ย้อนรอย “จีที 200” อดีตไล่ล่า “อำนาจขาลง”

กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจไม่น้อย จากกรณี นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล เปิดอภิปรายระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ย้อนหลังไปถึงความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบประมาณของกองทัพบกที่ไม่อยู่ในเอกสารงบ ปี 2565 เกี่ยวกับการจ้าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจพิสูจน์เครื่อง จีที 200 จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7,570,000 บาท ทั้งที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเครื่องมือดังกล่าวใช้การไม่ได้นับแต่มีคดีฟ้องร้องในต่างประเทศ

ตามมาด้วยคำชี้แจงของ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า การดำเนินการเป็นไปตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เพราะสาระสำคัญของคดีคือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเครื่องใช้ไม่ได้ ก่อนที่จะได้รับเงินค่าเสียหายกว่า 683 ล้านบาทตามคำสั่งศาล เป็นประเด็นที่ถูกโยนไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจง

ทำให้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ต้องออกมาไล่เรียงไทม์ไลน์ของคดีในการอ้างคำแนะนำจากอัยการสูงสุดนั้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร  

13 ม.ค.60 อัยการสูงสุดได้รับหนังสือจากกองทัพบกขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดจัดอัยการยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวก สัญญาวงเงิน 683,900,000 บาท ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบให้สำนักงานอัยการคดีปกครองเป็นผู้พิจารณาว่าต่าง และได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน 

24 ม.ค.60 อัยการผู้ตรวจสำนวนได้มีหนังสือแจ้งให้กองทัพบกดำเนินการส่งเครื่องไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมด 757 เครื่อง เพื่อที่จะทราบว่าเป็นของที่ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ถือว่าเป็นข้อแพ้ชนะคดี ในส่วนรายละเอียดทางกองทัพจะไปตรวจอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ทางอัยการไม่ได้ก้าวล่วง 

 27 เม.ย.60 อัยการสำนักงานคดีปกครอง 5 ได้ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม, นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บริษัท เอวิเอฯ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ค้ำประกัน (วงเงิน 56 ล้านบาทเศษ), ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะแบงก์การันตี (วงเงิน 6 ล้านบาทเศษ) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 โดยอัยการได้ยื่นฟ้องทุนทรัพย์ทั้งหมด 687,691,975 บาท

28 ธ.ค.60 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี โดยให้เหตุผลเนื่องจากขาดอายุความ

 1 มิ.ย.61 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดีที่อัยการยื่นอุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ พร้อมสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา

 1 ก.ย.64 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า เครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงพิพากษาว่าให้บริษัท เอวิเอแซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ให้ธนาคารกสิกรในฐานะผู้ออกแบงก์การันตีรับผิดชอบในวงเงิน 56,856,438 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพฯ ในส่วนแบงก์การันตีรับผิดชอบวงเงิน 6,195,452 บาท และยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหารเอวิเอ เนื่องจากยังฟังไม่ได้ความว่า ได้กระทำงานเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล

8 ก.ย.64 สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลคดีให้กองทัพบกทราบ 

23 ก.ย.64 ผู้ถูกฟ้องทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

8 มี.ค.65 อัยการคดีปกครองยื่นอุทธรณ์ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ศาลยกฟ้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องที่ 1  7 ก.พ.65 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ 

7 มี.ค.65 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คดี คดีจึงเป็นอันถึงที่สุด ที่ให้บริษัท เอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในส่วนที่อยู่ในศาลปกครองสูงสุดจึงมีเพียง 2 ประเด็นคือ ในส่วนของธนาคารกสิกรและธนาคารกรุงเทพ เเละประเด็นที่อัยการขอให้นายสุทธิวัฒน์ร่วมรับผิดกับบริษัท 

สรุปคือ การตรวจเครื่องจีที 200 ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากคดีมันสิ้นกระเเสความ และเราแจ้งผลให้กองทัพบกตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.64 แล้ว 

ในประเทศไทยหน่วยงานแรกที่จัดซื้อเครื่องจีที 200 มาใช้คือ กองทัพอากาศ (ทอ.) เมื่อปี 2548 โดยจัดซื้อราคาเครื่องละ 9.66 แสนบาท ต่อมาในปี 2550-2552 หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้จัดซื้อมาใช้งาน เนื่องจาก ทอ.นำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบว่าสามารถตรวจพบอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดหลายครั้ง จนเป็นที่เชื่อมั่นของผู้ใช้งาน ทำให้ระหว่างปี 2548-2553 หน่วยงานของรัฐไทย 15 หน่วยงาน ซื้อจีที 200 มาใช้รวม 1,398 เครื่อง เป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาตั้งแต่เครื่องละ 4.26 แสนบาท -1.38 ล้านบาท

สำหรับกองทัพบกขออนุมัติจัดซื้อมากที่สุด จำนวน 12 สัญญา อย่างน้อย 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท กองทัพเรือ จำนวน 8 สัญญา อย่างน้อย 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท กองทัพอากาศ จำนวน 7 สัญญา อย่างน้อย 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท กรมราชองครักษ์ 3 สัญญา อย่างน้อย 8 เครื่อง วงเงิน 9 ล้านบาท สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 3 สัญญา อย่างน้อย 6 เครื่อง วงเงิน 6.80 ล้านบาท สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท อย่างน้อย 1 เครื่อง วงเงิน 550,000 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 1,230,000 บาท องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว จำนวน 1 สัญญา อย่างน้อย 2 เครื่อง วงเงิน 2,380,000 บาท อบจ.สมุทรปราการ จำนวน 1 สัญญา อย่างน้อย 3 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท กรมศุลกากร จำนวน 1 สัญญา อย่างน้อย 6 เครื่อง วงเงิน 2,556,000 บาท

แต่ในที่สุดความจริงเริ่มเปิดเผย เมื่อช่วงปลายปี 2552 เกิดเหตุเครื่องจีที 200 ทำงานผิดพลาด ทำให้เกิดเหตุระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และตลาดสด จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ผนวกกับภาคประชาชน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเครือข่ายในโลกออนไลน์เกาะติดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้พิสูจน์การทำงานของจีที 200 “ด้วยวิทยาศาสตร์” (ที่มา : PPTV 30 ส.ค.61) ขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีการตรวจสอบ มีการฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตเป็นคดีความและชนะคดีไปแล้ว

ดูจากผลทางคดีที่ออกมาแล้วเรื่องราวน่าจะปิดจ๊อบ และเงียบไปตามกระแส กลายเป็นตำนาน “เครื่องมือลวงโลก-ไม้ล้างป่าช้า” บทเรียนราคาแพงในการจัดซื้อจัดจ้างในราชการ หากไม่มีประเด็นกองทัพบกตั้งงบผ่าเครื่องจีที 200 ขึ้นมาอภิปราย

นำไปสู่ข้อสงสัยคลางแคลงใจรัฐที่ไม่ยอมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิต เพราะเกรงจะเห็นส่วนต่างกับราคาจริงที่จัดซื้อ รวมไปถึงคดีที่ค้างอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ ป.ป.ช. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะถูกเตะถ่วง

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ มีวาระพิจารณาคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟา 6 ใน 5 สำนวนสุดท้าย เพื่อชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง แต่แล้วที่ประชุมก็ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปหมดทุกสำนวน โดยให้เจ้าของเรื่องกลับไปดูแนวทางการลงโทษของคดีเดิมประกอบ โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนชี้มูลความผิดกรณีการจัดซื้อจีที 200 และอัลฟา 6 เป็นเพราะการประชุมวันนั้นมีวาระหลายเรื่อง พิจารณาไม่ทัน ส่วนเรื่องที่เสนอในที่ประชุมยังให้รายละเอียดไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT 200 และ Alpha6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย โดยถูกชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างของหน่วยงานนั้นๆ

ภายหลังการชี้มูลดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดทั้งหมดเพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับรองมติอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก จึงต้องการให้เกิดความชัดเจน โดยใน 20 สำนวนนี้ มีผู้ถูกชี้มูลเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย” สำนักข่าวอิศราอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง