หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ กัญชา กัญชง พ.ศ...ในคราวเดียวกัน โดยที่ประชุมมีมติ 373 ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง รับหลักการในวาระที่ 1
ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จำนวน 25 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 5 คน และ ส.ส.จำนวน 20 คน โดยมีกำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน พร้อมทั้งใช้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
โดยเมื่อ 9 มิ.ย. เริ่มดีเดย์กัญชาเป็นพืชเสรีพ้นจากบัญชียาเสพติดตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป รวมถึงน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่นๆ
ส่วนการนำเข้ากัญชา กัญชง สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาต ส่วนที่ยังถือเป็นยาเสพติดคือ สารสกัดจากกัญชา-กัญชงที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC เกิน 0.2% เท่านั้น
สำหรับการสูบกัญชาจะไม่มีความผิด แต่ต้องระวังไม่สูบในพื้นที่สาธารณะ เพราะรบกวนสิทธิของผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท เพราะการสูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรงเหมือนบุหรี่ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบควบคุมอยู่
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศปลดล็อกกัญชา มีทั้งด้านดีที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ และผลกระทบด้านลบต่อสังค โดยมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอยู่หลายกลุ่ม
โดยในที่ประชุมสภา นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส จากพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า "เป็นห่วงที่ปลดล็อกกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ประเทศอื่นๆ รอบข้างเรายังไม่อนุญาตให้เป็นกัญชาเสรี ประเทศเราจะเป็นแหล่งที่มีกัญชามากที่สุดในย่านนี้ ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคม สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ขนาดมีมาตรการและกฎหมายเอาผิด เรายังเอาไม่อยู่ ร่างกฎหมายฉบับนี้เน้นด้านเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการป้องกันมีเพียงมาตราเดียว คือมาตรา 37 ป้องกันไม่ให้เยาวชนติดยาหรือเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย โดยห้ามขายให้กับบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี"
ด้านพรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. กล่าวว่า "ถ้าผ่านร่างกฎหมายแล้ว สังคมไทยจะแย่กว่าเดิมหรือไม่ คนจะติดกัญชากันงอมแงมหรือไม่ ไปยืนรอรถเมล์ พวกจะยืนปุ๊นกันอยู่หรือไม่ คนไม่เสพไม่สูบจะรับได้ไม่ กฎหมายเขียนบังคับแบบไหน หากเอาไปค้าขายกันเยอะมากขึ้น เหมือนที่ขายใบกระท่อมกันข้างทางเยอะแยะมากมาย ฝากให้ศึกษาผลกระทบให้ดี อย่าเอาแต่เรื่องเศรษฐกิจมาเป็นที่ตั้ง หากเงินได้เป็นล้านๆ บาท แต่เสียสังคมไทยไปอีกกี่ล้านๆ บาท อันนี้ยอมไม่ได้"
ก่อนหน้านั้น พล.ท.รศ.นพ.วิชัย ประยูรวิวัฒน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามในประกาศที่ รอ.ทั่วไป 48/2565 คำเสนอของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเรื่องกัญชา โดยระบุว่า เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขนี้มีผลใช้บังคับ จะทำให้ทุกคนในประเทศไทย รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางในการใช้กัญชา เช่น เด็ก เยาวชน และหญิงมีครรภ์ สามารถเข้าถึงกัญชาได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ซึ่งเป็นลักษณะเสรีที่มากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมมากำกับ เช่น THC ในปริมาณที่สูงมากในช่อดอกกัญชา มีอันตรายต่อสุขภาพกายและจิต ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว เป็นอันตรายแก่สุขภาพจนอาจทำให้เจ็บป่วยรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต จึงขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาให้มีมาตรการทางกฎหมาย อาทิ พระราชกำหนดควบคุมกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและทันต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ที่จะมีผลบังคับใช้ รวมถึงขอให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ….เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
มีคณะกรรมการเพื่อติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบด้านลบที่เกี่ยวกับการใช้กัญชา รวมทั้งออกแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญต่อการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำหรับผู้บริโภคเองปัญหาสำคัญคือการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ใครจะเป็นผู้คุมผู้ดูแลไม่ให้ค่า THC ของกัญชาในอาหารเกินกำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากการประกาศของกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 ได้กำหนดร้อยละของสาร THC โดยน้ำหนักต่อเมนูเสิร์ฟ และกำหนดปริมาณการใช้ใบกัญชาที่แนะนำต่อเมนู ต่อให้เป็นแพทย์มารับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ก็ไม่สามารถระบุได้ว่ามีค่า THC เท่าไหร่
จึงเกิดคำถามว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการอาหาร และจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรว่าอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นมีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 หรือไม่ รวมถึงผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบหรือทราบได้อย่างไรว่าร้านอาหารจะใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่ประกาศกรมอนามัย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่มีข้อห่วงใยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอีก ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยที่ไม่มีมาตรการรองรับก่อนนั้น ทั้งการไม่มีมาตรการควบคุมการขายอาหารทางออนไลน์ การขาดการติดตามตรวจสอบและรายงานอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบไม่พึงประสงค์จากการบริโภคร่วมกับภาคีต่างๆ และภาคประชาสังคม หรือการไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา หรือแม้กระทั่งการไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชา เช่น การกำหนดให้ห้ามจำหน่ายในกลุ่มเด็กต่ำกว่า 18 ปี การกำหนดปริมาณที่ซื้อหรือครอบครอง เป็นต้น
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง เพื่อกำกับดูแลในช่วงรอยต่อนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
การออกประกาศดังกล่าวดูเหมือนว่าจะยังไม่จบ และคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลที่จะต้องเจอกับเอฟเฟ็กต์ตามมาหลังจากนี้ ในประเด็นกัญชากับสังคม อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อครอบครัว และชีวิตไม่ต่างกับสุรา ยาสูบ ถ้าผู้บริโภคไม่สามารถจำกัดการบริโภคได้!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง
'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่