ความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันพฤหัสบดีช่วงเช้า ทางคณะ กมธ.วิสามัญจะมีการพิจารณาประเด็นสำคัญคือ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นบานปลาย เมื่อ กมธ.แต่ละฝ่ายมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ต้องการนำคะแนนพรรคของแต่ละพรรคที่ได้รับ มาหารด้วย 100 ซึ่งตรงตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กำหนดไว้
ส่วนพรรคขนาดกลางและเล็ก เห็นว่าต้องคำนวณหา ส.ส.พึงมีเสียก่อน และต้องหารด้วย 500 เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 ยังกำหนดให้มี ส.ส.พึงมีอยู่ ถ้าทำตามสูตรที่พรรคใหญ่เสนอจะเป็นการขัดมาตรา 93 และมาตรา 94 รวมถึงขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ทุกเสียงมีความหมาย ไม่ตกน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าวิธีที่ตัวเองเสนอนั้นขัดมาตรา 91
เท่ากับว่าขณะนี้ไม่มีสูตรคำนวณใดเพียบพร้อมตามรัฐธรรมนูญทุกประการ!!!
ฉะนั้น เมื่อผ่านพ้นการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยแน่นอน จากแนวโน้มน่าจะต้องเป็นฝั่งของพรรคขนาดกลางและเล็กที่เป็นผู้ยื่น เพราะคาดว่าเสียงส่วนใหญ่ สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ 100 หาร น่าจะมีเสียงสนับสนุนมากกว่า
จะว่าไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เมื่อครั้งนั้นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยเสียงข้างมากเห็นชอบรับหลักของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ ที่เสนอแก้เพียงมาตรา 91 แต่ไม่ได้เสนอแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับ ส.ส.พึงมี ทำให้มาตราที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กหยิบช่องว่างนี้ขึ้นมาอ้าง เพื่อคัดค้านสูตรคำนวณแบบ 100 หาร
เมื่อวันพุธ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พูดชัดเจนว่า “ต้องยอมรับเป็นความบกพร่องของ กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วนแก้ไขไม่ครบถ้วน” แต่กระนั้นเจ้าตัวก็กันท่าว่า เหตุนี้ไม่ถึงกับต้องไปเปลี่ยนสัดส่วนในการคำนวณ เพราะในมาตรา 91 แก้ไขชัดเจนแล้ว
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ยก 3 เหตุผลตอบโต้ นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวแทนพรรคเล็กที่สนับสนุนสูตร 500 หารว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้นมีปัญหาสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91 ที่กำหนดการคำนวณสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับคะแนนรวมของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ ซึ่งตามหลักฐานรายงานการประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับ กมธ.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้ 500 คนหาร แต่เห็นด้วยกับจำนวน 100 คนหาร
"ดังนั้นเจตนารมณ์ของมาตรา 91 ที่แก้ไข ต้องหารด้วย 100 คนเท่านั้น เพราะจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม"
ประกอบกับ 2.ฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 89 วรรคท้าย ที่ห้าม กมธ.เพิ่มมาตราหรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราที่ขัดกับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับ กำหนดให้ใช้จำนวน 100 คนหาร และ 3.ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จากการแก้ไขบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนเลือก ส.ส.เขตจากคนที่ชอบ และอีกใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคที่ชอบ
บทสรุปของสูตรคำนวณ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย มั่นใจ วันนี้ กมธ.เสียงส่วนใหญ่จะลงมติให้ใช้ 100 หาร โดยมีพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐบางส่วน เป็นแนวร่วม ส่วนพรรคที่จะใช้ 500 หาร มีเพียงแค่ นพ.ระวี ส่วน ส.ว.ไม่ยอมแสดงจุดยืน
แม้กระบวนการของรัฐสภาจะเห็นด้วยกับ 100 หาร แต่สุดท้ายปลายทางของเรื่องดังกล่าวคงต้องขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา และถ้ารับ จะวินิจฉัยว่าอย่างไร?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี