หลังจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพุธที่ 1 มิ.ย.นี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีข่าวว่าชัชชาติและทีมงานจะเดินทางเข้าศาลา กทม. เสาชิงช้า ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ทำให้หลังจากนี้จึงน่าติดตามจังหวะก้าวเดินทางการเมืองของ ดร.ชัชชาติ ในการ บริหารเมืองหลวง-กรุงเทพมหานคร ช่วง 4 ปีต่อจากนี้
เพราะแน่นอนว่า ด้วยกระแสฟีเวอร์ที่ชัชชาติได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียง 1,386,215 คะแนน ช่วงแรกๆ โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกอาจจะเป็นช่วงฮันนีมูนพีเรียด ที่คน กทม.ที่เลือกชัชชาติและไม่เลือกยังพร้อมจะให้โอกาสผู้ว่าฯ กทม.ได้เรียนรู้ศึกษางานและปัญหาของ กทม.ที่มีมากมายไปสัก 6 เดือนก่อน
แม้บางคนอาจบอกว่าให้แค่ 3 เดือนพอ เพราะชัชชาติก่อนหน้านี้ก็ลุยหาเสียงลงพื้นที่ใน กทม. ก่อนการเลือกตั้งมาร่วมสองปี จึงน่าจะรู้ปัญหาหลักๆ ของ กทม.ทั้ง 50 เขตเกือบหมดแล้ว เข้าห้องทำงานที่ศาลาว่าการ กทม.ก็น่าจะทำงานได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามาเรียนรู้งานอะไรอีก
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกๆ บรรดา FC แฟนคลับของชัชชาติคงพร้อมใจกันเอาใจช่วยและสนับสนุนการทำงานของชัชชาติก่อน แต่หากทำงานไปได้สัก 6 เดือนแล้วยังไม่มีผลงานอะไรเด่นๆ เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงร่วม 200 นโยบาย ภายใต้คอนเซ็ปต์ กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ที่ยังไง 6 เดือนแรกมันก็น่าจะเห็นนโยบายที่หาเสียงไว้บางส่วนถูกผลักดันออกมาให้เห็น จับต้องได้ อีกทั้งปัญหาเดิมๆ ของ กทม. ก็เชื่อว่าคน กทม.ต่างก็คาดหวังให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องสะสางให้ดีขึ้น เช่น ปัญหาน้ำท่วมหลังฝนตก ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาขยะตกค้าง การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ด้วยการติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่มขึ้นในพื้นที่ กทม. เป็นต้น
ที่เชื่อเถอะว่าปัญหาเหล่านี้ คน กทม.ต้องเร่งและคาดหวังให้ชัชชาติเข้ามาดูแลและทำให้ดีขึ้นโดยเร็ว เพราะหากผ่านไป 3 เดือนแล้ว ปัญหาหลายอย่างของ กทม.ยังไม่ได้รับการแก้ไข และนโยบายหลายเรื่องที่เคยหาเสียงไว้ไม่มีความคืบหน้า รับรองว่าชัชชาติต้องโดนวิจารณ์อย่างหนักและถูกตั้งคำถามว่า เป็นของจริงหรือของปลอม, ทำงานเป็นไหม หรือดีแต่โฆษณาหาเสียงสร้างภาพ"
สำหรับสิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้หลังชัชชาติเข้าไปบริหารงาน กทม. และการที่ศาลาว่าการ กทม.จะมี ขั้วอำนาจใหม่ ทางการเมือง หลังหมดยุคผู้บริหาร กทม.และสภา กทม.ที่มาจากการลากตั้งในยุค คสช. แต่มาวันนี้ทั้งผู้ว่าฯ กทม.และสภา กทม.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จึงทำให้ขั้วอำนาจใหม่ในศาลาว่าการ กทม.เกิดขึ้นแล้ว
ทำให้การเมือง-การบริหารงานใน กทม.มีจุดที่ต้องติดตามอย่างน้อยๆ ก็ 3 เรื่องคือ
1.การจัดทัพ-ฟอร์มทีมแบ็กอัปทีมงานการเมืองที่จะมาช่วยชัชชาติ-จุฬาฯ คอนเน็กชันพรึ่บศาลาว่าการ กทม.
โดยเฉพาะตำแหน่งหลัก รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ตอนนี้มีความชัดเจนบ้างแล้วในบางรายชื่อ เช่น จักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองปลัด กทม. และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ตอนยุค พล.ต.อ.อัศวิน ตัวจักกพันธุ์ลาออกเพราะไม่ยอมเซ็นอนุมัติโครงการเตาเผาขยะหมื่นล้านที่หนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ที่พบว่าพอมีข่าวจักกพันธุ์จะมาร่วมงานกับ ดร.ชัชชาติ ก็มีกระแสตอบรับในทางบวกจากข้าราชการ กทม.จำนวนมาก เพราะมองว่าจักกพันธุ์เป็นข้าราชการมือสะอาดและทุ่มเททำงาน น่าจะเป็นมือทำงานคนสำคัญของ ดร.ชัชชาติแน่นอน
ส่วนรองผู้ว่าฯ กทม.อีกสามคนยังไม่ชัดเจนว่าจะมีใครบ้าง บางกระแสบอกว่าอาจมีชื่อ วิศณุ ทรัพย์สมพล อดีตรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คุ้นเคยกับชัชชาติเป็นอย่างดี จะเข้ามาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ด้วย ในฐานะ จุฬาฯ คอนเน็กชัน เพราะทั้งสองคนเคยเป็นอาจารย์และผู้บริหารที่จุฬาฯ และอาจมีชื่อ ต่อศักดิ์ โชติมงคล อดีต ผอ.โรงงานยาสูบ รุ่นพี่วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ของชัชชาติ มาเป็นทีมงานคณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ให้อีกคน ส่วนจุฬาฯ คอนเน็กชันอีกคนที่ หลายคนบ่นเสียดาย เพราะเจ้าตัวไม่อยากลาออกจากงานเอกชนของครอบครัวมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม "ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์" รุ่นน้องคนสนิทและมือขวาของชัชชาติ แม้จะไม่ได้มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็จะช่วยงานเป็นทีมยุทธศาสตร์ผู้ว่าฯ กทม.เพื่อทำงานเป็นแบ็กอัปให้ข้างหลัง เป็นต้น โดยคาดกันว่าชัชชาติจะเปิดตัวทีมงานทั้งหมดในวันที่ 1 มิ.ย.
2.การจัดทัพชิงอำนาจในสภากรุงเทพมหานคร
ซึ่งตอนนี้ทาง กกต.ได้รับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก.แล้ว 45 คนจาก 50 คน ทำให้ต้องติดตามกันว่าสุดท้ายแล้วเพื่อไทยจะเสนอชื่อใครเป็น ประธานสภา กทม.
หลังตอนนี้มีข่าวว่ามีสองตัวเต็งในเพื่อไทยกำลังลุ้นเก้าอี้ประธานสภา กทม.กันอยู่ คือ เนาวรัตน์ อยู่บำรุง ส.ก.หนองแขม 7 สมัย น้องชายเฉลิม อยู่บำรุง แกนนำเพื่อไทย ที่หมายมั่นปั้นมือว่ารอบนี้ต้องการเป็นประธานสภา กทม.ให้ได้ ขณะที่มีข่าวว่าฝ่ายเจ๊แจ๋น พวงเพ็ชร ชุนละเอียด และวิชาญ มีนชัยนันท์ สองแกนนำเพื่อไทยสาย กทม.ต้องการดันวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.มีนบุรี น้องวิชาญ เป็นประธานสภา กทม.
ก็ต้องดูกันว่า บ้านใหญ่ริมคลองสายอยู่บำรุง กับ บ้านใหญ่บางเขน วิภาวดีฯ 60 ของเจ๊แจ๋น ใครจะดันคนของตัวเองเข้าวินได้เป็นประธานสภา กทม.
3.การผลักดันนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ รวมถึงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ หลังจากนี้
โดยเฉพาะโครงการที่ถูกจับตามองอย่าง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ชัชชาติเคยแสดงจุดยืนไว้ตอนหาเสียงว่าไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานให้กลุ่มบีทีเอสออกไปอีก 30 ปี
ขณะเดียวกัน กทม.ในยุคชัชชาติกับงบประมาณก้อนใหญ่ ที่ กทม.ได้รับการจัดสรรไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ที่สภากำลังพิจารณาอยู่ พบว่าปี 2566 กทม.ได้งบทั้งสิ้น 22,284,292,200 โดยได้เพิ่มจากปีที่แล้ว 2565 ที่ได้ 20,634,724,200 เท่ากับว่าชัชชาติจะมีเม็ดเงินงบประมาณที่จะได้บริหารในมือแบบเต็มสตรีมตั้งแต่ 1 ต.ค.ปีนี้ร่วม สองหมื่นสองพันล้านบาท ไม่นับรวมกับงบที่ กทม.จัดเก็บเองจากส่วนต่างๆ จึงน่าสนใจว่าการใช้งบประมาณของชัชชาติในการไปทำนโยบายต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้ จะเลือกนโยบายใดมาทำก่อน และจะทำได้สำเร็จหรือไม่ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้
4 ปีบนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ของชัชชาติจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ ทำงานได้อย่างราบรื่น มีแต่เสียงชื่นชม หรือสุดท้ายคน กทม.จะพากันบ่นผิดหวังที่เลือกคนผิดมาบริหารเมืองหลวง บอกได้เลยว่าทุกย่างก้าวของชัชชาติจะถูกเอกซเรย์นับแต่บัดนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1