หลังจากกลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันแถวหนึ่ง แถวสองถูกกวาดล้างจับกุมดำเนินคดีตามฐานความผิด มาตรา 112 เกือบหมด ทำให้ในปี 2565 แกนนำเยาวชนแถวสามต่างออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วง รณรงค์ทำกิจกรรมการต่อต้านขบวนเสด็จฯ จนถูกจับกุม
ไม่เท่านั้นยังเกิดปรากฏการณ์ที่สุ่มเสี่ยงอีกมากมาย จากเหล่าบรรดา “ครีเอทีฟ-คอนเท็นครีเอเตอร์” ใช้ปมเรื่องสถาบันมาเป็นพล็อตเรื่องในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไล่ตั้งแต่อินโฟกราฟฟิกของ “สายการบินเวียตเจ็ท” ในวัน “เอพริลฟูลเดย์” และล่าสุดแคมเปญโฆษณาของแพลตฟอร์ม “ลาซาด้า”
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กองทัพพยายาม “นิ่ง” และไม่ออกหน้า ปล่อยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม จับกุม ดำเนินคดี ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ผู้ทำกิจกรรมต่างก็ปรับรูปแบบในการแสดงออก เพื่อหลบหลีกกฎหมาย แต่ไม่อาจปกปิดเจตนาที่ต้องการแสดงออกให้สังคมเห็นถึงด้านลบ และ ความไม่จำเป็นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์คู่สังคมไทย
บทบาทของผู้บัญชาการทหารบก ในยุคที่ “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็นผู้บัญชาการทหารบก พยายามระมัดระวังในการแสดงออก ป้องกันไม่ให้กลุ่มต่อต้านใช้กองทัพเป็นเครื่องมือกระทบชิ่งไปยังสถาบัน เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก
ภาพการปฏิบัติของกองทัพบกจึงใช้กลไกในด้านข่าวสารเชิงยุทธศาสตร์ ตอกย้ำกิจกรรมของสถาบันที่ทำเพื่อส่วนรวม ผ่านเพจทางการของหน่วยทหารเพื่อให้เห็นพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ เลยไปถึงการแชร์ รีทวีตเพจ หรือ ทวิตเตอร์ที่ตีแผ่ “ด้านมืด” เบื้องหลังกลุ่มต้านสถาบัน
เช่นเดียวกับสถานการณ์ด้านข่าวกรองที่ยังติดตามความเคลื่อนไหวในด้านนี้ ผ่าน ศปก.6484 ที่ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้ข้อมูลที่ได้รับมาเพื่อนำไปประกอบการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน ที่ในปัจจุบันพบปรากฏการณ์ที่น่ากังวลมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เรียกได้ว่า “คลั่งล้มเจ้า” จากแสดงออกทางสัญลักษณ์ และคำพูดที่ก้าวร้าว บ่งชี้ถึงความเกลียดชัง ผ่านประโยคที่คุ้นหูจากโลกโซเชียลมีเดีย และชุดความรู้จากฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายก้าวหน้า” โดยไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ขณะที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ใช้ทวิตเตอร์ Narongpan Jittkewta รีทวีตกิจกรรมของหน่วยทหารทั่วประเทศในภารกิจต่างๆ รวมไปถึงเพจที่นำเสนอข่าวสารบ้านเมืองในด้านปกป้องสถาบันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถูกฝ่ายต้าน “ล่อเป้า” จนในที่สุดทวิตเตอร์ดังกล่าวก็หยุดการเคลื่อนไหวไปในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
ท่ามกลางกระแสความกดดันอย่างรอบด้านในสาย “อนุรักษนิยม” ที่เห็นว่าบทบาทของผู้บัญชาการทหารบก ในการออกมาแสดงบทบาทในการปกป้องสถาบันควรจะหนักแน่น ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการหยามหมิ่นสถาบันรายวัน
จนมีข่าวลือว่า เกิดความไม่พอใจ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในแวดวง “ผู้ใหญ่” ที่ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ขึ้น และอาจจะกระทบกระเทือนต่อตำแหน่ง ผบ.ทบ.ในช่วงการโยกย้ายปลายปี ที่อาจจะขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือปลัดกระทรวงกลาโหม ก่อนเกษียณอายุราชการ ท่ามกลางเกมอำนาจระหว่างรุ่นที่ต่างฝ่ายต่างอยากกุมบังเหียนกองทัพ
ยิ่งเมื่อเกิดกรณีของ “ลาซาด้า” ซึ่งโฆษณาของแพลตฟอร์มดังกล่าวเผยแพร่เป็นวงกว้าง มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศจำนวนมหาศาล อีกทั้งผู้ที่เป็นตัวแสดงไม่ได้คิดว่าสิ่งที่กระทำเป็นความผิดแต่อย่างใด ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้ ผบ.ทบ.ตัดสินใจสั่งการในที่ประชุม ศปก.ทบ. หรือที่เรียกว่า “มอร์นิ่งบรีฟ” เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ห้ามรถขนส่งจากแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้ามาทุกหน่วย และห้ามสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งนี้ และคำสั่งการปฏิบัติผ่าน “วิทยุ” หรือเอกสารสั่งหน่วยขึ้นตรงปฏิบัติที่ว่อนอยู่ในเน็ต ใช้ยาแรงคาดโทษหากหน่วยใดฝ่าฝืน
ยังไม่นับบทบาท หน้าที่ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) อีก 1 ตำแหน่ง มีภารกิจชัดเจนในการปกป้อง รักษาความปลอดภัย ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบกับ ทบ.มีหน่วยรักษาพระองค์ประมาณ 100 หน่วย ประกอบด้วย 3 กองพล 30 กรม และ กว่า 30 กองพัน ซึ่งถวายสัตย์ปฏิญาณตนในการทำหน้าที่ จึงมีเหตุผลที่ควรจะออกมาอยู่ “แถวหน้า” ในสถานการณ์ที่สถาบันถูกโจมตี ดูหมิ่นอย่างหนักหน่วง
แม้จะเข้าทางกลุ่มต้านเผด็จการ-กลุ่มปฏิรูปสถาบัน ที่ออกมาปลุกกระแสต่อยอดให้โต้กลับได้ในเรื่องบทบาทหน้าที่ของกองทัพ แต่คงไม่ได้ทำให้กองทัพ ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายในการพิทักษ์รักษาสถาบันถอยทัพไป
แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่เดินตามกระบวนการกฎหมาย ไม่ต้องหวั่นเกรงกระแสของโลกโซเชียลอีกต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1