พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ดีเดย์ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้
กำหนดการอภิปรายครั้งนี้ใช้ชื่อยุทธการ เด็ดหัว สอยนั่งร้าน เด็ดหัว คือ จะเป็นการอภิปรายเด็ดหัวนายกรัฐมนตรี และนั่งร้าน คือ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดพลาดล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมาตรฐานจริยธรรม ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์
ทั้งนี้้มีรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และมาจากพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรคที่คุมกระทรวงสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิใจไทย 2 คน ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
การกำหนดรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกซักฟอกถึง 10 คน เสมือนการหว่านแห รัฐมนตรีบางคนก็ไม่มีข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชัน จึงเหมือนการอภิปรายเพื่อดิสเครดิตการบริหารงานของรัฐบาล ทิ้งทวนก่อนเข้าสู่โหมดหาเสียงเลือกตั้งต้นปีหน้ามากกว่า
ที่สำคัญฝ่ายค้านยังไม่เคยแสดงหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชันมัดรัฐมนตรีชุดนี้ ถึงขั้นยื่นเอาผิดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
มีแต่เพียงการใช้วาทกรรมสำนวนโวหารให้ดูตื่นเต้น เช่นเดียวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ที่มีเสียงขู่จากพรรคฝ่ายค้านว่าอาจจะมีการโหวตคว่ำล้มรัฐบาลได้
แต่สุดท้ายเสียงรับหลักการผ่านฉลุย 278 ต่อ 194 เสียง โดยมีเสียงแตกต่างระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกันถึง 84 เสียง แถมเสียงฝ่ายค้าน เดิมมี 209 เสียง หายไปอีก 15 เสียง ส.ส.งูเห่าปรากฏตัวให้เห็นอย่างไม่เกรงกลัวพรรคจะขับออก
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลจึงได้ไม่อยู่ที่ฝ่ายค้านและกลุ่มพลังนอกสภาอีกต่อไป แต่อยู่ที่ภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอง
โดยมีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านวาระแรกไปแล้วนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มีการพูดคุยถึงการทำงานการเมืองต่อจากนี้
โดย พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว ซึ่งจะสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.และจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน พล.อ.ประวิตร และให้ พล.อ.ประวิตรไปทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคแทน ซึ่งระหว่างนี้รอจังหวะที่เหมาะสมให้พ้นเดือนสิงหาคม ที่จะมีความชัดเจนในประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีไปก่อน
นอกจากนี้มีรายงานว่า นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้สมัครสมาชิกพรรค พปชร.ไปเรียบร้อยแล้ว
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า "ยังไม่ได้มีอะไรทั้งสิ้น ยังทำงานอยู่เหมือนเดิม ซึ่งทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี...ผมยังไม่คิดไปไกลขนาดนั้น ผมคิดว่าทำอย่างไรจะประคับประคองรัฐบาลนี้ไปให้ครบวาระ เรื่องวันหน้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน"
ส่วน พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถามถึงกระแสข่าวนี้ แต่บอกว่า "ยังเหลือเวลาอีกนาน"
กระแสข่าวดังกล่าวมีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ตกลงปรับบทบาททางการเมืองกันใหม่ ย่อมจะส่งผลสะเทือนต่อการเมืองไทย และส่งผลต่ออนาคตของพรรคพลังประชารัฐด้วย
เนื่องจากความล้มเหลวในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ผ่านมา รวมทั้งการเลือกตั้งในสนาม กทม. ที่พรรค พปชร.ไม่ได้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนผลการเลือกตั้ง ส.ก.ได้มาแค่ 2 ที่นั่ง จึงมองกันว่าเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนในทิศทางของพรรค และขาดความเป็นเอกภาพ หากพรรคยังอยู่ในสถานะเช่นนี้จะทำให้เกิดความสับสนภายในพรรค และเสียงตอบรับจากประชาชน
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ นายเสกสกล จัดตั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งต่อมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. ได้ลาออกจาก พปชร.ไปร่วมสร้าง พรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วย
แต่ล่าสุด นายเสกสกล กลับเข้ามา พปชร.อีกครั้ง ส่วน นายพีระพันธุ์ ยังไม่มีท่าทีชัดเจน
ทั้งนี้ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งใช้คะแนนรวมทั้งหมดหารด้วย 100 จะทำให้พรรคขนาดเล็กเสียเปรียบ เพราะจะต้องได้เสียง 3-4 แสนคนต่อ ส.ส. 1 คน พรรคเล็กจึงพยายามหาทางแก้โดยเสนอสูตรหารด้วย 500 จะได้ประมาณกว่า 7 หมื่นคะแนน ได้ ส.ส. 1 คน
ซึ่งมีรายงานว่า แนวทางดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร คิดไม่ตรงกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์อยากได้สูตรบัตรใบเดียว หารด้วย 500 แต่ พล.อ.ประวิตรอยากได้สูตรบัตร 2 ใบ หารด้วย 100
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คงเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นแล้ว คงไม่อยากเดินหน้า พรรครวมไทยสร้างชาติ อีกต่อไป เพราะโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก และจะทำให้เกิดความบาดหมางและขัดแย้งกันเองกับพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมานั่งหัวหน้าพรรค พปชร.นั้น พล.อ.ประวิตรยังกั๊กไว้ เพราะมองว่าตนเองยังมีบารมีดูแลพรรคได้ ประชาชนก็ยังตอบรับดีและมองว่ายังไม่ถึงเวลา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์อาจจะโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี พ้นเก้าอี้ในช่วงปลายนี้ก็เป็นได้
แม้ช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าว พี่น้อง 3 ป. ขัดแย้งกันเอง และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันเสมอว่ามีความสัมพันธ์กันมากกว่า 40 ปี ร่วมเป็นร่วมตายกันมา ไม่มีใครทำให้แตกแยกกันได้
ล่าสุดที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานพิธีเปิดโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สร้างสรรค์บทบาทสตรี สู่ความเข้มแข็งในชุมชน โดยมี พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาร่วมงานด้วย
งานดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ พี่น้อง 3 ป. ออกงานร่วมกัน หลังมีกระแสข่าวความขัดแย้งของกลุ่มพี่น้อง 3 ป. โดยเฉพาะการปล่อยข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะไปนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค พปชร. โดยทั้ง 3 ป.ได้เดินเข้ามาภายในงานพร้อมกัน และทักทายผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างเป็นกันเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ พี่น้อง 3 ป. จะมีความสัมพันธ์กันกว่า 40 ปี แต่ความเห็นทางการเมืองย่อมคิดต่างกันได้เสมอ อยู่ที่ว่าพี่น้อง 3 ป.จะจูนความคิดให้ลงตัวและหาทางออกร่วมกันโดยไม่บาดหมางกันได้หรือไม่ ท่ามกลาง ภารกิจร่วมรบที่ยังไม่บรรลุผล
โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามคือ พรรคก้าวไกล ที่มีแนวทางปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนับสนุนกลุ่มพลังนอกสภาเคลื่อนไหวบั่นทอนสถาบันอย่างต่อเนื่อง
ส่วนพรรคเพื่อไทยที่เดินสายปลุกมวลสมาชิกให้เลือกตั้งครั้งหน้าชนะแบบแลนด์สไลด์เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร หรือ “โทนี่ วู้ดซัม” อดีตนายกฯ หนีคดีทุจริต ยังกล่าวในรายการ CareTalk X Clubhouse ทุกสัปดาห์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างหนักหน่วงแทบทุกครั้ง
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานว่า ทักษิณพร้อมด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินทางมาประเทศสิงคโปร์ โดยมีครอบครัวและญาติพี่น้อง อาทิ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาวและครอบครัว นายสมชายและนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พร้อมครอบครัว รวมถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เดินทางมาด้วยและติดโควิด
นอกจากนี้ยังมีแกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทยอยเดินทางไปพบปะอย่างต่อเนื่อง
การเปิดหน้าเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวของทักษิณ ทั้งที่เคยบอกว่าไม่ยุ่งการเมืองแล้ว เพราะยังมีความหวังอยากกลับเมืองไทยแบบเท่ๆ เหมือนเดิม แม้จะผิดหวังมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ถือว่าเดิมพันสูงที่ส่งบุตรสาวลงลุยสนามการเมืองอย่างเต็มตัว เรียกเรตติ้งตรึงมวลชนของพรรคไว้เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
“ช่วงอยู่ในอำนาจ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์เจอศึกภายในและภายนอกสารพัด แต่ก็ฝ่ามรสุมผ่านไปได้ตลอด เป็นนายกฯ ที่เจอวิกฤตหนักหน่วงที่สุด ทั้งปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19”
ปรากฏการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะชายชาติทหาร และหัวหน้า คสช.ที่ยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.2557 เพื่อจะคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง และจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งชีพ คงจะไม่ปล่อยให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะแบบเดิมอีก
ช่วงอยู่ในอำนาจ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์เจอศึกภายในและภายนอกสารพัด แต่ก็ฝ่ามรสุมผ่านไปได้ตลอด เป็นนายกฯ ที่เจอวิกฤตหนักหน่วงที่สุด ทั้งปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ศึกสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แล้วยังเจอฝีดาษลิงอีก จนเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังยืนหยัดมาได้
หลังจากนี้เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ทิ้งภาระไว้ให้คนอื่น การจัดทัพทางการเมืองเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หากพี่น้อง 3 ป.ตกลงกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านด่านศาล รธน.ไปได้ ก็กุมบังเหียน พปชร.เต็มตัว ลุยสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าเต็มที่
แต่หากคุยกันไม่ลง พปชร.ก็ไร้จุดขาย และอาจจะพ่ายแพ้ฝ่ายตรงข้ามทั้งกระดาน!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัดเจน! พท.โยนขี้พ้นตัว แก้รธน.ไม่ทันไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรค
“เพื่อไทย" ชงกมธ.ร่วมลดเกณฑ์ประชามติ อ้าง ถ้าแก้รธน.ไม่ทัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพรรค ชิ่งห้ามความคิดใครไม่ได้
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
อยู่เหนือการควบคุม พท.โยนบาปปมแก้ ‘รธน.’ ‘แม้ว-เนวิน’ คุมการเมือง
"พท." เล็งยื่นร่าง กม.นิรโทษกรรมเดือน ธ.ค.นี้ ยันไม่ล้างผิด ม.112-คดีทุจริต "นพดล" รับ กม.ประชามติงานยาก ต้องโน้มน้าว สว.เห็นตามเกณฑ์ชั้นเดียว แย้มใช้เกณฑ์ 20%
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
พปชร.ตั้ง 'อัคร ทองใจสด' นั่งเก้าอี้รองโฆษกแทน 'สามารถ'
พรรค พปชร.ตั้ง 'อัคร ทองใจสด' นั่งรองโฆษกพรรค แทน 'สามารถ'
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว