'ชัชชาติ' ซื้อเวลา 1 เดือน ก่อนทุบโต๊ะขยาย-ไม่ขยาย สัมปทานสายสีเขียว

ภารกิจวันที่สองของการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังประกาศไว้ตั้งแต่วันแรกในการเข้าทำงานที่ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า เมื่อ 1 มิ.ย. ว่า จะลุยงานในทันทีใน 4 เรื่องเร่งด่วน คือ 1.เตรียมปัญหาแก้ไขเร่งด่วนรับมือ 2.ความปลอดภัยทางถนน ทางม้าลายต่างๆ ยังมีปัญหาต่อเนื่อง 3.หาบเร่แผงลอย ย้ำว่านโยบายยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ต้องหาข้อสรุปในจุดที่สมดุล และ 4.เรื่องสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่ศาลา กทม.โดยมีการหารือร่วม 1 ชั่วโมงเพื่อพิจารณารายละเอียดสัญญาการเดินรถและสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงการนำสายสื่อสารลงดิน ท่ามกลางการจับตามองจากสังคมว่า สุดท้ายแล้ว กทม.ในยุคชัชชาติ จะมีท่าทีอย่างไรในเรื่อง "สัญญาร่วมลงทุนกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว" หลัง กทม.ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องการให้ ครม.เห็นชอบให้ขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี (2572-2602) แต่ถูกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยขวางลำ จนเรื่องดังกล่าวสะดุดลงและผ่านมาถึงปัจจุบัน ที่เป็น เผือกร้อน ให้ชัชชาติตัดสินใจ หลังก่อนหน้านี้ชัชชาติเคยแสดงจุดยืนไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่าไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานออก

 ซึ่งหลังการหารือกับกรุงเทพธนาคมเสร็จสิ้นลง ชัชชาติ แถลงว่า เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1 เดือน ซึ่งการหารือกับกรุงเทพธนาคม ทำให้ได้เห็นสัญญาการเดินรถที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน จึงต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไรและสัญญาได้รับการอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่ และย้ำว่าขออย่าเอาหนี้สินมาเป็นตัวเร่งรัดการตัดสินใจระยะยาว แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ชัชชาติ แสดงท่าทีในเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไปว่า หากมีความจำเป็น กทม.ยังมีข้อบัญญัติในการกู้เงินที่จะนำมาชำระหนี้สินได้ โดยเป็นข้อบัญญัติที่ต้องผ่านสภากรุงเทพมหานคร และเป็นการกู้เงินจากรัฐจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเอกชนกู้ สำหรับการขยายสัญญาสัมปทานที่มีกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ที่จะหมดในปี 2572 นั้น นายชัชชาติระบุว่า ยังไม่ได้มีการหารือ เพราะยังมีส่วนที่เกี่ยวข้อง สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานคร เข้ามาพูดคุยข้อมูลและทบทวนการต่ออายุสัญญา โดยให้สภา กทม.ดูเนื้อหาอย่างละเอียดตามแนวทางปฏิบัติ เพราะสัญญาเดิมที่ค้างอยู่ใน ครม.ขณะนี้ เกิดขึ้นจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้ ม.44 ทั้งนี้หากศึกษารายละเอียดเชื่อว่าจะมีจุดที่ทำให้สัญญาถูกลงได้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนเข้ามาแข่งขัน

เมื่อสื่อถามว่า จะทำราคาค่าโดยสารถูกลง อยู่ที่ 25 บาทจะเป็นไปได้หรือไม่ ชัชชาติ ระบุว่า เป็นเป้าหมายที่ตั้งใจจะทำ และมีความเป็นไปได้ แต่ยอมรับว่าก็มีปัจจัยอื่นที่ควบคู่ไปด้วย เช่น โครงสร้างหนี้พื้นฐานที่จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงกำไรและขาดทุน พร้อมมองว่าอีกหนึ่งแนวทางที่จะลดภาระหนี้สิน คืออาจจะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายทั้งสองส่วน เพราะปัจจุบันการให้บริการฟรีอาจจะไม่สมเหตุสมผล และส่งผลกระทบต่ออาชีพการให้บริการรถขนส่งสาธารณะที่จะขาดรายได้ ทั้งนี้ ต้องดูความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนและเอกชนด้วย

"หลังจากได้ข้อสรุปจะต้องรายงานต่อพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยจะสรุปข้อมูลเพื่อเข้าหารือให้เร็วที่สุด สิ่งที่ กทม.อยากทำมากที่สุดคือ การเร่งคืนหนี้สินให้รัฐบาลให้เร็วที่สุด และอยากขอให้ กทม.มาดูแลเรื่องการเดินรถเอง เพราะถือเป็นสมบัติของเมือง" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

เมื่อเป็นดังนี้เท่ากับการสะสางปมสัญญาร่วมลงทุนกับบีทีเอสซี ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างน้อยต้องรอไปก่อนหนึ่งเดือน และคน กทม.ต้องลุ้นว่า ชัชชาติ จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงมาได้จริงหรือไม่ รวมถึงท่าทีซึ่งบอกว่า อยากขอให้ กทม.มาดูแลเรื่องการเดินรถเองเพราะถือเป็นสมบัติของเมือง ทางชัชชาติจะมีแนวทางอย่างไร จะสามารถทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องข้อกฎหมายและสัญญาต่างๆ ระหว่าง กทม.กับเอกชน ถ้าทำแล้วมันจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะหากจะยกเลิกสัมปทานหรือไม่ต่อสัมปทานกับบีทีเอส แล้วภาครัฐ คือ กทม. มาเดินรถเอง แต่อาจว่าจ้างบีทีเอสให้มาบริหาร

แม้อาจทำให้สิ่งที่ชัชชาติเคยบอกว่า ต้องการทำให้ค่าโดยสารลดลงมา เพราะสายสีเขียวจะเป็นของรัฐ แต่ก็มีคำถามที่ กทม.ก็คงต้องปวดหัวไม่น้อยว่า จะไปควักเงินจากงบในส่วนใดมาชำระหนี้ร่วม 38,000 ล้านบาท ที่ค้างชำระมานาน จนบีทีเอสยื่นฟ้องเพื่อให้กรุงเทพมหานครจ่ายในส่วนค่าจ้างเดินรถ 12,000 ล้านบาท และยังมีหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าอีก 20,000 ล้านบาท จนทำให้ กทม.ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ผลักดันให้ ครม.เห็นชอบ การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเวลาอีก 30 ปี เพื่อแลกกับหนี้ค้างชำระกว่า 3.8 หมื่นล้านบาทมาแล้ว

ในช่วงที่ ชัชชาติ ขอเวลาหนึ่งเดือนในการศึกษาข้อมูลและสัญญาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว ทางภาคเอกชน บริษัท BTSC ที่ประกอบธุรกิจบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มี คีรี กาญจนพาสน์ เป็นประธานกรรมการ คงต้องรอลุ้นกันว่า กทม.จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร และหากสุดท้าย กทม.ตัดสินใจแล้ว กระทรวงมหาดไทยในยุค บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น มท.1 ที่เคยเห็นดีเห็นงามกับ พล.ต.อ.อัศวิน ในการขยายสัมปทาน แต่หากมารอบนี้ ถ้าชัชชาติยืนยันไม่เอาด้วยกับการขยายสัมปทานแล้ว พล.อ.อนุพงษ์จะคัดค้านหรือเปลี่ยนมา เอาด้วยกับแนวทางของชัชชาติ เพราะการตัดสินใจเรื่องนี้ ที่มีมูลค่าสัญญาโครงการเป็นเงินมหาศาล กทม.ต้องส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณานำเข้าที่ประชุม ครม.ตัดสินใจ เพราะเรื่องไม่ได้จบที่ กทม.

อย่างที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี-มือกฎหมายรัฐบาล บอกไว้ก่อนหน้านี้ หลังถูกสื่อถามว่า หาก กทม.มีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ครม.ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบตาม กทม.ใช่หรือไม่ คำตอบคือ "ถูกต้อง เพราะถึงเวลาอาจต้องเสียเงินเสียทองใช้งบประมาณแผ่นดิน ครม.ก็มีสิทธิที่จะคิด ดังนั้น สุดท้ายต้องมาจบที่ ครม. แต่ต้องให้ กทม.ตั้งต้นว่าจะเอาอย่างไร"

หนึ่งเดือนต่อจากนี้ที่ ชัชชาติ ขอเวลาศึกษาก่อนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องรอติดตามว่าเมื่อครบหนึ่งเดือนแล้ว ชัชชาติจะ ทุบโต๊ะ ออกมาหรือไม่ หรือจะยื้อซื้อเวลาอีกต่อไป เพราะเห็นแล้วว่าการบริหารงานจริง กับสิ่งที่เคยหาเสียงไว้ ของจริง ตอนต้องตัดสินใจที่หากตัดสินใจผิด อาจมีปัญหาตามมา

เพราะรายละเอียดการตัดสินใจก็มีหลายประเด็นที่ต้องตัดสินใจ เช่น หนี้สินระหว่าง กทม.กับ BTS กว่า 38,000 ล้านบาท ทำให้การทุบโต๊ะเรื่องนี้ ในยามมานั่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. มันจึงตัดสินใจยากกว่าตอนพูดหาเสียงขอคะแนนตอนเลือกตั้งหลายเท่านัก!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

'ผู้ว่าฯชัชชาติ' สั่งปิดโรงแรมไฟไหม้ย่านข้าวสาร ต่างชาติดับ 3 เจ็บ 5 ราย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เพลิงไหม้โรงแรม The Ember Hotel ถนนตานี เขตพระนคร

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.