ปัจจุบันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคลดลง โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 2,000 คน มีการประกาศให้สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ตามความสมัครใจ เพื่อให้สอดคล้องกับการนิยามโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากโควิด-19 สามารถกลายพันธุ์ได้เสมอ เห็นได้จากสายพันธุ์เดลตา เบตาและอัลฟา ที่มีการกลายพันธุ์จนทวีความรุนแรงของเชื้อ
ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนล่าสุดอย่าง BA.4 และ BA.5 กำลังเป็นที่จับตาของวงการแพทย์ระดับโลกถึงความสามารถในการเพิ่มความรุนแรงของโรค โดยกรมการแพทย์ยืนยันว่า ในไทยก็พบคนที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้แล้วหลายคน
สำหรับข้อมูลของเชื้อ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว
ส่วนหนามของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดย BA.4 แพร่ระบาดเร็วกว่า BA.2 อยู่ที่ 19% และ BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.2 ที่ 35%
โดยสายพันธุ์ดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษเกิดความตื่นตระหนกเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วัน ระหว่างวันที่ 2-5 มิ.ย. นำมาสู่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 43% ในสัปดาห์ถัดมา ส่วนทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
ฝั่งทีมวิจัยจากออสเตรเลียได้พัฒนาระบบเซลล์เพาะเลี้ยงไวรัส SARS-CoV-2 ที่สามารถแยกจับเชื้อปริมาณน้อยๆ จากตัวอย่างออกมาได้ โดยทีมวิจัยใช้เซลล์ดังกล่าวในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสในประเทศแบบไวๆ โดยอาจไม่ต้องเสียเวลาถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส ซึ่งแพงและใช้เวลา งานนี้เพิ่งตีพิมพ์ไปในวารสาร Nature Microbiology
ซึ่งหลังจากตีพิมพ์ไป หัวหน้าทีมวิจัยก็ออกมาทวีตผลจากระบบที่ใช้ตรวจสอบไวรัสบอกว่า ไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ที่แยกได้ในประเทศให้คุณลักษณะของการติดเชื้อเหมือนเดลตา แต่ไม่เหมือนกับโอมิครอน BA.1 พูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่ตรวจสอบรหัสพันธุกรรม คงอาจสับสนว่าเดลตากลับฟื้นมาระบาดใหม่อีกรอบ
ส่วนสาเหตุที่ BA.5 กลับมาติดเซลล์แล้วรูปร่างของเซลล์เหมือนติดเดลตา เป็นเพราะ BA.5 ใช้วิธีเข้าสู่เซลล์แบบเดียวกับเดลตา คืออาศัยเอนไซม์ที่ผิวเซลล์ชื่อว่า TMPRSS2 ในการเข้า ในขณะที่โอมิครอนตัวอื่นคือ BA.1 และ BA.2 ไม่ได้ใช้เอนไซม์ตัวนี้ ความแตกต่างดังกล่าวจึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ใช้อธิบายว่า BA.1 และ BA.2 ทำไมถึงติดเซลล์ปอดได้ไม่ดีเท่าเดลตา
การที่พบ BA.5 อาจเปลี่ยนวิธีการเข้า โดยกลับมาใช้ TMPRSS2 ในการเข้า จึงสร้างความน่าสนใจในวงการว่า ไวรัสอาจมีคุณสมบัติที่ไม่ลดความรุนแรงลง และเนื่องจาก BA.4 มีสไปค์เหมือนกับ BA.5 ทุกตำแหน่ง คาดว่า BA.4 ก็น่าจะใช้วิธีการแบบเดียวกัน ดูจะสอดคล้องกับผลที่ทีมญี่ปุ่นทดสอบในแฮมสเตอร์พบว่า BA.4/BA.5 ลงปอดหนูได้ดีกว่า BA.2
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า มีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีการตรวจแบบเร็วพบ 2 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว 181 ราย ส่งรายงานเข้าไปยัง GISAID แล้ว และในสัปดาห์หลังพบมีการส่งเคสเข้ามาตรวจมากขึ้น จากทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบราวๆ 81 ตัวอย่าง กำลังจะรายงานเข้าไปยัง GISAID แต่ตัวเลขอาจจะทับซ้อนกับรายงานก่อนหน้านี้
ดังนั้นจึงพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า มีการพบสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวประมาณ 200 ตัวอย่างนิดๆ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ศูนย์ตรวจ เลยส่งตรวจมามาก แต่ไม่ใช่ว่าพบความผิดปกติเลยส่งมาตรวจ แต่เพราะติดตามสถานการณ์โลก จึงเฝ้าระวังกันมากขึ้น ทั้งนี้ 72.7% เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ อีก 27.3% เป็นการติดเชื้อในประเทศ โดยสัปดาห์หลังนี้มีรายงานพุ่งพรวดขึ้นมา 50% คงต้องรออีก 2-3 สัปดาห์ถึงจะเห็นแนวโน้มจริงของการระบาดของสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring : VOC-LUM) เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่า ต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม
นอกจากนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ช่วง 3 สัปดาห์ของเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ได้ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร 206 ราย พบว่ายังเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 แต่ข้อมูลทั่วโลกพบ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือน พ.ค.อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นเดือน มิ.ย.เป็นร้อยละ 30 ประเทศไทยพบรายงานการเพิ่มขึ้นของ BA.5 ในเดือน พ.ค.จากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 8 ในเดือน มิ.ย. เป็นสัญญาณเตือนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ต้องกลัว เพราะยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลง
โดยเดือน ก.ค.คาดว่าจะเห็นยอดติดเชื้อที่สูงขึ้นจนถึงเดือน ส.ค. ต้องเตรียมรับมือ จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงไปต่ำสุดช่วงเดือน ต.ค.-พ.ค. เพราะเป็นช่วงปิดเทอม และจะกลับสูงอีกทีช่วงเปิดเทอม เดือนมกราคม เป็นลักษณะจำเพาะของโรคทางเดินหายใจในเด็ก
นพ.ยง กล่าวด้วยว่า ส่วนอาการลองโควิดที่พูดกันมาก สำหรับผมรู้สึกเฉยๆ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังติดเชื้อช่วง 3-6 เดือน อาการหลักๆ ที่เห็นคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองมึนตื้อ หายใจไม่สะดวก ช่วงการระบาดของเชื้อเดลตาจะพบลองโควิดมากกว่าเชื้อโอมิครอน คาดว่าปีหน้าก็จะลดลง
ทั้งนี้ แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า ความรุนแรงของเชื้อจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นย้ำอยู่เสมอ รวมถึงมาตรการในการป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐาน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี