ฝ่ายค้านเร่งโหม 4 ปมร้อนเปิดสภา นับถอยหลังรัฐบาล

เหลืออีกแค่ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ก็จะเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรกันแล้ว ตั้งแต่ 23 พ.ค.นี้เรื่อยไปร่วมสี่เดือน  ซึ่งหลังสภาเปิดการเมืองก็จะกลับมาร้อนแรงมากขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน เพราะหลายเรื่องสำคัญรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี  2566 การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับกติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ

แต่ที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการเมืองในสภาที่หลายฝ่ายจับตามอง ก็คือ

"ศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ"

ซึ่งปกติศึกซักฟอกทุกครั้ง ก็จะเป็นฉากการเมืองที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอยู่แล้ว ทั้งเรื่องข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้าน การเตรียมตัวรับมือของฝ่ายรัฐบาล การลงมติออกเสียงไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจของ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงผลทางการเมืองที่จะตามมาหลังจบศึกซักฟอก เช่นการปรับ ครม. เป็นต้น

ทว่า ศึกซักฟอกรอบนี้หลายฝ่ายดูจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เหตุเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงกันยายนปีที่แล้ว ที่เกิดกรณีความพยายาม ล้มประยุทธ์ กลางสภา เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี โดยมีแกนนำอดีตพลังประชารัฐอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็กจับมือกันเคลื่อนไหว แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จ งานไม่เข้าเป้า จน ร.อ.ธรรมนัสโดนปลดจากรัฐมนตรี และต่อมาก็ออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี ส.ส.ในมือ16 คน อีกทั้ง ร.อ.ธรรมนัสช่วงที่ผ่านมาพยายามเล่นบทดีลเมกเกอร์  เป็นโต้โผจะเข้าไปคุมเสียงพรรคเล็ก เพื่อรวมเสียงสร้างเพาเวอร์ให้ตัวเองในศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น ทำนองมี ส.ส.ในมือไม่ต่ำกว่า 30 เสียง ที่สั่งได้ว่าจะให้ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกคนไหน โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่มีแค้นฝังลึกกันอยู่

มันก็เลยทำให้ศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น ยิ่งถูกเพ่งเล็งให้ความสนใจเป็นพิเศษมากขึ้นอีกหลายเท่า ว่าหากมีการต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้นในสภาหนักๆ จะทำให้พลเอกประยุทธ์ อาจไม่รอดในศึกซักฟอกหรือไม่ ถ้าพลเอกประยุทธ์ ไม่ยอมให้ ส.ส.มาต่อรองง่ายๆ ขณะที่คนในพลังประชารัฐ อย่างบิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พยายามยืนกรานว่าทุกอย่างคอนโทรลได้ เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ไม่มีปัญหา  อย่างไรเสียรัฐบาลฝ่าด่านศึกซักฟอกไปได้แน่นอน

ขณะที่เมื่อมองไปที่ฝ่ายค้านก็พบว่ากำลังคึก เพราะมั่นใจว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในช่วงกลางปีนี้  ทั้งผลจากศึกซักฟอกหรือไม่ก็คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีวาระการเป็นนายกฯ แปดปี แต่ระหว่างนี้ที่สภาฯ ใกล้เปิด ก็พบว่าฝ่ายค้านเริ่มอุ่นเครื่อง เตรียมเข้าสู่โหมดสภาเปิดเพื่อลุยกับรัฐบาลอย่างเต็มเหนี่ยว

อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านที่ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย,  พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ, พรรคพลังปวงชนไทย ไปจัดงานกระชับความสัมพันธ์พรรคร่วมฝ่ายค้านกันที่นครราชสีมา และมีการออกแถลงการณ์เรื่องการทำหน้าที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในสมัยประชุมที่จะเริ่มขึ้น โดยซัดรัฐบาลเต็มๆ

เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุไว้ในเวทีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า ...พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติร่วมกันขีดเส้นตายให้รัฐบาลที่หมดสิ้นสภาพนี้ นับตั้งแต่การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ 22 พฤษภาคม  2565 เป็นต้นไป ในการดำเนินการของพรรคร่วมฝ่ายค้านใน 4 วาระสำคัญ ได้แก่ 1.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 2.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในเดือนมิถุนายน 2565

3.การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 151

4.การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมกันแล้วไม่เกิน  8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนสิงหาคม  2565

 “พรรคร่วมฝ่ายค้านขอประกาศว่า วันนี้เรารวมพลังเพื่อยุติรัฐบาลที่สิ้นสภาพ โดยการขีดเส้นตายการทำงานของรัฐบาลนี้ ทำหน้าที่ได้ไม่เกินเดือนสิงหาคมที่จะถึง" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ

 เช่นเดียวกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกไว้ในงานดังกล่าวของฝ่ายค้านตอนหนึ่งเช่นกันว่า ...รัฐบาลจะเจอระเบิดเวลาสี่ลูก คือ 1.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 หากงบไม่ผ่าน สภาต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา 2.ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เมื่อผ่านจะมีแรงกดดันให้ยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ 3.ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ  ตามมาตรา 151 อภิปรายครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และ 4.รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

"เป็นปมที่เรือแป๊ะจะไปยาก ตามระเบิดเวลา 4 ลูก แถมเรือแป๊ะยังมีรอยรั่ว 4 รู เพราะพรรคเศรษฐกิจไทยยังไม่รู้จะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แม้แต่พรรคเล็กพรรคน้อย พรรคเศรษฐกิจไทยมี 18 เสียง พรรคเล็ก 12 เสียงเป็นสวิงโหวต ถ้าไม่โหวตให้ เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไปไม่รอด เสียงมันปริ่มน้ำ

ฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาลไม่เกิน 240 เสียง  สวิงโหวตตรงกลาง ที่ผมพูดคือมีพรรคเล็กและพรรคเศรษฐกิจไทย สองกลุ่มนี้รวมกัน 30 กว่าเสียงรวมฝ่ายไหนเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เรือแป๊ะไปไม่รอด” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ไว้ระหว่างงานพบปะพรรคฝ่ายค้านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นการเริ่มอุ่นเครื่องการเมืองของฝ่ายค้านก่อนสภาเปิด ซึ่งขนาดแค่อุ่นเครื่องยังร้อนขนาดนี้ แบบนี้ไม่ต้องสงสัยหากเปิดสภาเมื่อไหร่ ด้วยอุณหภูมิร้อนๆ ทางการเมือง ต่อให้แอร์ในห้องประชุมรัฐสภาก็ยังเอาไม่อยู่!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง