ถอดสมการตัวเลข ฝ่ายค้าน+พันธมิตรรัฐบาล (หวัง) สอย 2 รัฐมนตรี

ในที่สุด คณะ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 182 เสียง จากพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย ไทยศรีวิไลย์ ได้ฤกษ์ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 รายชื่อผู้ที่ถูกอภิปรายแม้จะพลิกโผเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้เกินคาดการณ์ เนื่องจากบุคคลที่อยู่ในข่ายถูกอภิปราย ต่างอยู่ในตะกร้าเช็กบิลของฝ่ายค้านมาตั้งแต่ต้น  

1 นายกรัฐมนตรี 10 รัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 11 คน ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไป ใช้เวลาอย่างน้อย 4 วันอภิปราย 1 วันลงมติ   

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ข้อกล่าวหา ผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มาตรฐานจริยธรรม ปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายรัฐบาล มีพฤติกรรมที่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายผู้เห็นต่าง ปล่อยปละละเลยให้มีการทำลายประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีภาวะผู้นำที่พิการทางความคิด 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โดนข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริตต่อพวกพ้อง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ข้อกล่าวหา การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวผิดพลาดบกพร่อง สนับสนุนหรือทำให้เกิดกระบวนการทำลายการปกครองระบบรัฐสภา มีการใช้เงินให้ได้มาซึ่งอำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์สนับสนุนให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ข้อกล่าวหาคือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดล้มเหลว เอื้อประโยชน์ สนับสนุนให้มีการทุจริต  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ข้อกล่าวหาคือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ข้อกล่าวหา บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง ทำให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ขาดมาตรฐานจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติมิชอบในทางเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดนข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ล้มเหลวไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ปล่อยปละละเลย รู้เห็น สนับสนุนให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ภายในหน่วยงานในกำกับดูแล 

 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โดนข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ในหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ข้อกล่าวหาคือ ไม่มีความซื่อสัตย์ เอื้อประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ในหน้าที่ 

ข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปยังการไร้ความสามารถ การบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด มีพฤติการณ์อาจจะก่อให้เกิดความไม่ซื่อสัตย์ สุจริต เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ขณะที่รัฐมนตรีบางคนโดนพ่วงไปถึงข้อหา ฝ่าฝืนจริยธรรมนักการเมืองและศีลธรรมอันดี  

ข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ว่ากันว่า ข้อมูลบางส่วนที่โฟกัสเล่นงานรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐบางคนนั้น ไม่ได้มาจากฝ่ายค้านเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีมือดีในพรรคร่วมรัฐบาลส่งข้อมูล หลักฐานเด็ดมาให้ เพื่อหวัง สั่งสอนรัฐมนตรีบางคนที่ถือเป็นคู่อริทางการเมือง โดยยืมมือฝ่ายค้านหวัง น็อกรัฐมนตรีให้ตกเก้าอี้ให้ได้ โดยมอง ช็อตต่อไปที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ย่างเข้าเดือนสิงหาคม จะมีการปรับรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ที่ในวันนี้มีรัฐมนตรี 2 คนที่มีปัญหาทางข้อกฎหมาย จากผลพวงคดีในอดีต คือ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งโควตาส่วนกลางในพรคพลังประชารัฐ หลังจากบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ลงนาม เด้งธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงานออกไป ยังไม่มีการปรับ ครม.  

หลังจากฝ่ายค้านยื่นรายชื่อรัฐมนตรี สุชาติ ชมกลิ่ม รมว.แรงงาน เป็นอีกหนึ่งรัฐมนตรี ถูกเพิ่มชื่อเข้ามาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการยื่นญัตติ ท่ามกลางกระแสข่าวมีแกนนำจากพรรคร่วมรัฐบาลบางคนร้องขอมา  

 “แต่อย่างที่สื่อมวลชนได้เห็น ก่อนหน้านี้ไม่มีชื่อผม มีการเพิ่มญัตติมาคนสุดท้าย ก็อาจจะมีคนที่มีอิทธิพลที่อยู่นอกพรรคฝ่ายค้านก็ได้ แต่ไม่อยากกล่าวหาใคร แต่ไม่เป็นไร เรารู้หมดแล้วว่าใครทำ เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะว่าสุดท้ายเจอกันในสภา ในพรรคพลังประชารัฐก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างแน่นอน” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ 

ในศึกซักฟอก ฝ่ายค้านวาดฝัน มีหลักฐานเด็ด น็อกรัฐมนตรีให้ได้กลางสภา ยังหวังรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หวังเช็กบิลให้ได้ แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขในปัจจุบัน ฝ่ายค้าน 7 พรรค มี 208 เสียง ผลจากการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ฝ่ายค้านรวมเสียงได้ 194 เสียง เมื่อดู จำนวนเสียงจาก ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ขณะนี้ 477 เสียง การจะล้มรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 239 เสียงขึ้นไป  

239-194 ฝ่ายค้านยังขาดอีก 45 เสียงเป็นอย่างน้อย แต่ก็อย่าลืมว่า ในการอภิปรายครั้งสุดท้ายทิ้งทวนรัฐบาลประยุทธ์ ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนที่ยังเป็น ‘งูแฝง ไม่เคยแสดงตัว’ เตรียมจะย้ายพรรคการเมือง อาจจะ ‘แผลงฤทธิ์’ ในรอบนี้ก็เป็นได้ ยิ่งทำให้เสียงที่ขาดไป 45 เสียง อาจต้องบวกเพิ่มไปอีก 5 เสียงเป็นอย่างน้อย  

ในสมการความคิด ฝ่ายค้านหวังลึกๆ ว่า กลุ่มธรรมนัสที่ไม่ลงรอยกับ 2 รัฐมนตรีในพลังประชารัฐ 16 เสียง บวกกับกลุ่มพรรคเล็กอีก 16 เสียง รวมเป็น 32 เสียง จะเป็นตัวพลิกเกมที่สำคัญ และถึงแม้กลุ่ม ส.ส.เหล่านี้ไม่แตกแถวสักเสียง ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ยังเป็นงานยากของฝ่ายค้าน ที่หวังรวมเสียงพันธมิตรทางการเมืองในรัฐบาล โค่นรัฐมนตรีในปีกพลังประชารัฐให้ได้อย่างน้อย 2 คน อยู่ดี.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย