำเนียบฯ มาตั้ง 7-8 ปีแล้ว”

ท่ามกลางความสนใจของประชาชนว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์กับชัชชาติที่มีปูมหลังไม่ดีต่อกัน ยามเมื่อมาเจอกันจะมีเหตุการณ์สถานการณ์ตึงเครียดหรือมีการแย่งซีนอะไรที่น่าตื่นเต้นหรือไม่ แต่ทุกอย่างในวันนั้นกลับสวนทาง เพราะการพบกันของทั้ง 2 คน ที่ต่างก็เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บริหารบ้านเมือง ด้วยกันทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างมีวุฒิภาวะของตัวเองดีพอ ที่จะไม่แสดงออกอะไรต่อกัน แถมบรรยากาศ ท่าทีต่างๆ ของทั้ง 2 ฝ่าย ภาพก็ออกมาเชิงบวก เช่น พล.อ.ประยุทธ์ สวมบทเป็นไกด์พาชัชชาติชมจุดต่างๆ ภายในทำเนียบรัฐบาล มีการจับมือถ่ายภาพร่วมกัน กลายเป็นภาพแห่งความชื่นมื่นไป

รอบ 1 เดือนที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้เห็นก็คือ จะพบว่าภารกิจและการทำงานของชัชชาติถูกถ่ายทอด มีข่าวออกมาทุกวัน บางวันก็มีข่าวออกมาตลอดตั้งแต่เช้ายันค่ำ เรียกได้ว่าขยับอะไรก็ตกอยู่ในความสนใจ เป็นข่าวทุกซีน ผนวกกับชัชชาติและทีมงานเชี่ยวชาญและให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารสร้างภาพลักษณ์ทางโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว มันเลยเข้าทางชัชชาติในการสร้างอิมเมจ ภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง

โดยเอาเนื้องานที่ทำแต่ละวันเข้ามาสนับสนุนให้คน กทม.ได้เห็นว่า มีการเคลื่อนไหวทำงานตลอด 7 วัน ไม่มีวันหยุด รวมถึงลงไปร่วมกิจกรรมกับคนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มรักสุขภาพ กับการวิ่งออกกำลังกาย แต่จริงๆ ก็ทำมาตลอดตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ช่วงหาเสียงผู้ว่าฯ กทม.ด้วยซ้ำ หรือ กลุ่ม LGBTQ+ ที่ไปร่วมในกิจกรรมที่ถนนสีลม, กลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ก็ไม่พลาดกับกิจกรรมหลายอย่างที่ชัชชาติไปร่วมแจมด้วยตลอด เช่น ดนตรีในสวน เป็นต้น

ขณะเดียวกันในพื้นที่ กทม. หากเกิดเหตุด่วน-เหตุสำคัญอะไรที่ไหน ข่าวจะถูกนำเสนอในโทนว่า ชัชชาติลุยเสมอ ไม่ว่าจะดึกดื่น หรือยากลำบากแค่ไหน เช่น ไฟไหม้-น้ำท่วม ลงไปลุยหน้างานให้เห็นกันตลอด ผ่านการไลฟ์สด ส่วนที่ว่าชัชชาติไปแล้วจะได้เนื้องานจริงๆ หรือไม่ เป็นเรื่องที่คน กทม.ต้องติดตามและพิจารณากันต่อไป

แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า เรื่องการวางแผนสร้างภาพลักษณ์ของชัชชาติและทีมงานถือว่าสอบผ่าน ให้คะแนนระดับเอบวกได้แบบไม่ต้องลังเลใจ แต่สำหรับงานส่วนอื่นๆ คน กทม.คงบอกว่า ขอเวลาดูการทำงานอีกสักระยะ ถึงจะบอกได้ว่า สอบผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะ 1 เดือนยังอาจเร็วเกินไป อย่างน้อยคงขอสัก 3 เดือน

ขณะที่ในภาพใหญ่ที่หลายคนจับจ้องกันก็คือ การผลักดันนโยบายที่ชัชชาติเคยหาเสียงไว้ 216 ข้อ ที่ชัชชาติบอกว่ามีหลายนโยบายที่สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ทุกคนก็ยังตั้งข้อสงสัยว่าร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ที่มียอดงบ 79,000,000,000 ล้านบาท ของ กทม.เอาไปทำอะไรบ้าง คำตอบคือ สามารถจำแนกตามประเภทงบ ได้ดังนี้

งบบุคลากร 17,568,399,310 บาท (คิดเป็น 22.24%) งบดำเนินการ 17,701,722,793 บาท (คิดเป็น 22.41%) งบลงทุน 10,383,088,891 บาท (คิดเป็น 13.14%) งบเงินอุดหนุน 5,272,268,680 บาท (คิดเป็น 6.67%) งบรายจ่ายอื่น 13,703,787,726 บาท (คิดเป็น 17.35%) และงบกลาง 14,370,732,600 บาท (คิดเป็น 18.19%) ซึ่งทาง กทม.ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกรุงเทพมหานคร ผ่านทาง ส.ก.ในเขตพื้นที่ โดยชัชชาติจะนำเข้าสู่วาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 6 ก.ค.นี้

ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการทำงานอย่างเปิดเผย เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใส ที่ก็ต้องยอมรับว่าถูกใจคน กทม.ไม่ใช่น้อย 

ส่วนเรื่องการออกประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ในหน้างานความรับผิดชอบ การเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของชัชชาติ แม้จะออกมาหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เป็นประเด็นร้อนที่สุดคือ การเซ็นประกาศพื้นที่ชุมนุมสาธารณะทั้ง 7 ในพื้นที่ของ กทม.เพื่อทดลองใช้ 1 เดือน โดยเริ่มเมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยต่อจากนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะมีตรงไหนประกาศเป็นพื้นที่ชุมนุมสาธารณะอีกหรือไม่ และการนำร่องเปิดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะดังกล่าว สุดท้ายแล้วจะได้ผลในทางปฏิบัติหรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรีวิวการทำงานและกิจกรรมต่างๆ ของชัชชาติในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา โดยแม้ 1 เดือนอาจจะสั้นเกินไปที่จะประเมินว่าชัชชาติทำงานเข้าเป้า สอบผ่านหรือไม่

แต่ว่ากันตามสภาพ หากถามใจ คน กทม.เชื่อได้ว่า คน กทม.มีคำตอบในใจแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย