ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าไม่พลิกโผ ไม่มีหักปากกาเซียน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 1.3 ล้านคะแนน จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทางการเลือกตั้งในสนามเมืองหลวง ได้คะแนนมากกว่าผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนที่เคยมีมาแล้ว 16 คน
โดยคะแนนของชัชชาติทิ้งขาดผู้ตามอย่างไม่เห็นฝุ่น ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ อันดับ 1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ได้คะแนน 1,386,215 คะแนน
อันดับ 2 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ 254,647 คะแนน อันดับ 3 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ได้ 253,851 คะแนน อันดับ 4 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครในนามอิสระ ได้ 230,455 คะแนน อันดับ 5 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ ได้ 214,692 คะแนน
ผู้ชนะชัชชาติได้รับคะแนนท่วมท้น มีเวลาเตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมความพร้อมมากว่า 2 ปี หลังจากตัดสินใจชัด เลือกลงรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ มีเวลาเตรียมงาน ทั้งรูปแบบการหาเสียง แนวคิด นโยบาย การสื่อสาร ทีมงาน ลงไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ป้ายหาเสียงรถใหม่ การหาเสียงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การวางแผนลงไปในแต่ละรายละเอียด ผ่านการวิเคราะห์เจาะลึก ลงถึงพฤติกรรม ความต้องการผู้คน กลั่นออกมาเป็นนโยบาย ที่สื่อสารได้อย่างตรงกลุ่ม ตรงเป้าหมาย แนวคิด วิธีการ การวางตัว การพูด การใช้กิมมิกเฉพาะตัว บางเรื่อง บางเวลา แต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มคน ล้วนผ่านการ สังเคราะห์ เตรียมงานมาเป็นอย่างดี
ภาพในอดีต ชัชชาติ คือหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เกิดกระแสโจมตี ตั้งคำถาม ชัชชาติแยกตัวมาลง “อิสระ” จะมีความอิสระจริงหรือไม่ แต่สุดท้ายผ่านพ้นมาได้ ช่วงโค้งสุดท้ายถูกขุดเรื่องราวทางลบ ตามที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะยังเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ จากการชุมนุมทางการเมืองในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เข้าข่ายทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องราวหลายสิบปีก่อน แต่ก็ไม่ได้สร้างความระคายเคือง ส่งผลต่อคะแนนเสียง
หลังได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ชัชชาติปักธงเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของทุกคน ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่ได้เลือก พร้อมกับ ประกาศถึงแนวทางการทำงาน
- พร้อมร่วมงานกับ ส.ก.ทุกคน ทุกพรรคการเมือง จะไม่ทำให้ชาว กทม.ผิดหวัง
- จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ขอให้เดินไปด้วยกัน ทุกฝ่ายจะมาร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ไปด้วยกัน ในอีก 4 ปี
- 3 สิ่งแรกที่จะทำทันทีคือ การหารือกับข้าราชการ กทม. เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย จัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไข และปัญหาปากท้องประชาชน
- ฝากข้าราชการ กทม.ช่วยอ่านนโยบายกว่า 200นโยบาย ในเว็บไซต์อย่างละเอียด เพราะสิ่งที่นำเสนอไปเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ
- การแต่งตั้งโยกย้าย ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง สัญญาว่าจะเป็นผู้นำที่ดี ข้าราชการที่ดีไม่ต้องกลัว ข้าราชการไม่ดีเตรียมตัวไว้
ความท้าทายของ ชัชชาติ ในช่วงที่บริหาร กทม. 4 ปี เชื่อว่ามีปัญหารอแก้ไขจำนวนมาก ในศาลาว่าการ กทม. ว่ากันว่า ระบบข้าราชการของ กทม.ขึ้นชื่อถึงความเขี้ยวลากดินมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง นโยบายกว่า 200 นโยบายของชัชชาติ จะสามารถผลักดัน แก้ไข นำเสนอ พัฒนา กทม. ให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด
ท่าทีชัชชาติประกาศเน้นย้ำตลอดการหาเสียง อิสระจริง ไม่มีพรรคการเมืองใด หรือกลุ่มใดเข้ามาแทรกแซง ขณะที่ภาพในอดีตยังคงมีคนปักใจเชื่อ มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย เคยเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และชัชชาติยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคน เป็นอีกเรื่องที่ชัชชาติพยายามสลัดภาพ เว้นระยะห่างออกจากเพื่อไทย
ว่ากันว่าจังหวะย่างก้าวของ ชัชชาติ อาจไม่ได้หยุดเพียงแค่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ยังมีเป้าหมายใหญ่กว่านั้น เหมือนที่เขาเคยได้รับความไว้วางใจ ถูกจัดวางให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
การก้าวเข้ามาบริหาร กทม. เป็นการพิสูจน์ฝีมือ เพราะหากตลอดระยะเวลาแห่งการบริหารงาน ได้รับความเชื่อมั่น ไว้ใจ ถือเป็นบันไดสำคัญในการกำหนดจังหวะย่างก้าวทางการเมืองครั้งสำคัญอีกก้าวหนึ่งในอนาคต
แนวคิดการทำงาน การพัฒนา กทม.ผ่านนโยบาย คำสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาว กทม. จะเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน ทำให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ อยู่ในโฟกัสความสนใจ
ขณะที่จังหวะย่างก้าวต่อไปของชัชชาติก็น่าสนใจ ชัชชาติในวันนี้ ในวัย 56 ปี ปักหมุดสุดท้ายของการทำงานให้กับประเทศ เอาไว้ที่ศาลาว่าการ กทม.เพียงแค่นี้...หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่