แม้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเชื่อมั่นว่าปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถชี้วัดการเลือกตั้งใหญ่ ด้วยความคิดที่ว่า กทม.เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งเท่านั้น
“ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้น ไม่สะท้อนอะไรกับผม พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลผม พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”
แต่ดูเหมือน "บิ๊กตู่" จะเป็นส่วนน้อยที่คิดแบบนั้น เพราะแม้แต่คนในพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาลเอง หลายคนยังยอมรับว่า การเมืองใหญ่ส่งผลต่อการตัดสินของคนกรุงในครั้งนี้
จริงที่ว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจมีผลต่อคะแนนผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) บ้าง แต่หากเทียบกับปริมาณ ส.ส.กทม.ของพรรคเมื่อการเลือกตั้งมีนาคม 2562 ที่ได้มากที่สุดถึง 12 เก้าอี้ พรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันคือ พรรคก้าวไกล) 9 เก้าอี้ และพรรคเพื่อไทย 9 เก้าอี้
รวมถึงเอาคะแนนรวมของแต่ละพรรคที่ได้ใน กทม. เมื่อเดือนมีนาคม 2562 มากางเทียบ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐได้ 7.9 แสน พรรคอนาคตใหม่ 8 แสน พรรคเพื่อไทย 6 แสน พรรคประชาธิปัตย์ 4.7 แสน ต้องถือว่า พรรคพลังประชารัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่เพิ่งผ่านมาราว 3 ปีเท่านั้น
จาก ส.ส. 12 ที่นั่งในเมืองหลวง แต่กลับมี ส.ก.ได้รับชัยชนะเพียง 2 เก้าอี้ ตรงกันข้ามกับพรรคก้าวไกล ที่นอกจากจะไม่แผ่วแล้ว ยังได้ ส.ก.มากถึง 14 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้มากที่สุด 20 ที่นั่ง
ในขณะที่ ส.ก. 2 ที่นั่ง คือ เขตดินแดง และเขตหนองจอก ที่พรรคพลังประชารัฐได้รับชัยชนะ ไม่ได้เกิดจากกระแสพรรคแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะตัวผู้สมัครคือ นางอนงค์ เพชรทัต ที่เป็นอดีต ส.ก.หลายสมัยตั้งแต่พรรคไทยรักไทย มีฐานเสียงที่หนาแน่นในดินแดงเป็นทุนเดิม
เช่นเดียวกับเขตหนองจอก ที่ "ตระกูลรัสมี" แข็งแรงในพื้นที่ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตประธาน ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยมาก่อน ทำพื้นที่มานาน ทำให้นายณรงค์ รัสมี เข้าวินแบบไม่ยากเย็น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มันมีสัญญาณถึงความนิยมของพรรคพลังประชารัฐที่มีภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงมาต่อเนื่องใน กทม. โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. หลักสี่-จตุจักร แทนนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ที่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.เพราะขาดคุณสมบัติ
แม้คู่แข่งของพรรคพลังประชารัฐจากพรรคเพื่อไทยในสนามดังกล่าว อย่างนายสุรชาติ เทียนทอง จะเป็นอดีต ส.ส.เก่า ไม่เคยทิ้งพื้นที่ แต่หากดูคะแนนอันดับ 1 และ 2 คือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะพบว่าทิ้งห่างนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐหลายช่วงตัว
พรรคพลังประชารัฐตกไปอยู่ที่ 4 ตามหลังผู้สมัครจากพรรคกล้า พรรคน้องใหม่ใน กทม.ด้วยซ้ำ
เพียงแต่ตอนนั้น พรรคพลังประชารัฐอาจจะมีข้ออ้างเรื่องพฤติกรรมของนายสิระในช่วงดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส่งผลให้ภรรยาพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดว่า เป็นเรื่องกระแสภาพรวม
และหากจะบอกว่า พรรคร่วมรัฐบาลล้มเหลวทั้งหมดคงไม่เชิงนัก เพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ยังกู้หน้าคืนมาได้บ้าง โดยได้ ส.ก.กลับมา 9 ที่นั่ง ในขณะที่นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคก็ได้อันดับ 2
แม้ถือว่ายังน้อยกับพรรคที่เคยได้ ส.ก.มากถึง 45 คน แต่หากเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ที่ไม่ได้ ส.ส.เลยสักคนเดียว จึงไม่ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐใน กทม.ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และมีโอกาสจะซ้ำรอยกับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เพราะต้องยอมรับว่า ส.ก.คือ กุญแจสำคัญที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ กวาด ส.ส.มาได้ถึง 12 ที่นั่งในครั้งก่อน
ส.ส.หลายคนของพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน ล้วนเป็นอดีต ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่วันนี้เสียพื้นที่ไปให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ขณะที่บางเขตเจอพรรคประชาธิปัตย์ทวงคืนสำเร็จ
และหากพรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่า กระแสตัวเองยังดี คงตัดสินใจส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือประกาศสนับสนุนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดคนหนึ่งให้ชัดเจนไปเลย
เหตุผลที่ว่าหาตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สาเหตุลึกๆ เป็นเพราะ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รู้ถึงสถานการณ์ของพรรคในทางการเมืองดี
นอกจากกระแสของรัฐบาลที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่ประสบความสำเร็จในสนาม ส.ก.แล้ว ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอาจเป็นความตั้งใจของผู้มีอำนาจในพรรคเอง
มีการมองกันว่า ระดับ "บิ๊กป้อม" หากเอาจริงเอาจังกับสนาม ส.ก. แม้พรรคพลังประชารัฐอาจไม่ได้มากที่สุดใน กทม.ก็จริง แต่จะไม่น้อยแค่ 2 ที่นั่งอย่างที่เห็นแน่นอน
มันน่าแปลกใจตั้งแต่การเอา "เสี่ยโต" อภิชัย เตชะอุบล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแม่ทัพใหญ่ในตำแหน่ง ผอ.การเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรคแล้ว ทั้งที่เพิ่งย้ายพรรคมาและไม่มีประสบการณ์ กทม.เมื่อเทียบกับ ผอ.พรรคอื่น
ขณะที่ "บิ๊กป้อม" เอง เมื่อแต่งตั้ง "เสี่ยโต" เสร็จก็เหมือนจะปล่อยมือ ดูไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ส.ก.สักเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นพรรคที่มี ส.ส.เมืองหลวงมากที่สุด
จนถูกตั้งคำถามว่า ตั้งใจที่จะให้ใครบางคนเห็น "ความจริง" เพื่อให้ยอมรับว่า ไปต่อไม่ได้แล้วหรือไม่?
เพราะที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "บิ๊กตู่" เองมักเชื่อข้อมูลจากคนรอบข้าง จนบางครั้งไม่ยอมปรับหรือยอมรับฟังข้อมูลที่เป็นความจริงแต่แสลงใจ
ชัยชนะของ "ชัชชาติ" และชัยชนะของ ส.ก.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลในเมืองกรุง จึงอาจถูกใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญในอนาคต สำหรับการเลือกผู้ถือธงนำคนใหม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย