เหลียวหลังแลหน้า 30 ปี-พฤษภาทมิฬ 35 มุ่งสร้าง "ประชารัฐธรรมนูญ"

วันอังคารที่ 17 พ.ค.นี้ ครบรอบ เหตุการณ์ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่เป็นการเคลื่อนไหวรวมตัวกันของประชาชนเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช.ที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และต่อมาหลังเลือกตั้งปี 2535 ที่เรียกกันว่า เลือกตั้ง 35/1 และหลังเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีต ผบ.ทบ. และอดีตรองหัวหน้า รสช.มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งที่ พลเอกสุจินดา เคยบอกว่าจะไม่เป็นนายกฯ แต่สุดท้ายก็มาเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลพลเอกสุจินดา และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เช่น ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง คือเป็น ส.ส.-ประธานสภาฯ ต้องเป็นประธานรัฐสภา ไม่ใช่มาจากประธานวุฒิสภา เป็นต้น

โดยการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพลเอกสุจินดาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน และต่อมาพลเอกสุจินดาสั่งสลายการชุมนุมที่ตอนนั้นส่วนใหญ่ปักหลักกันที่แถวสะพานผ่านฟ้า-ถนนราชดำเนิน ในช่วงค่ำวันที่ 17 พ.ค.2535 และต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 20 พ.ค. โดยมีประชาชนได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ที่มาถึงตอนนี้ พ.ค.2565 จึงครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองของประชาชน

การจัดงาน 30 ปี ครบรอบเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 ครั้งนี้ ที่จะจัดกันในวันที่ 17 พ.ค. จะมีกิจกรรมกันตลอดทั้งวัน โดยมีรายละเอียดคือ

 ภาคเช้า-กิจกรรมพิธีรำลึก ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ เริ่มต้นในเวลา 08.30 น. ประชาชนร่วมวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35

09.00 น. กิจกรรม 30 ศิลปินวาดประชาธิปไตย และปลูกต้นไม้ 17 ต้น เปิดเพลงสู่เสรี 30 ปี พฤษภาประชาธรรม

09.09 น. พิธีวางมาลา และพิธีรำลึก 30 ปี สดุดีวีรชนพฤษภาประชาธรรม ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวรายงาน ประธานในพิธี ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา วางมาลา และกล่าวเปิดงาน จากนั้นผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ ร่วมวางมาลา และกล่าวรำลึกวีรชน ดนตรีบรรเลงพฤษภาประชาธรรม และเวลา 11.30 น. กล่าวเปิดอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

ส่วนภาคบ่าย เวทีอภิปรายสาธารณะ ณ ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีรายละเอียดคือ 13.00-16.30 น. เวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปี พฤษภาประชาธรรม หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ กล่าวเปิดโดย ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม

Panel 1 นำเสนอบทเรียนจากเหตุการณ์กวางจู เกาหลีใต้ บทเรียนจากฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมด้วย นายสมชาย หอมลออ อดีตเลขาธิการ ครป.ปี 2535, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

Panel 2 ร่วมอภิปรายโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ดร.ภูมิ มูลศิลป์, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร่วมด้วยผู้แทนพรรคการเมือง ฯลฯ

ส่วนภาคเย็น - กิจกรรมวัฒนธรรม ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม 17.00-20.30 น. กิจกรรมวัฒนธรรม ดนตรี บทกวี และศิลปวัฒนธรรม นำโดย หงา คาราวาน และเพื่อนพ้องศิลปินเพื่อชีวิต

ซึ่งเรื่องนี้ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวงจรอุบาทว์ คิดต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก ร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตย สร้างความความปรองดองเพื่อสังคมสันติสุขว่า เหตุการณ์พฤษภา’35 เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงนำมาซึ่งความสูญเสีย มีทั้งคนตายและคนหาย และก็นำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย ที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์ที่สุด แต่ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด สาเหตุจากนักการเมืองที่ฉ้อฉลและทหารที่ทำการรัฐประหาร กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยที่ยังหาทางออกไม่ได้  

การจัดงานรำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม โดย คณะกรรมการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ปี 2565 นี้ จึงเน้นสืบสานภารกิจ 30 ปีวีรชนพฤษภา’35 หยุดวงจรการรัฐประหาร เพื่อสร้าง ประชารัฐธรรมนูญ ยุติบทบาททหารกับการแทรกแซงการเมืองไทย โดยมีการจัดอภิปรายวิชาการสาธารณะ ถอดบทเรียนการรัฐประหาร และบทบาททหารกับการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง

อดุลย์ ย้ำว่า คณะกรรมการจัดงานได้มีการประสานงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน มาแลกเปลี่ยนความเห็นถอดบทเรียนร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประชาธิปไตย ยุติบทบาททหารกับการเมืองไทย ยุติความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ทางสังคม และที่สำคัญคือ การหยุดยั้งการรัฐประหารมิให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป ในการจัดงานทุกปี คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้เชิญทุกฝ่ายมาร่วมกิจกรรม รวมทั้งประชาชนที่เคยผ่านเหตุการณ์พฤษภา’35 มาร่วมกิจกรรมเหมือนเช่นทุกปีโดยไม่มีการแบ่งแยก และเชิญตัวแทนรัฐบาลมาร่วมงานด้วย “เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนามรัฐ” ซึ่งรัฐบาลก็ส่งตัวแทนมาร่วมงานเป็นประจำทุกปี ประธานญาติวีรชนฯ กล่าวว่า สังคมไทยมีประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงาม คนไทยทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุข แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด จุดยืนทางการเมืองต่างกัน จนเกิดความขัดแย้ง บางครั้งนำไปสู่ความรุนแรง เกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย แต่คนไทยก็ให้อภัยและอโหสิกันได้เสมอ เช่นเดียวกับญาติวีรชนพฤษภา’35 ที่ได้อโหสิให้กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เพื่อให้เกิดความปรองดองและสันติสุขขึ้นในสังคมไทย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด คือ 19 ก.ย.2549 และ 22 พ.ค.2557 ทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกร้าวลึกถึงระดับเด็กเยาวชน และยังส่งผลกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากทุกฝ่ายไม่ถอดบทเรียนและหาทางออกร่วมกันเพื่อขจัดเงื่อนไขความรุนแรง ก็อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนประวัติศาสตร์ขึ้นอีก และจะรุนแรงกว่าทุกครั้ง

“ในฐานะประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อสานต่อเจตนารมณ์และเชิดชูเกียรติเหล่าวีรชนฯ ที่สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อประชาธิปไตย ได้ประสานงานและร่วมกิจกรรมกับองค์กรต่างๆ มาโดยตลอด เพื่อให้สังคมไทยเกิดความสามัคคีปรองดอง ยุติความขัดแย้ง ร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง สร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนให้เป็นจริง

การทำงานท่ามกลางสังคมที่แตกแยกทางความคิดเช่นนี้ต้องเปิดใจให้กว้าง พร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งคิดต่างกันได้ แต่ไม่ควรแตกแยก ไม่สร้างความเกลียดชัง และกล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์และปรารถนาดีต่อทุกฝ่าย เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าไปได้โดยปราศจากความรุนแรง”

ประธานญาติวีรชน พฤษภาฯ 35 ย้ำตอนท้ายว่า งานรำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรม คงจะได้ถอดบทเรียนร่วมกันเพื่อร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง หยุดวงจรอุบาทว์ ทั้งนักการเมืองที่ฉ้อฉล และทหารที่รัฐประหาร และหวังว่ารัฐบาลจะตระหนักและขจัดเงื่อนไขความรุนแรง ทำให้สังคมไทยเกิดความสามัคคีปรองดอง ด้วยการนิรโทษกรรมตามแนวทางที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเคยเสนอไว้ เพื่อสังคมไทยจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป

ประชาชนที่สนใจอยากไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ ไม่ว่าจะในบริบทใด ก็อย่าได้พลาดเด็ดขาดกับการไปร่วมรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญทางการเมืองครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' แถลงนโยบายรัฐบาล การเมือง-ทุนปึ้ก-ประชาชนอยู่ไหน?

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เสมือนเป็นภาพชัยชนะของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ นับตั้งแต่บินกลับมารับโทษในไทยเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 22 ส.ค. 2566

ชัยชนะยกแรก“ทักษิณ” บ้านป่าฯแตก-ผู้เฒ่ากระอัก

พลิกสถานการณ์กลับมาชนะสำหรับ “นายใหญ่เพื่อไทย”-ทักษิณ ชินวัตร หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ถูกสอยปมตกเก้าอี้ จากการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม

‘ประชาธิปัตย์’เจ็บ-ไม่จบ ฝันค้าง(ยัง)ไร้เทียบเชิญ

ซูฮกพรรคเพื่อไทย!!! โยนโจทย์ให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลเคาะชื่อกันเอง และมีคำสั่งพิเศษไม่เอา “วงษ์สุวรรณ” ร่วมรัฐบาล เล่นเอาพรรคการเมืองอื่นวุ่นวาย โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์โดนหางเลขไปกับเขาด้วย ที่เห็นเป็นเอกภาพสุด คือพรรคภูมิใจไทยไร้รอยต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน

‘ธรรมนัส’ สิ้นสุดทาง ‘ลุง’ พปชร.ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

‘พรรคพลังประชารัฐ’ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว แทบจะเป็นครั้งแรกที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ใช้คำพูดเชือดเฉือนใส่ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังรู้ว่าตัวเองหลุดจากรายชื่อคณะรัฐมนตรี

ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 แก๊งมินต์ช็อก-ก๊วนโอ๊คได้ลุ้น ยังสะพัด เด็ดหัว"บ้านป่าฯ"  

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเธอย้ำว่า

ครม.จันทร์ส่องหล้า ทักษิณทำโผ-ปิดดีล ไม่ล้างไพ่ แต่มีเขย่า

จุดที่ต้องติดตามต่อจากนี้หลัง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย มองได้ว่าเรื่องเฉพาะหน้าต้องโฟกัสไปที่สองจุดใหญ่ ก็คือ