วันอาทิตย์นี้ 22 พ.ค. ขอเชิญชวนประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. กันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. รวมถึงคนพัทยา ให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ หลังทั้ง กทม.และพัทยาว่างเว้นจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเป็นเวลาเนิ่นนานหลายปี
สำหรับแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ จนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ถูกจับตามอง มีชื่อปรากฏบนหน้าสื่อบ่อยครั้ง มีด้วยกัน 7 คน เรียงตามหมายเลข ประกอบด้วย
-เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล
-เบอร์ 3 สกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ
-เบอร์ 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์
-เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ
-เบอร์ 7 รสนา โตสิตระกูล สมัครในนามอิสระ
-เบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ
-เบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย
ซึ่งการหาเสียงในช่วงสัปดาห์สุดท้าย เรียกได้ว่าเข้มข้นอย่างมาก ทั้ง ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และสนามเลือกตั้ง ส.ก. 50 ที่นั่ง โดยผู้สมัครแต่ละคนก็มีการเร่งทำพื้นที่ลงหาเสียงอย่างหนัก เพื่อขอคะแนน ควบคู่ไปกับการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียและการไปปรากฏตัวให้สัมภาษณ์และดีเบตตามสื่อต่างๆ ซึ่งบางคนก็ได้คะแนนเพิ่ม บางรายก็คะแนนลด แต่บางรายก็ไม่ได้แต้มเท่าใดนัก เพราะไม่ได้มีจุดขายหรือแนวคิดนโยบายอะไรที่โดดเด่นกินใจประชาชน
จุดสำคัญที่เห็นชัดก็คือ สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แม้จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ก็ยังมีการนำเรื่องการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะ การแบ่งขั้วทางการเมือง เข้ามาในช่วงการหาเสียง จนถึงช่วงโค้งสุดท้าย เพราะผู้สมัครตัวเต็งข้างต้นถูกแบ่งออกเป็นสองปีกอยู่แล้ว
ปีกแรกคือฝ่ายของ ดร.ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา
ปีกที่สอง ประกอบด้วย พล.ต.อ.อัศวิน-สกลธี-ดร.เอ้ สุชัชวีร์ และรสนา
บนหลักการแบ่งคือ ขั้ว ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา คือฝ่ายไม่เอารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เป็นแนวคิดหลักในการแบ่งขั้วการเมือง แล้วก็มีประเด็นปลีกย่อยเข้ามา เช่น กลุ่มสนับสนุนม็อบสามนิ้ว ต้องเลือกวิโรจน์ หรือฝ่ายสนับสนุนทักษิณ เพื่อไทย เสื้อแดง ก็ต้องชัชชาติ เป็นต้น
ขณะที่ขั้วของ พล.ต.อ.อัศวิน-สกลธี-รสนา-ดร.เอ้ ถูกมองว่าคือฝ่ายที่ไม่เอาม็อบสามนิ้ว-ต่อต้านเพื่อไทย ทักษิณ และมีประเด็นอื่นๆ ปลีกย่อยเข้ามาในการแบ่งขั้ว เช่น สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ ก็ต้องเลือกผู้สมัครฝั่งนี้
จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อแต่ละฝ่ายโดยเฉพาะกองเชียร์สองฝั่ง เริ่มเห็นแล้วว่า แต่ละฝั่งก็มีการตัดคะแนนกันเอง จนทำให้สุดท้าย คนของอีกฝั่งอาจเป็นฝ่ายกำชัยชนะ อย่างเช่น ดร.ชัชชาติเอง ก็หวังกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิวโหวตเตอร์ ที่มีสิทธิออกเสียงรอบนี้ร่วม 7 แสนคน ที่จะได้เลือกผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกในชีวิต โดยไม่นับรวมการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
ซึ่งตอนแรกๆ ชัชชาติก็น่าจะได้คะแนนจากกลุ่มดังกล่าวแบบเป็นกอบเป็นกำหลายแสนคน แต่พอพรรคก้าวไกลส่งวิโรจน์ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ตอนแรกก้าวไกลอาจไม่ได้หวังมากนัก คือส่งเพื่อเช็กกระแสพรรคใน กทม. แต่ปรากฏว่ากระแสวิโรจน์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย จนทำให้มีแนวโน้มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก จะหันจากชัชชาติไปเลือกวิโรจน์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับ
"วิโรจน์จะมาตัดคะแนนของชัชชาติไปจำนวนมาก ที่อาจส่งผลให้เป้าหมายคะแนนที่ชัชชาติวางไว้เพื่อให้ชนะแบบม้วนเดียวจบอาจหายไปหลายแสนคะแนน" จนส่งผลให้ ดร.ชัชชาติ ต้องลุ้นหนักให้อีกฝั่ง ก็ต้องตัดคะแนนกันเองจำนวนมากเช่นกัน เพื่อจะได้ทำให้ไม่เกิดล็อกถล่ม ชัชชาติแพ้เลือกตั้งแบบคาดไม่ถึง
การตัดคะแนนกันเองดังกล่าวก็ยังส่งผลมาถึงการเลือกตั้ง ส.ก.เองด้วย เพราะช่วงหลังพบว่า กระแสของวิโรจน์และพรรคก้าวไกลแรงไม่น้อย จนทำให้เป้าหมายของเพื่อไทยที่หวังเก้าอี้ ส.ก. 25 ที่นั่ง สุดท้ายแล้วอาจไม่ถึงเป้า เพราะตอนหลังเกิดกระแสบางอย่างเช่น เลือกชัชชาติ แต่ ส.ก.เลือกก้าวไกล จนทำให้เพื่อไทยที่หวังว่าชัชชาติจะมาช่วยดึงคะแนนผู้สมัคร ส.ก.ของเพื่อไทยให้เกาะตามชัชชาติเข้าสภา กทม.ไปด้วยเริ่มแกว่ง
ทำให้จะเห็นได้ว่า ช่วงหลังเพื่อไทยต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียง ส.ก.อย่างหนัก และทำโดยด่วน โดยเฉพาะการดึงแฟนคลับทักษิณ-เสื้อแดง และนิวโหวตเตอร์ ให้มาเลือกเพื่อไทย โดยส่ง "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร" มาช่วยเดินหาเสียงช่วยผู้สมัคร ส.ก. หรือการขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ของเพื่อไทยที่ลานคนเมือง และการอัดคลิปของแพทองธาร ที่อ้อนชาวกรุงเทพฯ ให้เลือกผู้สมัคร ส.ก.ให้มากที่สุด ตามแคมเปญ เลือก ส.ก. เพื่อให้ชนะแลนด์สไลด์
หลังมีข่าวว่าวอร์รูมเลือกตั้ง ส.ก.เพื่อไทย เช็กโพล์ล่าสุดมีแนวโน้มจะได้ ส.ก.ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้จำนวนมาก!
แต่สุดท้าย กลยุทธ์การหาเสียงดังกล่าวของเพื่อไทยจะได้ผลหรือไม่ ก็ต้องรอติดตามผลเลือกตั้งที่จะออกมา
ซึ่งหากก้าวไกลได้ ส.ก.มากกว่าเพื่อไทย จะยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่า คู่แข่งที่แท้จริงของเพื่อไทย ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพรรคจากฝ่ายด้วยกันเองคือ พรรคก้าวไกล จึงต้องดูว่าท้ายสุดหากผลเลือกตั้งออกมา โดยเพื่อไทยประสบความสำเร็จน้อยกว่า ก้าวไกล คงทำให้แกนนำเพื่อไทยคงต้องกลับมาคิดทบทวนยุทธศาสตร์การหาเสียงใน กทม. และการหาเสียงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้วว่า มีตรงไหนที่เพื่อไทย ยังทำไม่สำเร็จ มองข้ามอะไรไป
การตัดคะแนนกันเองดังกล่าว ก็เกิดกับอีกฝั่งเช่นกัน เพราะทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน-สกลธี-ดร.เอ้-รสนา ต่างก็หาเสียงกันอย่างหนัก ไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะเรื่องการหลีกทางให้กัน ตามกระแสเรียกร้องให้ประชาชนฝ่ายที่เชียร์รัฐบาล-ไม่เอาทักษิณ เพื่อไทย-ต่อต้านม็อบสามนิ้ว เลือกผู้ว่าฯ กทม.ด้วยการ โหวตเชิงยุทธศาสตร์ ที่เรียกกันว่า ไม่เลือกเรา เขามาแน่ ภาค 2 ที่สุดท้าย แม้จะมีความพยายามสร้างกระแสดังกล่าว แต่ดูเหมือนไม่ค่อยมีกระแสตอบรับเท่าใดนัก เพราะบริบทการเมืองแตกต่างไปจากตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 เพราะเลือกตั้งรอดังกล่าวเป็นการสู้กันอย่างเข้มข้น ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทย ที่ตอนนั้น พล.ต.อ.พงศพัศนำโด่งมาทุกโพล แม้แต่ผลสำรวจเอ็กซิตโพล ซึ่งสำรวจจากผู้ใช้สิทธิ์ที่มาลงคะแนนจริงในวันเลือกตั้ง ยังระบุว่าชัยชนะเป็นของพล.ต.อ.พงศพัศ แต่สุดท้ายกลายเป็น สุุขุมพันธุ์ ที่คว้าชัย โดยจะพบว่าการสร้างกระแส ไม่เลือกเรา เขามาแน่ รอบดังกล่าวสำเร็จได้ เพราะเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง 2 ขั้วการเมือง โดยผู้สมัครคนอื่นๆ เป็นแค่ตัวประกอบ ที่สำคัญกระแสต่อต้านทักษิณ มาแรงมาก เพราะตอนนั้นที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ แต่จะพบว่าในสนามเลือกตั้ง ส.ส.เขต กทม. ทางประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้ ส.ส.เขตมากกว่าเพื่อไทย ผนวกกับคนกรุงเทพฯ เมื่อผิดหวังที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและยังมีภาพหลอนจากเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงปี 2552 และปี 2553 ทำให้คนกรุงเทพฯ พร้อมที่จะขวางไม่ให้เพื่อไทยคุม กทม. เพราะรัฐบาลกลาง ยิ่งลักษณ์ก็เป็นนายกฯ อยู่แล้ว
เลยทำให้แม้คนกรุงเทพฯ จะไม่ชอบสุขุมพันธุ์ แต่ก็ต้องยอมทนเลือก เพื่อให้ชนะเพื่อไทย เลยทำให้วาทกรรม ไม่เลือกเรา เขามาแน่ ถึงประสบความสำเร็จ
ทว่ามารอบนี้ 2565 ด้วยบริบทการเมืองที่แตกต่างจากตอนปี 2556 ผนวกกับฝ่ายไม่เอาทักษิณ-เพื่อไทย-ม็อบสามนิ้ว ก็มีคนลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถึง 4 คน และแต่ละคนก็มั่นใจในเสียงหนุนของตัวเอง จึงไม่มีใครยอมใคร ผลก็คือทำให้มีการตัดคะแนนกันเองเยอะ จนส่งผลให้การปั่นกระแส โหวตเชิงยุทธศาสตร์ เลยไม่มีเสียงขานรับเท่าที่ควร จนถึงช่วงวันสุดท้ายของการหาเสียง
แต่สุดท้าย ฝ่ายไหนจะชนะ-แพ้ ก็ต้องรอดูผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในช่วงค่ำวันที่ 22 พ.ค.นี้
ส่วนว่าผลการเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ จะมีผลต่อการเมืองในภาพใหญ่ การเมืองระดับชาติหรือไม่?
วิเคราะห์ได้ว่า มีผลแน่นอน เพราะอย่าง พลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลและเป็นพรรคที่ส่งชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อปี 2562 และอาจส่งอีกครั้งหากพลเอกประยุทธ์ยังคงไปต่อทางการเมือง โดยแม้พลังประชารัฐจะไม่ส่งคนลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ส่งผู้สมัคร ส.ก.ครบ 50 เขต ซึ่งแกนนำก็ตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะได้อย่างน้อย 18-20 เก้าอี้
ดังนั้น หากพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ทำไม่ได้ตามเป้า ได้ ส.ก.เข้ามาน้อย จนเรียกได้ว่า ประสบความล้มเหลวในสนามเลือกตั้งเมืองหลวง ทั้งที่ กทม.เป็นฐานเสียงสำคัญของพลังประชารัฐและเป็นพื้นที่ซึ่งมีกระแส เชียร์ลุงตู่ จำนวนมากก่อนหน้านี้ มันก็ย่อมถูกแปรค่าทางการเมืองได้ว่า กระแสนายกฯ ลุงตู่ใน กทม. เริ่มมีปัญหา รวมถึงการถูกมองว่า คะแนนนิยมพลังประชารัฐ ที่เคยได้ส.ส.เขต กทม.มากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กำลังเข้าสู่ช่วง ขาลง หากเป็นแบบนี้ ทั้งพลเอกประยุทธ์-พลังประชารัฐ-ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ ต้องซีเรียสกันแน่นอน เพราะนี้คือสัญญาณบอกเหตุแล้วว่า กระแสนิยมพลังประชารัฐ กำลังมีปัญหา ต้องยกเครื่องกู้คะแนนนิยมโดยเร่งด่วน แต่กลับกัน หากพลังประชารัฐทำได้ตามเป้า ได้ ส.ก.เข้ามาจำนวนหนึ่ง และเข้ามามากกว่าพรรคอื่นๆ เช่น เพื่อไทย-ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์ ถ้าแบบนี้ ทั้งนายกฯ-พลังประชารัฐ ก็ใจชื้น-ตีปีกทางการเมือง ได้ว่า กระแสนิยมรัฐบาลและพลังประชารัฐใน กทม.ยังดีอยู่
เดิมพันการเมืองของผลแพ้-ชนะ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. วันที่ 22 พ.ค.นี้ จึงสูงไม่ใช่น้อย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ 'เวียดนาม' แล้ว 'ไทยจะทำอย่างไร'
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ทำไม Nvidia บริษัท AI ระดับโลก ไปลงทุนที่ "เวียดนาม" แล้ว "ไทยจะทำอย่างไร" เมื่อ "เวียดนาม" ขึ้นแท่น "ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน"
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน