ซักฟอกมาราธอน เน้น 'นับ' ไม่เน้น 'น็อก'

  ‘ญัตติซักฟอกเถื่อน’ ที่ ‘เสี่ยเฮ้ง’ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐกังขาว่า มีการลักไก่ยัดไส้ชื่อตัวเอง เป็น 11 คน ทั้งๆ ตอน ส.ส.เซ็นลงนามให้อภิปรายไม่ไว้วางใจมีแค่ 10 คน ร้ายแรงยิ่งกว่าเสียบบัตรแทนกัน ไม่น่าจะมีปัญหา 

หลังนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค มาลงนามยืนยันความถูกต้อง อุดช่องให้ยื่นเอาผิดในทางกฎหมาย ดูแล้วน่าจะเคลียร์ข้อครหาได้ระดับหนึ่ง 

อีกอย่างนายสุชาติไม่ได้หวังจะเอาเป็นเอาตายอยู่แล้ว แค่ต้องการตอบโต้แรงๆ ไปถึง ‘ผู้มีอิทธิพลนอกฝ่ายค้าน’ ตัวการสอดชื่อเข้ามา ให้รู้ว่าไม่กลัว แรงมาพร้อมแรงกลับ ไม่ได้เป็นหมูในอวย  

ขณะที่ช็อตต่อไปคือ เรื่องกรอบเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ‘เสี่ยแฮงค์’ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบว่า ฝ่ายค้านขอมา 5 วัน 

เป็นการซักฟอกมาราธอน 18-21 กรกฎาคม 4 วันรวด แล้วไปโหวตกันเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม แต่ที่ประชุม ครม.ยังไม่เคาะ โยนให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ที่มีนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานไปต่อรอง  

ท่าทีของนายนิโรธตอนนี้คือไม่ยอม เพราะเห็นว่าเป็นเวลาที่มากเกินไป แต่ดูแล้วคงขัดขืนลำบาก สถิติที่ผ่านมาบ่งบอกวิปฝ่ายค้านต่อรองชนะตลอด ได้เวลาตามที่รีเควสเสมอ
ขณะที่การเตรียมรับมือศึกซักฟอกฝั่งรัฐบาล นอกจาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ฝ่ายค้านเขียนญัตติแบบครอบจักรวาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 10 คน พอจะเก็งการบ้านกันออกว่าจะโดนเรื่องอะไร 

อย่างญัตติของ ‘เสี่ยหนู’ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ค่อนข้างชัดว่า พรรคเพื่อไทยจะมาเปิดปฏิบัติการ ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ ในสภาต่อ  

เช่นเดียวกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนร่วมมือกับพรรคเล็ก โหมโรงเรื่องโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีมาตั้งแต่ไก่โห่ หรือ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคก้าวไกลกัดไม่ปล่อยกรณีไม่อนุมัติเบิกจ่ายค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์สมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จองกฐินมา 2 ปีติดต่อกัน 

ในส่วนของเรื่องเสียงของรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ คลายกังวลไปเยอะตั้งแต่จบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในวาระแรก ที่เสียงชนะขาดฝ่ายค้านแบบไม่เห็นฝุ่น ปลื้มถึงขนาดพูดกับแกนนำรัฐบาลบางคน “เห็นแบบนี้ค่อยมีกำลังใจทำงานหน่อย” 

แต่จะใช้บรรทัดฐานเสียงจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้เสียทีเดียว เพราะบรรดา ‘งูเห่า’ ที่พรรคภูมิใจไทยเลี้ยงไว้ บางคนมีข้อจำกัดเรื่องผลกระทบต่อฐานเสียงในพื้นที่ 

ที่ยกมือให้รัฐบาลในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มันพอมีข้ออ้างกับประชาชนได้ว่า จำเป็นต่อประเทศ แต่จะมายกมือไว้วางใจให้ ‘บิ๊กตู่’ ส.ส.งูเห่าโซนอีสานกลัวฟีดแบ็กแรง 

ในศึกซักฟอกอาจจะหาทางออกด้วยการ ‘ไม่แสดงตน’ หรือ ‘งดออกเสียง’ แทน ซึ่งก็เป็นการตัดกำลังฝ่ายค้านได้เช่นกัน 

สำหรับองครักษ์พิทักษ์ลุงที่มีทุกหน ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐมีการตั้ง ‘ทีมปราบมาร’ เอาไว้ราวๆ 10 คน คอยทักท้วงฝั่งตรงข้าม แต่ดูแล้วคงไม่ต้องออกแรงอะไรมาก มีไว้ให้แค่ ‘บิ๊กตู่’ รู้สึกไม่โดดเดี่ยวเท่านั้น เพราะผ่านรายการนี้มาแล้ว 3 ครั้ง ไร้อาการตื่นสนามแล้ว 

หลักๆ ฝ่ายค้านคงเน้นยั่วอารมณ์ ‘บิ๊กตู่’ ที่จุดเดือดต่ำ 

ไฮไลต์ครั้งนี้น่าจะอยู่ที่การเชือดเฉือนกัน โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ผู้มีบารมีนอกฝ่ายค้านฝากสั่งสอน ทั้ง นายสุชาติ ทั้ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

โดยไม่รู้จะเล่นกันแรงขนาดไหน จะลากกันไปถึงเรื่องส่วนตัวตามที่มีการเรียกน้ำย่อยกันหรือไม่ ซึ่งโดยปกตินักการเมืองไม่ชกใต้เข็มขัดกันด้วยเรื่องแบบนี้ เพราะพูดไปผู้แทนในสภาอาจสะดุ้งหลายคน 

แต่หนนี้มีข้อหาหมั่นไส้เป็นทุน อาจจะเลยเถิดกันได้เหมือนกัน 

 อย่างที่รู้กัน 11 แบล็กลิสต์ที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก โจทย์ไม่ได้ตั้งจากโครงการที่รัฐมนตรีทำ แต่มาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก  

ชื่อหลายคนถูกลากขึ้นมา เพราะมีนัยทางการเมืองแฝงทั้งนั้น 

ไม่ต้องดูไหนไกล คนบางคนไม่น่าโดนกลับโดน แต่คนบางคนน่าโดนกลับตกสำรวจ โดยเฉพาะในรายของ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่กำลังโดนชาวบ้านด่าขรมทั่วเมือง ข้อหาไร้มาตรการฉุดราคาน้ำมันที่แพงหูฉี่ ที่ฝ่ายค้านเอาไปลงกับ ‘บิ๊กตู่’ แทน 

ขนาดเด็กพรรคประชาธิปัตย์ ‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ยังข้องใจ เรียกร้องให้ฝ่ายค้านใส่ชื่อลงไปด้วย  

แต่ในทางการเมืองรู้กัน ‘สุพัฒนพงษ์’ รอดเพราะอภินิหารของคนที่ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยให้ความเกรงใจ 

อย่างไรก็ดี โฟกัสครั้งนี้อาจไม่ได้เดือดที่ ‘บิ๊กตู่’ แต่อาจเป็นคู่กรณีของ ‘ผู้มีอิทธิพลนอกฝ่ายค้าน’ ที่ซัดกันตั้งแต่เรื่องญัตติ เหน็บจิกกันผ่านสื่อแรงๆ เป็นการโหมโรง

งานนี้ดูทรง ‘ผู้มากบารมีนอกฝ่ายค้าน’ น่าจะเพิ่มทวีความหมั่นไส้ น่าจะเดินเกม ล่อให้ถึงขั้น ‘กินบ๊วย’ ให้อับอาย เพราะต้องยอมรับในข้อเท็จจริงเอาให้ถึงขั้นน็อกค่อนข้างลำบาก เมื่อดูจากเสียงในมือฝ่ายรัฐบาลผสมงูเห่าแล้ว  

ดังนั้นขอแค่อภิปรายให้กรรมการนับ แล้วเลือดอาบลงเวทีได้น่าจะพอใจ.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย