‘ส.ค.อันตราย’ปม8ปี-ซักฟอก ‘ตู่’จอด‘ป้อม’ขึ้น ถ้ารอดอยู่ครบเทอม

คลุมเครือกันมาร่วมสัปดาห์ สำหรับประเด็น นายกฯ คนนอก หรือ นายกฯนอกบัญชี ภายหลังจากสัปดาห์ก่อนนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 53 ออกมาเสนอแนะให้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพในช่วงเวลาที่เหลือ เพื่อเป็นทางลงให้กับ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม 

ต่อเนื่องมาด้วยการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ออกมาเสนอให้ใช้มาตรา 272 วรรคสอง เปิดก๊อกนายกฯนอกบัญชี หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ ‘บิ๊กตู่’ 

เท่านั้นไม่พอ น้องรักอีกคนของ พล.อ.ประวิตร อย่าง ‘บิ๊กน้อย’ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ตอบคำถามสื่อว่า ใครที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ หากเกิดอุบัติเหตุกับ ‘บิ๊กตู่’ ช้อยส์เดียวของ ‘บิ๊กน้อย’ คือ ‘บิ๊กป้อม’   

ทำเอาการเมืองสะเทือน เพราะทั้ง ‘บิ๊กน้อย’ และ ‘ธรรมนัส’ คือ คนใกล้ชิดที่อยู่กับ ‘บิ๊กป้อม’ แทบจะทุกวัน กลิ่นความไม่ชอบมาพากลเลยคละคลุ้งไปทั่วแวดวงการเมือง 

ในขณะที่ 2 ตัวละครสำคัญ ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าว แม้จะถูกถามทุกวัน แต่การนิ่งดังเตมีย์ใบ้ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต่างอะไรกับการตอกลิ่มความไม่ชัดเจนให้ยิ่งขมุกขมัว

ไร้คำตอบ แต่ ภาษากาย ของสองพี่น้องถูกถอดรหัสไปต่างๆ นานาได้ทุกวัน ชวนให้เกิดความสงสัยว่า มันมีเค้าลางหรือมูลของเรื่องดังข่าวลือที่ปรากฏไม่มากก็น้อย 

เมื่อไหร่จะเลิกถามข่าว พล.อ.ประวิตร สักทีเธอ” คือ วัจนภาษาที่ ‘บิ๊กตู่’ แสดงออกมาหลังถูกถามเรื่องนี้มาตลอดทั้งสัปดาห์ 

มันไม่เหมือนทุกครั้งที่ปรากฏข่าวลือลักษณะนี้ ที่ทั้ง ‘บิ๊กตู่’ หรือ ‘บิ๊กป้อม’ จะต้องรีบออกมาสยบการตีความต่างๆ นานาด้วยการการันตีว่า จะไม่มีทางแยกจากกัน แต่ครั้งนี้เลือกที่จะหลีกเลี่ยง​ กว่าจะออกมาพูดก็ล่วงเลยมาเป็นสัปดาห์

จะด้วยเพราะความรำคาญใจกับคำถามที่ซ้ำซากจึงเลือกที่จะไม่ตอบ หรือเพราะมันมีความไม่ชัดเจนอุบัติขึ้นจริงๆ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะองคาพยพของรัฐบาล ก็ดูจะมีความไม่ชอบมาพากลอยู่ไม่น้อย   

กลุ่ม 16 ที่เป็นก๊วนพรรคเล็ก นำโดย ‘พิเชษฐ สถิรชวาล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยังคงขะมักเขม้นปั่นประสาทรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย เป็นตัวตั้งตัวตีตรวจสอบโครงการท่อส่งน้ำในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ถึงขนาดประกาศพร้อมแตกหัก-โหวตสวน หากรัฐบาลดื้อรั้นที่จะเซ็นสัญญากับผู้ที่ชนะการประมูล 

‘พิเชษฐ’ อาจอาวุโสทางการเมือง แต่เป็นเด็กใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับกล้าออกมาขย่มนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ไม่เกรงกลัวว่า ผู้บริหารพรรคจะตำหนิหรือขับไล่ 

ในขณะที่ ‘บิ๊กป้อม’ ที่คอยทำหน้าที่ตบซ้ายตบขวาลูกพรรคให้เข้าที่เข้าทาง กลับนิ่งปล่อยให้ ‘พิเชษฐ’ ทำตัวเป็นหอกข้างแคร่แบบประเจิดประเจ้อ  

‘พิเชษฐ’ เล่นใหญ่เรื่องนี้ประหนึ่งราวกับมีใครคอย ให้ท้าย-ถือหาง 

กว่าจะมีหนังสือเรียก​ 'พิเชษฐ'​ มาชี้แจงได้ก็ปล่อยให้เคลื่อนไหวเสียเป็นอาทิตย์

อย่างไรก็ดี​ ประเด็นนายกฯ นอกบัญชี กับท่าทีพรรคเล็ก ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ต่างกรรมต่างวาระ แต่เหมือนจะสอดรับและล้อกันอยู่ไม่น้อย  เหตุนี้จึงทำให้มีการจับจ้องไปที่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่น่าจะเกิดขึ้นภายหลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และกฎหมายลูก 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เสร็จสิ้น ว่าจะมีขบวนการกบฏภาค 2 หรือไม่ 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจในสภา ยังอยู่ในไทม์ไลน์เดียวกับการตีความวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ ‘บิ๊กตู่’ ที่จะครบในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย 

การจุดประเด็นนายกฯ นอกบัญชี กับเสียงยุแยงให้เข็น ‘บิ๊กป้อม’ ขึ้นขัดตาทัพ จึงทำให้ความมั่นคงของเก้าอี้ ‘บิ๊กตู่’ ดูจะเปราะบางกว่าครั้งไหนๆ   หากชื่อที่ถูกโยนมาไม่ใช่ ‘บิ๊กป้อม’ น้ำหนักเรื่องนายกฯ นอกบัญชีคงไม่น่าสนใจเท่านี้ นั่นเพราะหากเกิดอุบัติเหตุกับ ‘บิ๊กตู่’ ขึ้นมาจริงๆ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์คือ คนเดียวที่มีพลังมากพอที่จะหาเสียงในสภา เพียงพอต่อการ “เปิดก๊อกมาตรา 272 วรรคสอง” ที่ต้องมีเสียงของวุฒิสภาเข้ามายกมือให้ และยังเป็นคนเดียวที่วุฒิสภาจะกดปุ่มเห็นชอบให้ เพราะเป็นผู้ที่ส่วนสำคัญในคัดสรร 250 ส.ว.เหล่านี้   

ท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาบางคนเองก็ดูแปลกๆ โดยเฉพาะนายวันชัย สอนศิริ ที่มักจะสวมบทโหร ออกมาทำนายอะไรมีนัยทางการเมืองบ่อยครั้ง โดยในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายครั้งที่นายวันชัยออกมาโยนหินถามทาง และมักจะเกิดขึ้นจริงอยู่บ่อย 

“ดูหน้าดูตานายกฯ สำรอง หรือนายกฯ คนนอกเท่าที่เห็นในขณะนี้ ถ้าไม่มีใครลอยมาจากไหน พล.อ.ประวิตรก็ดูเหมือนจะเห็นเด่นชัดที่สุด เพราะท่านเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.จำนวนมากในระดับหนึ่ง ทั้งสามารถจะประสานความร่วมมือกับพรรคการเมืองเล็กและใหญ่ได้ พรรคไหนไม่ร่วม ก็ให้เป็นฝ่ายค้านไป” 

แต่ก่อนที่จะเปิดก๊อกมาตรา 272 วรรคสองได้ ‘บิ๊กตู่’ จะต้องประสบอุบัติเหตุทางการเมืองก่อน ซึ่งความเสี่ยงในตอนนี้มี 2 ทางคือ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องตีความเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี กับเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ต้องใช้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง 

แม้จะเคยเกิดเหตุการณ์กบฏ ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส แต่ในทางการเมืองยังให้น้ำหนักกรณีหาก ‘บิ๊กตู่’ ต้องจอดแต่เพียงนี้ไปที่เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งมากกว่าร่วงเก้าอี้คาสภา 

ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครถูกน็อกคาสภา เพราะนักการเมืองจะไม่เล่นกันแรงในเวทีนี้ แต่จะใช้วิธีกดดันให้รับผิดชอบหลังเสร็จศึกเท่านั้น  

ขณะเดียวกัน หากมีการสอย ‘บิ๊กตู่’ ในสภาจริง ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ป.จะไปถึงจุดแตกหัก เพราะทุกคนรู้ดีว่า ‘บิ๊กป้อม’ กุมเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่พรรคใหญ่จนถึงพรรคปัดเศษ แม้แต่พรรคหอกข้างแคร่อย่างพรรคเศรษฐกิจไทย 

หากมีคนแตกแถวจนถึงจุดที่ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ หลุดตำแหน่งกลางอากาศได้ ‘บิ๊กป้อม’ ย่อมตกเป็น ‘จำเลย’ เพราะมันยากที่จะไม่ให้คิดว่า พี่ใหญ่รู้เห็นเป็นใจ 

ความแหลมคมของสถานการณ์มากที่สุดคือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เพราะเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ ‘บิ๊กตู่’ มีความคลุมเครือทางกฎหมายอยู่  

ในมาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”  

ขณะที่บทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก เขียนไว้ว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้...” 

ทำให้นักกฎหมายบางคนเห็นว่า ‘บิ๊กตู่’ จะอยู่ได้แค่วันที่ 24 ส.ค.65 เท่านั้น เพราะแม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 60 แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรกกำหนดไว้ชัดเจนให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 158 วรรคสี่ 

แต่ขณะเดียวกัน ยังมีนักกฎหมายอีกส่วนเห็นว่า ‘บิ๊กตู่’ อยู่ได้ถึงปี 2570 โดยให้เริ่มนับหนึ่ง 8 ปีตอนรับเก้าอี้นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.62 โดยยกเหตุว่า ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลได้ ถ้าจะบังคับใช้ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน 

หรืออีกส่วนเห็นว่า อยู่ได้ถึงปี 2568 โดยให้เริ่มนับหนึ่งในวันที่ 6 เม.ย.60 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้  

ฉะนั้น ‘บิ๊กตู่’ จะจอด หรือจะรอด คนให้คำตอบคือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ 

แล้วถ้าดูจากสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้ประกอบกัน ต้องบอกว่า โอกาส 50-50 แม้ที่ผ่านมา ‘บิ๊กตู่’ จะผ่านมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแล้วก็ตาม  

และหากมีวันนั้นขึ้นจริง ผู้มาแทนย่อมต้องเป็น ‘บิ๊กป้อม’  

แต่หาก ‘บิ๊กตู่’ รอดมรสุมครั้งนี้ไปได้ ก็ตีตั๋วอยู่ครบเทอม ไม่มีสิ่งกีดขวางอะไรที่น่าหวาดเสียวอีกแล้ว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่