ปรากฏการณ์'โซนนิง' ม็อบ'ขาลง'ปลุกไม่ขึ้น

ภายหลัง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 7 แห่ง ได้แก่ ลานคนเมือง เขตพระนคร ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

โดยผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม

และผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ

ปรากฏว่ามีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ที่เคยทวีตเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2565 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และคณะก้าวหน้าเองที่หนุนสุดตัวกับนโยบายปักหมุดของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องเปิดพื้นที่สนามหลวงให้เป็นพื้นที่ม็อบ

และยังคงย้ำจุดยืนเดิมที่ไม่อยากให้เปิดชุมนุมได้แค่บางที่ แต่ก็เห็นด้วยที่การชุมนุมทั้ง 7 แห่งให้แจ้งขออนุญาตจาก กทม.เท่านั้น ไม่ต้องไปขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

“…เราต้องไม่ลืมว่าการชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดง ไม่ได้ชุมนุมในสถานที่ที่กำหนด ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ป่วนบ้านป่วนเมือง ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นศาลแล้วว่าไม่เป็นความจริง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก หากคุณไม่ชุมนุมใน 7 พื้นที่นี้…” พรรณิการ์กล่าว

ย้อนตรรกะของเหล่าบรรดาฐานเสียงพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ที่เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เชียร์ “ชัชชาติ” ซึ่งกำลังฟาดฟัน “ติ่งส้ม” ฝ่าย “ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ในสื่อสังคมออนไลน์กันดุเดือด

แม้ “ชัชชาติ” จะออกมายืนยันว่านโยบายดังกล่าว ไม่ใช่การโซนนิง ห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาใช้พื้นที่สาธารณะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ต้องสัญจรไปมา แต่ประกาศดังกล่าวก็อยู่ในความหมายเรื่องการตีกรอบ ที่ฝ่ายก้าวหน้ามองว่าย้อนแย้งกับแนวคิดสิทธิเสรีภาพ

ขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องการชุมนุมของกลุ่มราษฎรและแนวร่วมที่มุ่งโจมตีปฏิรูปสถาบัน เลยไปถึงกลุ่มทะลุแก๊ส ที่มีภาพผูกติดกับการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ต่างออกมาชื่นชมการประกาศพื้นที่ชุมนุมของ “ชัชชาติ” เชิดชูแนวคิดของผู้ว่าฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย   

เมื่อหันไปดูสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ นับแต่เริ่มมีบรรยากาศหาเสียงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นต้นมา พบว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะชุมนุม เดินขบวน คาร์ม็อบ ไม่มากนัก แม้กระทั่งม็อบ “ไล่บิ๊กตู่” ที่น่าจะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่ปรากฏว่ามีจำนวนคนน้อยกว่าที่คิด

สำหรับการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ก็เกิดขึ้นในช่วงของวันสำคัญ วันรำลึกเหตุการณ์ในอดีต ส่วนกิจกรรมย่อยเน้นไปที่นิทรรศการและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น ยืน หยุด ขัง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขัง ม.112 แต่ก็ได้รับความสนใจเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

จึงเกิดคำถามว่าเหตุใดพลังของกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภา และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รวมไปถึงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก-ยุบสภา จึงลดน้อยถอยลง

ปัจจัยแรก น่าจะเกิดจากห้วงเวลาของสภาในปัจจุบันที่จะใกล้ครบวาระ ทำให้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักการเมืองโฟกัสที่การเมืองในระบบ เตรียมพร้อมสู้ศึกการเลือกตั้งที่จะมาถึง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่ทำงานคู่ขนานกับม็อบราษฎรนั้น เดินหน้าเตรียมตัวเพื่อสู้ศึกสนามต่อไป หลังจากชิมลางได้เก้าอี้ ส.ก.เข้ามานั่งในสภาเล็กไม่ขี้เหร่นัก ขณะที่แนวร่วมอย่างพรรคเพื่อไทยก็เดินหน้ารักษาฐานเสียงในอีสาน

ปัจจัยที่สอง คนในสังคมคมเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากว่า 2 ปี ตามมาด้วยผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ ของแพง ราคาพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตพุ่งสูง ทำให้ประชาชนต่างคนต่างเดินหน้าทำมาหากิน มองเรื่องปัญหาปากท้องเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ลดความสนใจในการแสดงออกบนท้องถนน แต่ติดตามข้อมูลข่าวสาร แสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์แทน 

ปัจจัยที่สาม แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ถูกดำเนินคดี ถูกจับกุมคุมขัง แม้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็ยังติดเงื่อนไขการประกันตัว ส่วนคดี 112 ซึ่งแกนนำแถวสามที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ถูกจับกุมดำเนินคดีต่อเนื่อง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสรุปข้อมูลว่า เดือนมีนาคม 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 รายใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 10 ราย ส่วนคดีต่างๆ ทยอยขึ้นสู่การต่อสู้สืบพยานในชั้นศาลและศาลเริ่มมีคำพิพากษา และตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,795 คน ในจำนวน 1,045 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 275 ราย

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่ 1.ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 183 คน ในจำนวน 194 คดี 2.ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี 3.ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,448 คน ในจำนวน 629 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 4.ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี 5.ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 120 คน ในจำนวน 136 คดี 6.ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี ซึ่งจากจำนวนคดี 1,045 คดีดังกล่าว มีจำนวน 183 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว

ปัจจัยที่สี่ ความรุนแรงจากการชุมนุมของ “ม็อบดินแดง” ที่มีสารตั้งต้นจาก “กลุ่มทะลุแก๊ส” เปิดหน้าชนเจ้าหน้าที่ ปิดถนน ขว้างประทัด ใช้สิ่งเทียมอาวุธ มีการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยกระสุนยาง มีผู้บาดเจ็บ เกิดเป็นภาพความรุนแรงบ่อยครั้ง สร้างความเบื่อหน่ายให้ประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครที่ไม่ต้องการเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน

ช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. เปิดเผยถึงคดีที่เกิดจากการชุมนุมเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า มีการดำเนินการทางกฎหมายตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 841 คดี ขณะนี้ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 485 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน 356 คดี

และที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมอีก 5 คดี มีผู้ต้องหาที่พิสูจน์ทราบขอหมายจับเพิ่มอีก 9 คน จับกุมไปแล้ว 2 คน มอบตัว 2 คน มีผู้กระทำความผิดประมาณ 20 คน เคสสุดท้ายคืนวันก่อนมีการเผายางรถยนต์ บช.น.มีการรับคำร้องทุกข์ดำเนินคดีไว้ และจะพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงปรับเข้ากับข้อกฎหมาย ถ้ามีเหตุอันควรออกหมายเรียกหรือขอหมายจับได้เลยก็จะเร่งรัดดำเนินการ

ปัจจัยที่ห้า ข้อเรียกร้องในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 คงยากที่จะเกิดเป็นรูปธรรมในเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวร่วมในสภา ตอนนี้เหลือเพียงพรรคก้าวไกลที่ยืนหยัดในเรื่องนี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยที่ “โทนี่ วู้ดซัม” ส่งลูกสาวมาเป็น “เถ้าแก่เนี้ย” คุมพรรคไม่แตะต้องเรื่อง “ร้อนๆ" เดินหน้าลงพื้นที่ฟาดฟันรักษาฐานเสียงที่กำลังถูกเจาะจากพรรคการเมืองรัฐบาล เปิดแคมเปญ “ตีงู ไล่หนู” ถ่องคาถา “แลนด์สไลด์” ปลุกผีทักษิณ-เสื้อแดงให้คืนชีพ

ขณะที่พันธมิตรที่เรียกตัวเองในฝ่ายประชาธิปไตย ต่างเปิดวิวาทะในระดับแกนนำ เลยลงมาถึงสมาชิก แฟนคลับ ติ่งส้ม-แดงมากขึ้น ทำให้แนวร่วมทั้งใน-นอกสภาของม็อบปฏิรูปสถาบัน ที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนเกิดอาการแผ่วตามไปด้วย

แถมเยาวชนที่เคยไปร่วมชุมนุมกลับไปใช้ชีวิตปกติ ลงถนนคนเดิน สยามสแควร์ ทำกิจกรรม ดูดนตรี ร่วมกระแส YES Indeed หันไปในสนใจประเด็นสังคมอื่นๆ ไม่ได้ “อิน” กับการเมืองเรื่องอุดมการณ์ที่เคยเป็นประเด็น “ฮิต” ในโลกสังคมโซเชียลเหมือนเมื่อสองปีก่อน

ทางด้านเกมการเมืองเรื่องของ การเข้าสู่อำนาจ หลังยุค “บิ๊กตู่” ดูเหมือนจะเข้มข้น หลังมี “ทางเลือกที่สาม” เริ่มเปิดเผยตัว และกำลังถูกทั้งสายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้าลากไปเป็นพวก เพราะแคนดิเดตนายกฯ พรรค “ส้ม-แดง” ที่เป็นคนรุ่นกลางอย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หรือ “อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร เป็นตัวเลือกที่ทำให้ “ขั้วประชาธิปไตย” ไร้จุดร่วมที่ลงตัว ส่อเค้าเกิดความขัดแย้งกันเอง

ส่วน กระแสชัชชาติฟีเวอร์ ที่ปลุกฟื้นวิถีชีวิตคนกรุงให้ดูกระฉับกระเฉงมากขึ้น กระตุ้นให้ข้าราชการออกมาจากวัฒนธรรมการทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม” โดยใช้กลยุทธ์ live สดดึงสังคมออกมาร่วมกดดัน ตรวจสอบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดันเป็นด่านหน้ารับแรงกระแทกกลุ่มต่อต้าน กลายเป็นจริตใหม่ของคนสังคมที่ ซื้อ ไอเดียนี้ เพราะไม่ต้องการตกอยู่ในวังวนความขัดแย้ง หรืออินกับการเมืองแบ่งขั้วเลือกข้างที่น่าเบื่อหน่ายมานานนับทศวรรษ

ทำให้บรรยากาศ "การเมืองข้างถนน" และ "ม็อบกดดัน" ที่ใช้สถานการณ์ความรุนแรงเร่งเร้าปลุกไม่ขึ้นอย่างที่เห็น!!.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567