โมเดลลดเบื้องหน้า ‘บิ๊กป้อม’ ชู ‘บิ๊กตู่’ ชัดๆ กู้วิกฤต คิดได้แต่ยาก

ภายหลังความย่อยยับในสนามเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ของพรรคพลังประชารัฐ และความยับเยินในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และนายสกลธี ภัททิยกุล ดูเหมือนองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐกำลังมีความพยายามจะปฏิรูปพรรคใหม่ 

โดยเฉพาะปฏิบัติการ ‘ข่าวปล่อย’ ให้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเต็มตัว 

ในขณะเดียวกัน ได้โยก ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ขึ้นหิ้งไปเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคแทน 

ข่าวดังกล่าวที่โพล่งขึ้นมากลางปล้อง ยังมีส่วนหนึ่งที่มองว่า เป็นข่าวเสี้ยมให้ 2 ป. ‘บิ๊กตู่’ กับ ‘บิ๊กป้อม’ แตกคอกันเฉกเช่นกับทุกครั้งที่ผ่านมา หากแต่ครั้งนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว 

มันดูเป็น ‘โมเดล’ ที่เหมือนมีใครบางคน และคนบางกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะซีกที่ใกล้ชิดกับ ‘บิ๊กตู่’ อยากจะให้พรรคหน้าตาเป็นแบบนี้    

และหากดูปฏิกิริยาของแนวร่วม ‘บิ๊กตู่’ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย เหมือนกับจะขานรับโมเดลนี้ ประหนึ่งเป็นขบวนการ ‘ไอโอ’ ที่วางแผนกันเอาไว้ 

ทางหนึ่งเหมือนเป็นการ ‘โยนหินถามทาง’ กับแนวร่วม และอีกทางหนึ่งเหมือนกดดัน ‘บิ๊กป้อม’ ให้หลีกทางน้อง เพื่อกอบกู้พรรค โดยใช้กระแสและเสียงสนับสนุนของแนวร่วมซีกนี้เพื่อพา ‘บิ๊กตู่’ ไปอยู่ ณ จุดจุดนั้น  

สิ่งบ่งชี้ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักว่า ‘ข่าวปล่อย’ ครั้งนี้ ไม่ได้มาจากคนนอกพรรค หรือแม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวขบวนพรรคเศรษฐกิจไทย คือการที่ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปักใจเชื่อว่าต้นตอมาจาก ‘สมาชิกพรรค’ 

สมมติฐาน ‘คนนอกพรรค’ ค่อนข้างเบาหวิว หากเพียงแค่ต้องการเสี้ยมให้ ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ แตกคอกัน ซึ่งสามารถเปิดหน้ายุยงได้ โดยไม่ต้องปิดบังอำพราง กลัวใครจะรู้  

อีกจุดน่าสังเกตคือ การอ้างว่า ‘บิ๊กป้อม’ พยายามโน้มน้าวให้ ร.อ.ธรรมนัส รีเทิร์นพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งย้อนแย้งกับการที่จะให้ ‘บิ๊กตู่’ มานั่งเป็นหัวหน้าพรรค เพราะทุกคนต่างรู้ว่า ทั้ง 2 คนเหมือนเส้นขนานแล้ว 

นอกจากนี้ ชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส ยิ่งจะทำให้พรรคพลังประชารัฐเสียคะแนนจากแนวร่วมของ ‘บิ๊กตู่’ แล้วยังทำให้ภาพ ‘บิ๊กป้อม’ ดูแย่ ที่คิดจะเอาหอกข้างแคร่กลับมา  

จุดประสงค์เหมือนเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ต้องมีการรีเซตพรรคพลังประชารัฐครั้งใหญ่ก่อนศึกเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

มีความพยายามถอดบทเรียนความล้มเหลวในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.และสนามเลือกตั้ง กทม.ที่เพิ่งเสร็จสิ้น และหวังจะใช้โมเดลนี้กอบกู้ซากปรักหักพังของพรรค   

บางส่วนในพรรคมีความเชื่อว่า สนามเลือกตั้ง กทม.ที่พรรคไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจาก ‘ความไม่ชัดเจน’ ของ ‘บิ๊กตู่’ ว่าจะสนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใด มีความคลุมเครือระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน และ นายสกลธี และการไม่มีตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คืออีกจุดอ่อนของพรรคที่ไม่มีอะไรไปขาย  

มีการเล่นการเมืองภายในของคนกันเอง โดยเฉพาะ 2 เขต ที่พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ก. ทั้งหนอกจอกและดินแดง คือ 2 เขตที่กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ของ พล.ต.อ.อัศวิน ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ก.  

สำหรับผู้สมัคร ส.ก.ในกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ได้รับการสนับสนุนแบบลับๆ จาก ร.อ.ธรรมนัส ขณะเดียวกันกลุ่มดังกล่าวส่งผู้สมัคร ส.ก.ทุกเขต ยกเว้นที่หนองจอกและดินแดง ที่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอยู่ในการดูแลของ ร.อ.ธรรมนัสเช่นกันชนะการเลือกตั้ง 

ส่วนผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้เป็นคนของ ร.อ.ธรรมนัสแพ้ราบคาบ โดยมีการยกเหตุว่า หากไม่มีการตัดคะแนนกันเองของผู้สมัคร ส.ก.ของทั้ง 2 กลุ่ม อย่างน้อยซีกนี้น่าจะเหลือ ส.ก.สักครึ่งจากที่ส่งทั้งหมด  

โดยมีการมองกันว่า เป็นความจงใจให้เป็นแบบนี้  

ในช่วงที่ไม่มีความชัดเจนว่า ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ จะเอาอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่งผลให้บรรดา ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างสับสนว่าจะต้องเดินอย่างไร จึงมีความพยายามชูโมเดลกู้วิกฤตกระแสคือ ชู ‘บิ๊กตู่’ คนเดียวโดดๆ ไปเลย  

ทำให้ชัดเจนไปเลยว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นของ ‘บิ๊กตู่’ เพื่อดึงแนวร่วมกลับมา หลังจากผละออกไปจากความหวาดระแวงที่ ร.อ.ธรรมนัสสร้างไว้ครั้งก่อน  

ขณะเดียวกัน ขอร้องให้ ‘บิ๊กป้อม’ ไปอยู่หลังฉาก เป็นผู้จัดการอยู่ด้านหลัง เพื่อล้างภาพเหตุการณ์ล้ม ‘บิ๊กตู่’ ในอดีตออกไปให้หมด 

บางคนในพรรคยังเชื่อว่า ‘บิ๊กตู่’ ยังพอขายได้ใน กทม.และภาคใต้ หากรีเซตพรรคใหม่ เอาให้ชัดๆ  

เพียงแต่โมเดลนี้ไม่มีทางสำเร็จหาก ‘บิ๊กป้อม’ ไม่ยอม ซึ่งคนรอบตัว ‘บิ๊กป้อม’ ไม่ยอมแน่ เพราะต้องยอมรับว่า เกมเขย่า ‘บิ๊กตู่’ ก็มีปฐมเหตุมาจากการลดอำนาจ ‘บิ๊กป้อม’ ด้วยการหดเก้าอี้เหลือแค่รองนายกฯ ไม่ได้ดูทั้งทหาร ตำรวจ  

ถ้ามีการดึง ‘บิ๊กป้อม’ ไปแอบอยู่ด้านหลังอีกคำรบ ความระหองระแหงระหว่างพี่น้องอาจถลำลึกกว่าเดิม 

ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐให้ความเคารพ ‘บิ๊กป้อม’ มาอันดับ 1 ไม่ใช่เพราะแค่เป็นหัวหน้าพรรคหรือเจ้านาย หากแต่ที่ผ่านมาพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ดูแล ส.ส.และสมาชิกพรรคราวกับลูก  

ดังนั้นแม้จะเป็นโมเดลที่มีเจตนาดีเพื่อหวังไปต่อได้ทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติมันยาก..ที่จะไปถึง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1