กางร่าง พ.ร.บ.งบปี 66 จับตางบกลาง-กห.แก๊ง 'สวิงโหวต'

วันนี้ จับตาความร้อนแรงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท วาระที่ 1 รับหลักการ

ฝ่ายค้านโหมโรงเตรียมชำแหละ “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม จากพรรคเพื่อไทย ปล่อยหมัดแรกอัดร่าง พ.ร.บ.งบปี 66 ฉบับขอทานเลี้ยงวันเกิด

ด้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ระบุว่า การจัดงบประมาณแผ่นดินในการบริหารราชการสำหรับปี 66 และตั้งเป้าจัดเก็บรายได้เกินความเป็นจริง เป็นตัวเลขอุปโลกน์

ฝ่ายค้านส่งสัญญาณชัดเจน “ไม่รับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ.งบปี 66 แน่นอน ทว่าเมื่อคราวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบ ปี 65 วาระแรก รับหลักการ ฝ่ายค้านก็ลงมติไม่เห็นชอบ 201 คะแนน ส่วนเสียงเห็นชอบ 269 คะแนน

แม้แต่อดีตสหาย รุ่นก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ “สันติ กีระนันทน์” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า งบปี 66 มีเรื่องที่ต้องท้วงติง 8 เรื่อง 1.รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายและพลาดเป้าทุกปี เป็นภาระหนี้สาธารณะที่กู้มามากกว่าที่คาดไว้ 2.โครงสร้างการจัดสรรงบไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ตั้งแต่ปี 2563-2566 โดยปี 64-65 มีโควิด-19 ดังนั้นงบปี 66 จะต้องฟื้นฟู แต่กลายเป็นการทำงบแบบรูทีน 3.งบให้หน่วยรับ คือ กระทรวง ทบวง กรม ที่ได้รับเป็นงบบุคลากร แสดงให้เห็นว่าติดหล่ม 4.รายจ่ายลงทุน 21.28% รวมค่าตอบแทบคนทำโครงการ แต่แยก 15.46% เป็นงบลงทุนสินทรัพย์ ที่สร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งน้อยมาก จึงเป็นเหตุให้ตั้งงบ 3.185 ล้านล้านบาท 

5.งบที่เป็นเงินอุดหนุน 35-26% ทำให้ตรวจสอบยาก และเป็นงบกระทรวง 60.55% 6.งบกลางกว่า 590 ล้านบาท หรือ 18.54% ที่แก้ฉุกเฉิน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง 7.ส่วนงบบูรณาการเกือบ 7% ใน 15 แผนงาน แต่เป็นการซุกงบที่จะไม่เห็นในหน่วยงานรับ และ 8.งบซื้ออาวุธ จะไปอยู่ในยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถกองทัพ เกือบ 6 หมื่นล้านบาท ใน 3 เหล่าทัพ และยังมีแผนระยะยาว กว่า 4 แสนล้านบาท ใน 10 ปี แม้ประเทศต้องมีความมั่นคงทางทหาร แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ควรลด แล้วนำงบไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประชาชนทำกินก่อน

สิ่งที่ต้องจับตา นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เกมในสภาฯ ยังเป็นส่วนสำคัญ ทีเด็ดทีขาดอยู่ที่การโหวตรับหลักการ โดยเฉพาะ “กลุ่มสวิงโหวต” เหมือนที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กล่าวไว้ว่า “ฝ่ายค้านมี ส.ส.อยู่ 206 เสียง ส่วนฝ่ายรัฐบาลมีอยู่ 230 กว่าๆ แต่ไม่เกิน 240 เสียง แม้จะมีเสียงต่างกัน 30 กว่าเสียง แต่สถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลจะประมาทไม่ได้ ต้องจับตากลุ่มสวิงโหวตคือ พรรคเศรษฐกิจไทยและพรรคเล็กต่างๆ จะลงมติไปทางใด ยังประเมินไม่ออกว่ากลุ่มนี้จะเทคะแนนไปให้ฝ่ายใด”

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายงบปี 66 ในวาระแรกนี้ จับสัญญาณฝ่ายค้านพุ่งเป้าถล่ม งบกลาง และ งบจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม ซึ่ง งบกลาง เสนอขอรับการจัดสรรมากที่สุด วงเงิน 590,470,000,000 บาท โดย อันดับที่ 1 เป็นเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ วงเงิน 322.790,000,000 บาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 12,198 ล้านบาท อันดับที่ 2 เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 92,400,000,000 บาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 3,400 ล้านบาท

อันดับที่ 3 ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ วงเงิน 76,000,000,000 บาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 2,000 ล้านบาท อันดับที่ 4 เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ วงเงิน 75,980,000,000 บาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 3,610 ล้านบาท อันดับที่ 5 เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 10,000,000,000 บาท โดยลดจากปี 65 จำนวน 1,547 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมงบรายจ่ายกระทรวงกลาโหม เสนอขอจัดสรรงบ วงเงิน 197,292 ล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเสนอวงเงิน 9,238 ล้านบาท เพิ่มจากปี 65 จำนวน 86 ล้านบาท กองทัพบก วงเงิน 96,573 ล้านบาท โดยลดจากปี 65 จำนวน 3,039 ล้านบาท และมีการจัดสรรให้กับงบรายจ่ายบุคลากร 60,237 ล้านบาท กองทัพเรือ วงเงิน 40,322 ล้านบาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 115 ล้านบาท และมีการจัดสรรให้กับงบรายจ่ายบุคลากร 21,511 ล้านบาท  

กองทัพอากาศ วงเงิน 36,112 ล้านบาท โดยลดจากปี 65 จำนวน 1,681 ล้านบาท และมีการจัดสรรให้กับแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ มากที่สุด 18,084 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย วงเงิน 14,541 ล้านบาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 57 ล้านบาท และมีการจัดสรรให้งบรายจ่ายบุคลากร 7,120 ล้านบาท และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ วงเงิน 504 ล้านบาท โดยเพิ่มจากปี 65 จำนวน 415 ล้านบาท

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อโหวตผ่านวาระหนึ่งแล้ว ยังต้องลุ้นในชั้นกรรมาธิการว่าจะปรับลด ปรับเพิ่มอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย

ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’

สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’