การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในวาระสอง ตลอดช่วงสองวันที่ผ่านมาคือ 9-10 มิ.ย.เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะผ่านไปสองวันพิจารณาได้แค่ประมาณ 14 มาตรา จากที่มี 172 มาตรา ยังต้องมีการพิจารณาอีกร่วม 158 มาตรา ที่ทำให้มีแนวโน้มว่าหากไม่เร่งสปีดการพิจารณาให้เร็วขึ้น จากเดิมที่คิดกันว่าจะพิจารณาเสร็จวาระ 2 และวาระ 3 ภายในสัปดาห์นี้ 16-17 มิ.ย. ก็เป็นไปได้ว่าอาจต้องยกไปต่อในสัปดาห์หน้า
ที่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะเสร็จหรือไม่ หากว่าสมาชิกรัฐสภาไม่เร่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่สังคมกำลังจับตากันอยู่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายที่เมื่อประกาศใช้แล้ว จะนำไปสู่การปฏิรูปวงการสีกากีได้จริง หรือแค่ปฏิลวงตำรวจ อย่างที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงในช่วงที่ผ่านมา หลังหลายฝ่ายเห็นเนื้อหาในร่างแล้วพบว่า แม้จะมีการยกร่างที่มีเนื้อหาโดยรวมซึ่งก็ถือว่าดีขึ้นกว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะการวางโครงสร้างเรื่องหลักประกัน "การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ" ที่น่าจะดีขึ้นกว่าระบบที่ใช้ในปัจจุบัน
ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่มีร่วม 172 มาตรา มีสาระสำคัญหลายเรื่องที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นย่อยๆ ที่ถือเป็นสีสันและน่าโฟกัสถึงไม่น้อย เพราะเป็นเรื่องใหม่และไม่คาดคิดกันว่าจะนำมาเขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อย่างเช่นเรื่อง "หลักเกณฑ์การส่งตำรวจไปติดตามรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ"
ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า ส่วนใหญ่ก็คือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย และมีตำรวจหลายนายได้ดิบได้ดีกันทั่วหน้า บางคนก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ก็เพราะเป็นตำรวจติดตามนักการเมือง แล้วนักการเมืองก็ช่วยเหลือให้ได้ตำแหน่งดีๆ โดยพบว่าในร่าง พ.ร.บ.นี้ กรรมาธิการเสียงข้างมากได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 84 มีเนื้อหาโดยสรุปคือ
"การสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญตามตำแหน่งที่ ก.ตร. กำหนด ให้เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ซึ่งต้องเสนอ ก.ตร. เพื่อทราบและประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ จะสั่งได้เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวร้องขอโดยจะระบุตัวบุคคลมิได้ แต่ข้าราชการตำรวจที่ถูกสั่งนั้นต้องสมัครใจด้วย และเมื่อผู้ขอพ้นจากตำแหน่ง ให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจ ที่ไปรักษาความปลอดภัยนั้นกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ผู้ขอพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าผู้ขอเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก ถ้าผู้นั้นได้ร้องขอให้รักษาความปลอดภัยต่อไป จะสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปรักษา ความปลอดภัยผู้ขอนั้นต่อไปอีกก็ได้”
ประเด็นดังกล่าว มีสมาชิกของรัฐสภาบางส่วน ที่นั่งเป็น กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่าที่เขียนไว้เช่นนี้เป็นเพราะกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ตำรวจไปติดตามนักการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเสียงวิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสมที่ตำรวจไปติดตามนักการเมืองวีไอพีบางคน
ที่ดูแล้วคงจะเป็นใครไปไม่ได้ เพราะการที่เขียนถึงขั้นลงรายละเอียดว่า “อดีตนายกฯ ที่จะขอตำรวจติดตามได้ ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด”
กรณีดังกล่าวฟันธงได้ว่า คงไม่พ้นกรณี "อดีตผู้กำกับหนุ่ย-พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย" อดีตนายตำรวจติดตาม "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องโทษจำคุกคดีจำนำข้าว ซึ่งหลังที่ยิ่งลักษณ์หนีคดีไปต่างประเทศ ก็มีอยู่บางช่วงมีภาพปรากฏว่า พ.ต.อ.วทัญญู ที่ตอนนั้นเป็นผู้กำกับการฝ่ายวิจัยและพัฒนา กองพัฒนาการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ได้ไปเดินตามยิ่งลักษณ์ที่ต่างประเทศ
จนต่อมาช่วงปลายปี 2562 อดีตผู้กำกับหนุ่ยถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีปรากฏภาพติดตามยิ่งลักษณ์ ไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย จนมีเสียงวิพากษ์กันไปทั่ว ที่สื่อรายงานว่า พ.ต.อ.วทัญญูเดินทางออกนอกประเทศ 9-10 ครั้ง โดยไม่ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา และไม่มีการลาราชการ จนหน่วยงานต้นสังกัดคือสำนักงานตำรวจสันติบาล มีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่ง พ.ต.อ.วทัญญูยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. แต่ทว่าเมื่อพฤศจิกายน 2564 กลับปรากฏว่า พ.ต.อ.วทัญญูได้เลื่อนตำแหน่งจากผู้กำกับการ เป็นรองผู้บังคับการกลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ววงการสีกากี และคาใจคนจำนวนมากว่า "ทำไม อดีตผู้กำกับหนุ่ยที่เคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัย กลับได้รับการเลื่อนขั้น"
จากประเด็นดังกล่าวเลยเป็นจุดที่ทำให้กรรมาธิการเสียงข้างมากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ต้องนำเรื่องนี้มาเขียนไว้ในร่างดังกล่าว เพื่อเป็นกฎเหล็กคุมเข้มการส่งตำรวจไปติดตามนักการเมืองมากขึ้น
แม้ดูแล้วตามร่างดังกล่าวยังเปิดช่องให้หลบเลี่ยงได้อยู่ ในเรื่องการขอตำรวจไปติดตามนักการเมือง แต่กระนั้นการเขียนไว้ในตัวกฎหมายหลักอย่างใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จึงไม่ใช่แค่การเขียนไว้เฉยๆ เพราะกฎหรือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไงก็ย่อมดีกว่าแน่นอน ถ้าสุดท้ายมาตรา 84 ดังกล่าวในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ถูกแก้ไขเสียก่อนในวาระสอง
โดยสิ่งที่ทำให้ต้องเขียนเรื่องนี้ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นกฎหมายหลักของตำรวจไทย ก็เป็นผลพวงมาจากเคสอดีตผู้กำกับหนุ่ย ตำรวจหน้าหยกผู้คอยติดตาม "ยิ่งลักษณ์" นั่นเอง
ขณะที่ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ กล่าวไว้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ว่า ได้ขอสงวนความเห็นไว้ในมาตรา 143 วรรคสอง ของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นมาตราเกี่ยวกับเรื่อง “ให้ตำรวจทุกเพศมีสิทธิและเสรีภาพในการไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ โดยสุภาพและเรียบร้อย การออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับทรงผมข้าราชการตำรวจ โดยให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพและเรียบร้อยเท่านั้น” เพราะไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องบังคับตำรวจชายตัดผมสั้นเกรียนเหมือนกันหมดอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ที่เชื่อว่าข้าราชการตำรวจจำนวนมากอึดอัดไม่พอใจ แต่ต้องจำทนกับคำสั่งดังกล่าว
สุดท้ายแล้ว การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ วาระสองและสามที่อาจจะไม่จบในสัปดาห์นี้ ประเด็นใหญ่และประเด็นย่อยต่างๆ จะได้รับการแก้ไขไปจากร่างของ กมธ.มากน้อยแค่ไหน ผู้สนใจก็รอติดตามกันได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
เตือน 'ยิ่งลักษณ์' กลับมาแบบ 'นักโทษนางฟ้า' ทำลายระบบแบบพี่ชาย ยิ่งจุดชนวนระเบิด
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีทุจริตจำนำข้าว อาจจะกลับประเทศไทยช่วงก่อนสงกรานต์ปีหน้า ว่า
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่