รอยร้าวและแรงกระเพื่อมภายใน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังดำรงอยู่ต่อไป หลังจาก "บิ๊กป้อม"-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า พปชร. ตัดสินใจเลือกอุ้ม "ผู้กองมนัส" หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลูกน้องคนสนิทต่อไป
พร้อมหักเหลี่ยม "พี่น้อง 2 ป." คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
โดย พล.อ.ประวิตร ยืนยันภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา จะไม่เปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ พปชร. และย้ำว่านายกฯ และผู้กองไม่มีปัญหาอะไร
ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อต้นสัปดาห์ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เรียก 6 รัฐมนตรีของ พปชร.สายตึกไทยคู่ฟ้า เข้าพบที่ทำเนียบฯ ก่อนจะยกทัพไปกดดัน "บิ๊กป้อม" ให้เขี่ยฝ่ายแม่บ้านพรรคให้พ้นเส้นทางอำนาจ
สะท้อนได้จาก "เสี่ยโอ๋" นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ออกมาให้ข่าวในทำนองว่า "ผู้กองคือตัวปัญหา"
แม้ "รมว.ดีอีเอส" จะไม่บอกว่าปัญหาคืออะไร แต่คนใน พปชร.ก็พอจะทราบกันเป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่กระแสข่าว ร.อ.ธรรมนัสคิดก่อกบฏ "บิ๊กตู่" ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ พร้อมกระแสมีบิ๊กดิวลับกับ ทักษิณ ชินวัตร หรือ โทนี่ วูดซัม นายใหญ่ พรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่
กระทั่ง บิ๊กตู่ รอดตัวไปได้ เพราะแผนแตกไปเสียก่อน จนสุดท้ายใช้อำนาจสั่งปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พร้อมคู่หู นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากเก้าอี้เสนาบดี
แต่เส้นทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด เพราะ "บิ๊กป้อม" ยังให้อำนาจคุมโครงการภายในพรรค และสามารถให้คุณให้โทษ ส.ส.ในการส่งสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า เท่านั้นไม่พอยังออกไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำท่วม ที่ถูกมองว่าวัดบารมีกับนายกฯ
ด้วยความมั่นใจของ "ผู้กอง" ที่ "บิ๊กป้อม" ให้ท้าย จึงต้องเร่งกระชับอำนาจของตัวเอง อีกด้านหนึ่งก็สร้างความแตกแยกให้พรรคอีกครั้ง
โดยเฉพาะการทำโพล เลือกเจาะจงไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง ส.ส.เหล่านี้ได้เข้ามาเป็นผู้แทน เพราะบารมีและกระแสของ "บิ๊กตู่" แต่กลับสอบตกโพล "ผู้กอง" มีการประเมินกันว่าต้องการกวาดต้อนให้ ส.ส.เหล่านี้เข้าสวามิภักดิ์กลุ่มซุ้มเมืองพะเยา
แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความไม่พอใจให้ ส.ส.เหล่านี้ ที่ถูกบีบบังคับให้เลือกข้าง อีกทั้งยังส่งผลให้บุคคลภายนอกยังไม่กล้าเดินเข้าพรรคอีกด้วย เพราะปัญหาภายในยังกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้การทำโพลยังเป็นการดิสเครดิต "บิ๊กตู่" และกระทบไปถึงแคนดิเดตนายกฯ อันดับ 1 ของ พปชร. จะมั่นคงไปถึงช่วงเลือกตั้งหรือไม่ ตราบใดที่ "ผู้กอง" ยังมีอำนาจอยู่ หรือสุดท้ายแล้ว "ลุงตู่" อาจจะเจอคู่เทียบ เพราะ รธน.อนุญาตให้ส่งรายชื่อได้ถึง 3 คน
ด้วยสถานการณ์เหล่านี้ "บิ๊กตู่" และ "บิ๊กป๊อก" จึงต้องปิดเกมเร็ว และเขี่ย "ผู้กอง" ให้พ้นเส้นทางอำนาจ
แต่สุดท้ายด้วยมนต์วิเศษ หรือ ความมหัศจรรย์ของ "ผู้กอง" ก็สามารถสะกดจิตให้ "บิ๊กป้อม" เลือกอุ้มตัวเขาเอาไว้ได้ อีกทั้งยังต้องยอมรับความจริงว่า "ผู้กอง" เป็นคนที่หัวหน้าพรรค ไว้วางใจ ที่ใช้ถ่วงดุลอำนาจต่างๆ ในพรรค รวมทั้งยังดิวพรรคเล็กพรรคน้อย รวมทั้งก็คุยกับพรรคเพื่อไทยได้อีกด้วย เพราะสายสัมพันธ์ดีกับคนแดนไกล อย่างไรก็ตาม แม้ศึกยกนี้ "ผู้กองแห่งเมืองพะเยา" จะชนะ รอดตัวไปแบบหวุดหวิด แต่ก็เชื่อ "บิ๊กตู่" และ "บิ๊กป๊อก" และ รัฐมนตรีสายลุงตู่ จะไม่ยุติแผนยึดพรรคแต่เพียงเท่านี้ และพยายามโน้มน้าวใจให้ "บิ๊กป้อม" เปลี่ยนใจ
โดยเฉพาะแผลเป็นของ "ผู้กอง" หลัง "เสี่ยโอ๋" ได้สอบถามระหว่างเปิดใจต่อหน้า "บิ๊กป้อม" ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงโหวตสวนนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด แต่ ร.อ.ธรรมนัสก็บ่ายเบี่ยงไม่ตอบเรื่องนี้ เมื่อความคลางแคลงใจยังไม่ยุติ และผู้ถูกกระทำก็คือ "บิ๊กตู่" ที่ปฏิเสธที่จะเดินเส้นทางเดียวกับ "ผู้กอง"
จึงต้องดูว่า หลังจากนี้กลุ่มก๊วนสายนายกฯ อาทิ "กลุ่มสามมิตร" "ซุ้มบางระจัน" "ซุ้มมังกรน้ำเค็ม" "ซุ้มมะขามหวาน" จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เพราะอยู่เฉยๆ ก็อาจถูกเช็กบิลล้างแค้น และยิ่ง "บิ๊กตู่" หากยังยึดพรรคไม่สำเร็จ สุดท้ายตัวเองอาจต้องเป็นฝ่ายไปโดยพรรคสำรองรองรับ!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี