ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการทวงคืนบัลลังก์ความเป็นมหาอำนาจ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร หลังจากปล่อยให้จีนรุกคืบเข้าไปปักหมุดสร้างพันธมิตรในประเทศที่ยากจน และกำลังพัฒนา ผ่านโครงการความช่วยเหลือ โครงการการลงทุนนานนับทศวรรษก่อนหน้านี้ ทำให้สัญญาณการเผชิญหน้าของสองพี่เบิ้มในโลกน่าสะพรึง
ในยุคของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ดำเนินกลยุทธ์ด้วยการใช้เศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมกับใช้ความมั่นคงเป็นเครื่องมือกดดัน ต่อรอง โดยสะท้อนออกมาทางสงครามสามเส้า รัสเซีย-ยูเครน-ยุโรป อันเป็นพื้นที่ประลองกำลังทางด้านการทหาร โดยมีสหรัฐเป็นผู้กำกับ และจีนเป็นผู้ประเมินสถานการณ์
ถึงปัจจุบันสงครามยังยืดเยื้อ รัสเซีย "ปิดจ๊อบ" ไม่ได้ อีกทั้งยังสูญเสียทรัพยากรไปมหาศาล พันธมิตรที่เป็นคู่ตรงข้ามกับสหรัฐ ต่างมองดูปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างระมัดระวัง พร้อมใช้เครื่องมือด้านข้อมูลข่าวสารสนับสนุน เพื่อลดความเสียเปรียบของรัสเซียในการสู้รบ โดยใช้เครือข่ายจีนที่อยู่ในหลายประเทศผ่านสมาคม มูลนิธิต่างๆ เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง ไม่ต่างจากที่สหรัฐมักใช้ปฏิบัติการด้านข่าวสารทำสิ่งเหล่านี้มาก่อน
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม รัสเซีย-ยูเครน จากกลุ่มพันธมิตรต่อต้านสหรัฐ ในไทย เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสังเกต ตีกันรัฐบาล ไม่ให้ตกหลุมพรางทำข้อผูกมัดใดๆ ภายใต้ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐ ผ่านแคมเปญล้มแผน นาโต 2
พร้อมหยิบยกการไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมในเรื่องดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ว่าอาจเป็นการเข้าข่ายการลงนามในสัญญา โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกมาชี้แจงว่า อินโด-แปซิฟิกเป็นตัวยุทธศาสตร์ที่สหรัฐเขียนขึ้น ไทยไม่ได้ไปมีส่วนในการลงนามใดๆ ทั้งสิ้น และที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปลงนามนั้น ก็เป็นแถลงการณ์กรอบความร่วมมือ ไม่ได้มีผลผูกมัด
จากนั้น เวทีสาธารณะ “อย่าชักน้ำเข้าลึก อย่าชักศึกเข้าบ้าน” หัวข้อ ขจัดภัยการกดขี่ ด้วยสามัคคีทั้งแผ่นดิน ถือธงนำโดยนายไพศาล พืชมงคล ผู้ประสานงานกับเครือข่ายสมาคมไทย-จีน ตามมาด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาประกาศ หลังประชุมอาเซียน-สหรัฐ (สมัยพิเศษ)จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาค อย่างเผ็ดร้อน
พร้อมตั้งคำถามว่า ผลของการประชุม 2 ฝ่ายอาเซียน-สหรัฐนั้น ได้รับเงินช่วยเหลือมาเพียง 150 ล้านเหรียญฯ เฉลี่ยประเทศละ 80 ล้านบาท เท่ากับงบ อบต.จัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรี และสำหรับประเทศไทย มีการประชุมพิเศษสองฝ่ายหรือทวิภาคีกับสหรัฐ และเป็นการประชุมด้านกลาโหม คือเรื่องความมั่นคงและเรื่องการทหาร ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าเป็นการต่อยอดนาโต 2 หรือไม่
“เรื่องอะไรที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนย่อมเป็นเรื่องที่ดี ควรที่จะมีการแถลงในรายละเอียดว่าได้ตกลงให้การช่วยเหลืออะไรกันบ้าง” นายไพศาลระบุ
ในการเดินทางไปครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบหารือกับนายลอยด์ เจ. ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่ “เพนตากอน” โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี ระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพและกำลังพล การฝึก/ศึกษาทางทหาร การฝึกร่วม/ผสม ความร่วมมือด้านไซเบอร์และอวกาศ และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตลอดจนได้หารือถึงการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายและการปราบปรามการค้ามนุษย์
“ส่วนของความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยยินดีที่สหรัฐให้ความสำคัญกับการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และการดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งยินดีที่สหรัฐสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo - Pacific: AOIP) ที่มุ่งเน้นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยฝ่ายสหรัฐได้ย้ำความพร้อมดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป และทั้งสองฝ่ายหวังจะได้สานต่อความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการเดินหน้าโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหลายหน่วยงานของสหรัฐ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีชั้นความลับ ซึ่งสหรัฐจะพิจารณาขายให้ประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า “หลายคนก็จับตาว่านายกฯ จะมาพูดอะไร จะไปอยู่ข้างไหน จะไปอยู่อะไรกับใคร เราจะไปอยู่ข้างใคร ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ทำอย่างไรประเทศของเราจะไม่เสียหาย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพกติกาของเขาด้วย นั่นคือหลักการของเรา ไม่ขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น ต้องว่าไปตามหลักการ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขยับตัวของกลุ่มต่อต้านสหรัฐ เป็นปฏิกิริยาที่ส่งต่อมาจากฝั่งจีนที่ไม่ต้องการให้สหรัฐกลับมาสู่พันธมิตรเดิม ด้วยใช้ยุทธศาสตร์ด้านการทหาร ซึ่งจีนก็ก็เริ่มใช้แนวทางดังกล่าวเข้ามาปักหมุดในอาเซียนในช่วง 5 ปีหลัง
เดิมประเทศไทยผูกสัมพันธ์กับสองขั้วมหาอำนาจด้วยพลังอำนาจของชาติต่างกัน โดยฝั่งอเมริกา ไทยจะใช้ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ส่วนทางฝั่งจีน จะใช้สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ แต่เมื่อจีนตัดสินใจเดินด้วยความมั่นคง ย่อมเกิดแรงสู้จากฝั่งสหรัฐ อีกทั้งหลักนิยม และทหารไทยส่วนใหญ่ รวมถึงระบบราชการของเรายังฝังรากลึกกับสหรัฐ
แต่ช่วงหลังรัฐประหาร รัฐบาล คสช. ไม่มีทางเลือก จึงต้องไปซบจีนเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายประชาธิปไตย จึงยิ่งเป็นแรงกดดันให้สหรัฐเดินเกมรุกมากขึ้น จีนเองก็กลัวว่าจะเพลี่ยงพล้ำ จึงรุกกลับมากขึ้นเช่นกัน ในที่สุดจึงกลายเป็นความร้อนแรงด้วยภูมิรัฐศาสตร์ของไทยที่มีความสำคัญสูงยิ่ง
โดยพยายามโจมตีจุดอ่อนของจีน ในการทำเรื่อง debt-trap diplomacy ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศผ่านรูปแบบเงินกู้ เงินช่วยเหลือ แต่เมื่อถึงเวลาไม่มีเงินก็ยึดครองโครงสร้างพื้นฐาน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น สปป.ลาว ศรีลังกา กัมพูชา ด้วยการปฏิบัติการหน้าฉากของภาครัฐ และงานใต้ดินที่มีอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมไปถึงการรุกคืบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยการแต่งงานกับคนไทย
บริเวณชายแดนด้านบนและตะวันออกบางส่วนการเป็นพื้นที่กันชน และฐานที่มั่นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง สายลับของจีนที่แปลงโฉมเป็นคนของ กาสิโน เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่ฝ่ายตะวันตกก็จับตา ติดตามฐานที่มั่นเหล่านั้น แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ฝ่ายไทยได้ติดตามตรวจสอบภัยคุกคามเหล่านั้น
ทั้งความพยายายามชี้ให้เห็นด้านลบของการเชื่อมโยงต่อยุทธศาสตร์ one belt one road หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ที่เดิมจะใช้การขุด “คลองไทย” เชื่อมระหว่างท่าเรือเจ้าผิวก์ เมียนมา และฐานทัพเรือเรียม สีหนุวิลล์ มี และสนามบิน dara skor เกาะกง แต่จีนก็ขยับรุกคืบเข้ามาที่ไทยไม่ได้ง่ายตามแผน จึงมีความพยายามจะเชื่อมต่อปักธงในไทยด้วยแนวทางอื่น
และเริ่มมีการปฏิบัติการข่าวสารให้เครือข่ายจีนในประเทศไทยตอบโต้สหรัฐ ตะวันตกและยูเครน อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ด้วยการผลิต content เผยแพร่ในสื่อฝ่ายแอนตี้สหรัฐ จากกรณีที่เกิดขึ้นกับ ททบ.5 ซึ่งมีการไปลงนามความร่วมมือด้านการข่าวกับสถานทูตรัสเซีย จีน อิหร่าน ก่อนที่จะมาลงนามกับยูเครน เนื่องจากถูกโจมตีการทำหน้าที่ของสื่อที่ล้ำเส้นและถือหางคู่ขัดแย้งทางสงคราม
มีการวิเคราะห์ว่า หลังจากรัสเซียยังไม่สามารถชนะในสงครามยูเครนได้อย่างเด็ดขาดได้ จีนก็ชั่งน้ำหนักว่าศักยภาพทางด้านการทหารของตนเองจะเหนือกว่าสหรัฐหรือไม่ เพราะขนาดรัสเซียซึ่งมีสรรพกำลังและความแข็งแกร่งมากกว่าจีนมากยังไม่สามารถปิดเกมได้จนถึงขณะนี้
“สิ่งที่จีนตอบโต้สหรัฐเรียกว่า perception management โดยการทำ Cyber dominant จะเริ่มมีทีมไอโอ ทำคอนเทนต์ หาเครือข่ายร่วม สิ่งที่น่ากังวลระยะยาวคือ คนไทยจะแบ่งเป็นสองขั้ว คือขั้วหนึ่งเอาจีน และขั้วหนึ่งเอาสหรัฐ” เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยรายหนึ่งระบุ
โดยที่จีนไม่มีความจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐ หลังจากที่ประเมินแล้วว่ากำลังทางทหารเสียเปรียบจากข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐก็กำลังเดิมเกมแทรกแซงการเมืองภายในในประเทศ ด้วยสร้างความนิยมในหมู่ที่ไม่เอาผู้นำที่สนับสนุนจีน ทำให้จีนโต้กลับด้วยใช้ soft power กดลงมาด้านล่างผ่าน cyber dominance ดังที่เห็นกันในข้อมูลผ่านเครือข่ายฝั่งที่หนุนจีน
หากรัฐบาลไทยไม่ทำให้เกิดสภาวะสมดุลเกิดขึ้น และแบ่งงานในการผูกสัมพันธ์ทั้งสองขั้ว ก็อาจจะจุดชนวนให้เกิดการกดดันเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาล หรือล้มระบอบ เช่นที่เกิดขึ้นในบางประเทศ ล่าสุดจากพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ ที่เลือกขั้วตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับประเทศไทย เห็นได้จากมวลชนในฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มแบ่งเป็นสองส่วน คือ "ไม่เอาประยุทธ์" แต่ "เอาประวิตร" เพราะ พล.อ.ประวิตรเป็น "พี่ใหญ่" ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายจีน ช่วงการอนุมัติ "เรือด้ำน้ำ S26T" ของจีน เมื่อ 5-6 ปีก่อน พล.อ.ประวิตรก็ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมอยู่ด้วย
แต่ก็มาสะดุดที่ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ที่จีนไม่สามารถไปซื้อมาจาก “เยอรมนี” ได้ตามสัญญาที่บริษัทรับปากไว้ ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของบริษัทเยอรมนี มีสหรัฐเข้ามาเกี่ยวพันด้วยหรือไม่
และช่างประจวบเหมาะกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ที่ดูเหมือนมีผู้กำหนดสภาวะแวดล้อมให้ปมปัญหาต่างๆ เริ่มเดิมเข้าสู่ทางตัน ในห้วงเวลาที่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มั่นคงเท่าใดนัก ผสมผสานกับการเมืองบนท้องถนนเริ่มออกมาเคลื่อนตัวอีกครั้งในประเด็นที่อ่อนไหวมากขึ้น
สิ่งที่น่าห่วงคือ ปัจจุบันประเทศไทยมีความขัดแย้ง-แตกแยกแบ่งเป็นสองขั้วความคิดอย่างสิ้นเชิงอยู่แล้ว จากฝ่ายอนุรักษนิยม-ฝ่ายก้าวหน้า เอาสถาบัน-ไม่เอาสถาบัน คนเจเนอเรชั่นเก่า-ใหม่ เชียร์รัสเซีย-เชียร์ยูเครน ตามมาด้วยเรื่องโปรจีน-โปรสหรัฐ, ตะวันตก
คนในชาติจึงก็ต้องรับฟังข้อมูลรอบด้านอย่างมีสติ ยึดประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง และไม่เผชิญหน้ากันด้วยความขัดแย้งของผลประโยชน์ชาติอื่น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.
เฝ้าระวังพื้นที่3จ.ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยทำคดีตากใบ หมดอายุความ จำเลยลอยนวล
หลัง คดีตากใบ หมดอายุความไปเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส
พรรคร่วมยกการ์ดสูง นิรโทษ112 ระแวงพท.-ปชน.ร่วมมือเฉพาะกิจ
จบไปแล้วกับ รายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาฯ ติดขัดไม่ได้ลงมติ เนื่องจาก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ชิ่งปิดประชุมไปเสียก่อน
นับถอยหลังคดีตากใบหมดอายุความ รัฐล้มเหลว จำเลยลอยนวล
นับถอยหลังจากวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 วันเท่านั้น “คดีสลายการชุมนุมตากใบ” ซึ่งเกิดเหตุเมื่อ 25 ต.ค.2547 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะ "หมดอายุความ" แล้วในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.นี้