‘พปชร.’ มีกระสุน แต่ไร้กระแส เลือดไหล-เคว้งคว้าง เพราะไม่ชัดเจน

มากกว่า 1 ครั้งที่ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ยอมรับกับสื่อมวลชนว่า เป็นรองพรรคเพื่อไทย แต่ในขณะเดียวกัน เวลาพูดกับลูกพรรค ‘บิ๊กป้อม’ กลับย้ำว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพวกเขาจะได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 150 ที่นั่ง 

ถอดสมการข้างต้น พออนุมานได้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐรู้ตัวว่ายังแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทยอยู่ แต่ยังสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้   

เพราะโดยข้อเท็จจริง จำนวนเก้าอี้ 150 ที่นั่ง ไม่ใช่จำนวนของพรรคการเมืองอันดับ 1 แน่นอน แต่สามารถเป็นฐานในการก่อตั้งรัฐบาลได้ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์  

เหมือนกับครั้งก่อนที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด แต่รวมเสียงแข่งกับพรรคพลังประชารัฐอันดับ 2 ไม่ได้  

หากเป็นอย่างนี้แสดงว่า พรรคพลังประชารัฐไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ได้ ต่อให้ใช้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่ตัวเองช่ำชองก็ตาม 

ส่วนหนึ่งที่มีการมองอย่างนั้นกันเพราะคิดว่า พรรคเพื่อไทยไม่สามารถจะกวาดฐานมั่นคือ ภาคอีสานและภาคเหนือได้หมด หลังหลายพื้นที่ถูกพรรคภูมิใจไทยเจาะยาง ประกอบกับวันนี้พรรคเพื่อไทยมีตัวตัดคะแนนอย่างพรรคก้าวไกล 

ในการแบ่งเขตใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส.ส.ภาคอีสานจะมีจำนวน 132 คน ภาคเหนือ 39 คน และภาคกลาง 122 คน ถ้าจะแลนด์สไลด์ พรรคเพื่อไทยต้องไม่หลุดในภาคเหนือและอีสานเลย เพื่อให้เสียงไปแตะเกือบ 200 ที่นั่ง แล้วไปบวกๆ กับภาคกลาง และ กทม.ในบางส่วน 

เรื่องแลนด์สไลด์อาจดูเหมือนง่าย หากวัดความนิยมของพรรคเพื่อไทยในอีสาน แต่ต้องไม่ลืมว่า แม้พรรคภูมิใจไทยจะยังเป็นมวยคนละไซส์กับพรรคเพื่อไทยในอีสาน แต่จุดที่พรรคภูมิใจไทยเข้าไปเจาะ ล้วนแต่เป็นพวก ‘บ้านใหญ่’  

เวลาเสียงหายไม่ได้หายแค่ 1 ที่นั่ง แต่หายเป็นพวง กระจุกๆ อยู่หลายพื้นที่ หากพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ ไปหารพรรคเพื่อไทยมาได้สัก 20-30 ที่นั่ง แผนการแลนด์สไลด์ที่ต้องได้มากกว่า 250 ที่นั่ง เพื่อหาความชอบในการฝ่าด่าน ส.ว.จะยากขึ้นทันที  

การจะไปเอามาจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะภาคใต้ที่คราวหน้ามี ส.ส. 58 ที่นั่ง แทบไม่ต้องคาดหวังเลย เพราะหลายปีแล้วที่พรรคเพื่อไทยเจาะไม่ได้  

แต่อย่างไรก็ดี กลับไปที่ 150 ที่นั่ง เป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับว่ายากพอๆ กับยุทธการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน  

ในการเลือกตั้งครั้งก่อนพรรคพลังประชารัฐได้ 116 ที่นั่ง หลายคนมองว่า นั่นคือจุดพีกที่สุดของพรรคพลังประชารัฐที่ยากจะกลับไปจุดเดิมได้อีก 

ครั้งนั้น กระแสของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังไม่ได้แย่ขนาดนี้ ประกอบกับมีพลังวิเศษที่เข้ามาช่วยให้งานของพรรคพลังประชารัฐง่ายขึ้น แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป  

ขนาด ‘บิ๊กป้อม’ มั่นใจจะได้ 150 ที่นั่ง แต่ยังปรากฏข่าวคราว ‘ลูกพรรค’ ทะลักไหลไปอยู่กับพรรคอื่นต่อเนื่อง บางรายเก็บข้าวเก็บของรอเวลาแล้ว  

ขณะที่รังใหม่ที่ ส.ส.เหล่านี้จะย้ายไปก็ไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น ‘ภูมิใจไทย’ หรือแม้แต่พรรคเกิดใหม่อย่าง ‘สร้างอนาคตไทย’ 

มันพอจะบ่งบอกได้ว่า ไม่มีใครเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะกลับไปเป็นเหมือนตอนปี 2562 อีกแล้ว 

แล้วหาก ‘บิ๊กป้อม’ มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จอีก คงไม่ต้องลงมือกล่อมหรือฮึ่มใส่ ส.ส.ที่คิดจะย้ายรังกลางที่ประชุมพรรคเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 

ส่วนหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐอยู่ในสภาพแบบนี้คือ ความไม่ชัดเจนระหว่าง 2 พี่น้อง ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ ว่าจะเอาอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะหลายคนมองว่า พี่น้องยังคงเล่นเกมกันอยู่ 

 ความไม่ชัดเจนทำให้พรรคขาดทิศทาง ส.ส.เคว้งคว้างจึงจำเป็นต้องหาหลักที่มั่นคงกว่า  

อีกเรื่องคือ พรรคยังไม่ยอมปรับตัว ในทางการเมืองเรื่องเสียงสภาฯ อาจจะชนะฝ่ายค้าน แต่ ‘การตลาด-โซเชียลมีเดีย’ แพ้ราบคาบให้กับฝั่งนั้น และนั่นทำให้ ส.ส.เดินยากในพื้นที่ เพราะกระแสสู้ไม่ได้ 

จริงอยู่ ‘กระสุน’ ของพรรคพลังประชารัฐอาจเหนือกว่าพรรคอื่น แต่หากไม่มี ‘กระแส’ เลยก็ลำบาก  

วันนี้อาจเห็นเค้าลางบ้างว่า พรรคพลังประชารัฐเริ่มจะตื่นจากการเตรียมจัดโรดโชว์ตามภาคต่างๆ หรือ ‘บิ๊กตู่’ ลงพื้นที่ต่อเนื่อง แต่ฟีดแบ็กยังแตกต่างกับอีกฝ่ายค่อนข้างเห็นได้ชัด  

ที่สำคัญ ไม่รู้ว่ามันช้าไปแล้วหรือไม่!. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567

เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง

'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.

ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)