100 วันอันตราย เดิมพัน-ชะตากรรม ประยุทธ์

หากนับตามช่วงเวลา การบริหารงานของรัฐบาล บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ครบเทอม จะไปครบกำหนดในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ถ้านับจากช่วงเวลานี้ เหลือเวลาประมาณ 10 เดือน ประมาณ 300 วันเท่านั้น แต่เมื่อหันไปมองความกระเหี้ยนกระหือรือพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้าม ดูเหมือนจะทนรอไม่ไหว อยากจะขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ให้พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ได้โดยเร็ว

นับจากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณ ข่มขู่รัฐบาลประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐทันที กางดูไทม์ไลน์ การประชุมสภาในสมัยนี้ ที่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องสำคัญๆ วัดพลังกันด้วยจำนวนเสียง ที่มีผลต่อชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา   

วันที่ 31 พ.ค., 1-2 มิ.ย. ที่ประชุมสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงินกว่า 3.18 ล้านล้านบาท

วันที่ 9-10 มิ.ย. ที่ประชุมสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระที่ 2-3 

ถัดมาอีกสัปดาห์ จะมีการประชุมร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 

กลางเดือนมิถุนายน หรือปลายเดือนมิ.ย. ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเข้าชื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อประธานสภาฯ จากนั้นใช้เวลาประมาณ 15 วัน ในการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ และรายชื่อผู้ยื่นญัตติ ครบถ้วน ถูกต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากนั้นจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งคนที่จะโดนอย่างแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ หัวหน้ารัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นจะโดนอีกกี่คน ใครบ้าง ยังต้องรอให้ พรรคร่วมฝ่ายค้านหารือกันให้ตกผลึก  แล้วสรุปจำนวยรายชื่อรัฐมนตรีอีกครั้ง

ต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ที่แบ่งกันมองต่างมุม 2 ขั้วความคิด ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 24 ส.ค.2565 กับอีกฝ่ายที่มองว่า ยังไม่ครบ แต่จะไปครบในปี 2570 

ว่ากันว่า ปลายสิงหาคมหรือต้นกันยายน จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สถานภาพ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ออกมา 

ยังไม่นับรวมเสถียรภาพรัฐบาลพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จังหวะเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกจับจ้องในการกระทำทุกฝีก้าว ขณะเดินทาง นั่งอยู่บนเครื่องบิน เพื่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ระหว่างวันที่ 25-27พ.ค. ช่วงอ่านหนังสืออยู่ แต่กลับไม่มีตัวอักษร ก็โดนขั้วตรงข้าม นักรบไซเบอร์ จิกกัด 

จนเจ้าตัวออกมาตัดพ้อ "ทำไมหาเรื่องว่าได้ทุกเรื่อง ไม่รู้เป็นอะไรกัน บ้านเมืองประเทศไทย"

ก่อนหน้า เป็นประธานการเปิดงาน การสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนน “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง “รถติดก็ดีอยู่อย่าง ถนนที่ติด รถมันติด อุบัติเหตุก็น้อย ไม่ตาย อย่างน้อยก็ไม่ตาย เพราะรถวิ่งเร็วไม่ได้ไง” 

โดนเกรียนคีย์บอร์ด และนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ตอกกลับอย่างเจ็บแสบ เรื่องราวในโลกโซเชียลก็ว่ากันไป แต่เรื่องราวที่น่าทำให้หนักใจอีกเรื่อง คงหนีไม่พ้นปมประเด็นการเมือง 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ส่งสัญญาณ ขู่ไปถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2566 ในวันที่ 31 พ.ค., 1-2 มิ.ย. 

"ถ้าสภาไม่ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ จะส่งผลถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ซึ่งมีทางเลือก 2 ทาง คือยุบสภาหรือลาออก แม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะไม่ผ่าน ก็สามารถใช้งบประมาณเดิมคือ พ.ร.บ.งบฯ 2565 ไปพลางก่อน เว้นแต่เป็นเรื่องงบลงทุนที่จะสร้างใหม่ ดังนั้นแผนงานโครงการต่างๆ ที่เป็นเรื่องประจำก็สามารถทำได้ต่อ แต่ไม่อนุญาตให้นำงบไปลงทุนในสิ่งที่เห็นว่าไม่ชอบ ถ้าหากปล่อยไปอาจจะกระทบต่อพี่น้องประชาชนมากกว่า นี่เป็นทางเลือกที่จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะการไม่ให้ผ่านอาจจะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า แล้วปล่อยให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาจัดสรรงบประมาณแทน" 

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า 

ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการวิเคราะห์อย่างละเอียด และมีความเห็นตรงกันว่า ยังไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เราคิดว่างบประมาณฉบับนี้เหมือนเรียกว่า ขอทานจัดงานเลี้ยง ขอทานเลี้ยงวันเกิดดีกว่า เพราะในสภาพที่ประเทศยากจน ไม่มีเงิน ลำบาก ฐานะการคลังถดถอยย่ำแย่ลง ต้องไปกู้มา แต่ดูการจัดสรรงบประมาณแล้ว ไม่มีช่องทางใดที่ทำให้เกิดรายได้ การอัดฉีดทุกอย่างเป็นแค่การกระตุ้นบริโภค ไม่มีการกระตุ้นการผลิต เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมได้ตามเป้าแน่นอน”

พรรคเพื่อไทย ได้ใจจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พันธมิตรการเมืองที่ส่งแรงใจไปเชียร์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายกว่า 1.3 ล้านคะแนน สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ก็กวาดที่นั่งในสภา กทม.ได้มากสุดถึง 20 ที่นั่ง จากทั้งหมด 50 ที่นั่ง

ทักษิณ ชินวัตร ส่งสัญญาณตรงกวนใจ มาถึงรัฐบาลประยุทธ์และองคาพยพมาเป็นระยะๆ ผ่านช่องทางคลับเฮาส์ในทุกสัปดาห์ และยังคงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ตั้งแต่โดดลงสนามการเมือง เดินสายตระเวน เยี่ยมเยียนสมาชิกพรรคเพื่อไทยในหลายจังหวัด ล่าสุด ในเดือน มิ.ย. จะไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในจังหวัดแถบอีสานใต้ สุรินทร์ ที่กำลังโดนพรรคภูมิใจไทยรุกไล่เข้ามาอย่างหนัก และศรีสะเกษ ที่เพิ่งโดนภูมิใจไทยกวาดต้อน ส.ส.ออกไปจากพรรคยกจังหวัด จะลงไปออดอ้อน ขอคะแนนสงสาร ตรึงความเชื่อมั่น ศรัทธาชาวบ้าน ไม่ให้เอาใจออกห่างเพื่อไทย  

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย สถานะทางนิตินัย คือพรรคที่อยู่ในปีกรัฐบาล แต่ในทาง พฤตินัย อย่างที่ทราบๆ กัน ธรรมนัส ฝังรอยแค้น บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ ถึงขนาดคิดรวมเสียง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน โค่นประยุทธ์กลางสภา ในสมัยการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ก็เคยทำมาแล้ว 

ธรรมนัสกำลังจะก้าวขึ้นไปนั่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อกุมบังเหียนทิศทางพรรค และ 16 เสียง ส.ส.เศรษฐกิจไทย และยังประสาน ‘พิเชษฐ สถิรชวาล’ แกนนำกลุ่ม 16 ที่เพิ่งรวบรวมรายชื่อ ส.ส. ที่มาจากพรรคเล็ก ส.ส.กลุ่มงูเห่าอีกหลายพรรค จัดตั้งเป็นกลุ่ม 16+2 รวมเสียง 18 ส.ส. ยังไม่นับรวมกลุ่มฝากเลี้ยง ที่มีอยู่ในอีกจำนวนหนึ่ง ที่แฝงตัวใน พรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังไม่เคยงัดออกมาใช้อีกจำนวนหนึ่ง

ว่ากันว่า ธรรมนัสมีมากกว่า 40 ส.ส. ที่ส่งสัญญาณ คอนโทรลให้ซ้ายหัน ขวาหัน ได้ด้วยพลังปัจจัยกระสุนดินดำ 

ถึงขนาดที่เจ้าตัวโวลั่นกลางวงแถลงข่าวว่า 

"เสียงของเราเป็น ส.ส.อยู่ในสภา 16 เสียง เป็นเสียงที่มีความสำคัญ และเสียงในมือผม ไม่ได้มีเพียงแค่ 16 เสียง หากฟังท่านพิเชษฐ (สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้ากลุ่ม 16) ให้สัมภาษณ์ก็จะทราบชัดเจนว่าผมมีเสียงจากที่อื่นอีกเยอะ"

และยังฝากไปถึงรัฐมนตรีในรัฐบาลพลังประชารัฐบางคน  มีข้อมูล หลักฐานแน่น ระวังจะตกเก้าอี้ไม่รู้ตัว   

ความสัมพันธ์ รอยร้าว พล.อ.ประวิตร ไม่ค่อยลงรอยทางความคิดเห็นกับ พล.อ.ประยุทธ์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีการจับตามองวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จากเดิมที่มองกันว่า ไม่น่ามีปัญหา แต่ในมุมที่อาจจะเกิดเหตุ บิ๊กเซอร์ไพรส์ ฟ้าผ่ากลางทำเนียบฯ ทำให้นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 จะขึ้นมารักษาการแทนทันที อย่างน้อยก็อยู่ยาวไปจนครบเทอม มี.ค.2566

ยังไม่นับรวมกระแสข่าวลือ ข่าวแพร่สะพัด ด้วยสายสัมพันธ์อันดี พล.อ.ประวิตร ที่มีไปถึงหลังบ้านจันทร์ส่องหล้า ถูกจับเชื่อมโยงการเดินเกม ประสานงานสอดรับซึ่งกันและกัน เป็นดีลพิเศษ ที่มีทั้ง การดีลกันภายในและภายนอกประเทศ  

เริ่มมีการพูดกันอย่างหนาหู การเปิดดีลลับจับมือกันเฉพาะกิจ ‘ประวิตร-ทักษิณ-ธรรมนัส-เพื่อไทย’ เพื่อร่วมกัน โค่นอำนาจประยุทธ์ ที่กำลังทำให้คนไทยเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่กำลังแผ่ขยาย สร้างผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่ ศรัทธา ความน่าเชื่อถือ เสื่อมถอยลงทุกวัน จนกู่ไม่กลับ สร้างความเอือมระอา บริหาร 8 ปี อำนาจล้นมือ แต่ทำให้ ประเทศย่ำอยู่กับที่ ไม่มีการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง อย่างที่ได้ สัญญาประชาคม 

หากจะนับจำนวนเสียง ฝ่ายค้าน รัฐบาล ตามฐานข้อมูลเดิม 208:264 ห่างกันประมาณ 56 เสียง แต่ในจำนวนนี้ ยังไม่ได้หักจากกลุ่ม ส.ส.งูเห่า ในขั้วรัฐบาล กลุ่มพรรคเล็ก และกลุ่มธรรมนัส ที่ว่ากันว่ารวมกันได้ประมาณ 40 เสียง ขณะเดียวกัน ในซีกฝ่ายค้าน ก็เพิ่งมีปฏิบัติการแปรพักตร์ ที่มีทั้งขั้วศรีสะเกษในเพื่อไทย และกลุ่มงูเห่าที่แฝงตัวไปอยู่ไว้ในขั้ว รัฐบาลเช่นกัน จึงอาจทำจำนวนเสียงยัง สวิงไปมาได้อยู่ราวๆ ประมาณ 40 เสียงบวกลบ ที่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญ 

มิถุนายน ไปถึงกลางกันยายน ระยะเวลา 3 เดือนกว่า ถือเป็น 100 วันอันตราย ที่แต่ละห้วงเวลา ล้วนเดิมพันไปถึงชะตากรรมประยุทธ์ บนบัลลังก์ประมุขฝ่ายบริหาร ปฏิทินการเมืองนับจากนี้เป็นต้นไป คงต้องจับตามองกันช็อตต่อช็อต   ชนิดห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย