ล็อกเป้า ซักฟอกถล่ม "สันติ" แผนทุบลำตัว "พปชร." ให้ทรุด

นอกเหนือจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นเป้าหลักของฝ่ายค้านในศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจกลางปีนี้แล้ว ถึงตอนนี้เห็นชัดว่า อีกหนึ่งรัฐมนตรีที่จะถูกฝ่ายค้านลากไปขึ้นเขียงกลางสภาฯ ให้รุมสับ-ขึงพืด-ทุบให้น่วม ก็คือ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กำกับดูแลกรมธนารักษ์ในเรื่อง

"การประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC)"

ระหว่างกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา

ที่เดิมทีกรมธนารักษ์จะมีการแถลงการเซ็นสัญญากับบริษัท วงษ์สยาม เมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ค. เวลา 11.00 น. แต่แล้วก็ยกเลิกการทำสัญญาออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือประธานบอร์ดอีอีซี สั่งเบรกการเซ็นสัญญา ดังเอี๊ยด หลังฝ่ายค้านนำโดยเพื่อไทย ออกมาเดินหน้าตรวจสอบโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใช้วิธีดึง ส.ส.พรรคปัดเศษ กลุ่มพรรคเล็ก ก๊วน 16 นำโดย พิเชษฐ สถิรชวาล มาเป็นแนวร่วม โดยขู่ฟอดๆ ว่าหากมีการทำสัญญาโครงการดังกล่าว พรรคเล็กพร้อมจะไม่กดปุ่ม ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กลางสภาฯ

ฉนวนร้อนการทำสัญญาโครงการท่อส่งน้ำ ที่ฝ่ายค้านโหมโรงว่ามีกลิ่นตุๆ เลยทำให้นายกรัฐมนตรี-กรมธนารักษ์ ถอยมาตั้งหลักตรวจสอบอีกรอบ

แต่ที่สำคัญ เนื้อแท้ที่ต้องมีการเลื่อนการทำสัญญาออกไป ก็เพื่อต้องการดูทิศทางลมก่อนว่า เรื่องนี้จะทำให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลติดใจสงสัย จนกลายเป็นประเด็นในการโหวตไว้วางใจหรือไม่ เลยทำให้มีการเบรกโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ไว้เป็นการชั่วคราว เพราะเรื่องการประมูลโครงการท่อส่งน้ำดังกล่าว จริงๆ แล้วถูกจับตามองมาร่วม 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ อีกทั้งที่ผ่านมา ยุทธพงษ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาตรวจสอบเรื่องนี้มีการแถลงข่าวมา 2 เดือน แต่ก็จุดไม่ติด คนไม่สนใจ เพราะเป็นเรื่องที่รายละเอียดสลับซับซ้อน เข้าใจยาก

ทว่าที่เริ่มเป็นประเด็นมากขึ้น เพราะฝ่ายค้านไปดึงพวกก๊วน ส.ส.พรรคปัดเศษ ที่ก็ต้องการปั่นราคาตัวเองอยู่แล้วในช่วงซักฟอกมาเป็นพวก ร่วมขย่มโครงการ และเขย่าเก้าอี้ สันติ-รมช.คลัง โดยลากเอาเรื่องจะไม่โหวตไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเข้ามาผสมโรง เลยทำให้เรื่องนี้ร้อนขึ้นมา จนสุดท้ายต้องมีการเลื่อนการเซ็นสัญญาออกไป

ทิศทางลมการเมือง งานนี้มีโอกาสสูงที่ สันติ-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะโดนล็อกเป้า ถูกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เว้นเสียแต่มีการยกเลิกการประมูล ซึ่งกรมธนารักษ์คงไม่ยอมเสี่ยง เพราะอาจโดนบริษัทเอกชนยื่นฟ้องได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และสันติ ออกมาตอกย้ำหลายรอบว่า การประมูลมีความโปร่งใส และบริษัท วงษ์สยาม ทำทุกอย่างถูกต้อง มีการเสนอเงื่อนไขผลตอบแทนที่สูงกว่าบริษัทที่ไม่ชนะการประมูล เพราะอย่าง ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ดีกรีก็ไม่ธรรมดาในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะเป็นระดับอดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง-อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา ก่อนโอนย้ายมารับราชการที่ ก.คลัง จึงแม่นในเรื่องกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นหากกรมธนารักษ์ยกเลิกการประมูล ก็เสี่ยงจะถูกฟ้องได้

เว้นเสียแต่จะพบว่า การประมูลทำไม่ถูกต้อง แต่ครั้นหากกรมธนารักษ์จะเดินหน้าต่อ ฝ่ายค้านคงไม่เลิกราในการตรวจสอบ เว้นเสียแต่จะใช้วิธี ชะลอโครงการเพื่อให้ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก่อน แล้วค่อยเซ็นสัญญา ซึ่งดูแล้วคงออกมาแบบนี้ แต่ของแบบนี้ฝ่ายค้านอ่านเกมออก

ดังนั้นถึงต่อให้ไปจนถึงช่วงศึกซักฟอก แม้กรมธนารักษ์ยังไม่มีการทำสัญญากับเอกชน แต่ฝ่ายค้านคงใส่ชื่อ สันติไว้ในบัญชียื่นซักฟอก เพราะสันติโดนฝ่ายค้านจองกฐินไว้แล้ว

อย่างในสภาฯ เพื่อไทยก็ให้ ไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ออกมารับลูกเรื่องนี้ โดยไชยาบอกว่า กมธ. จะเข้าตรวจสอบเรื่องโครงการดังกล่าว และเรียกคนมาชี้แจงวันที่ 11 พ.ค. ทั้งตัวแทน กรมธนารักษ์, ดร.คณิส แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอีอีซี,  กรรมการผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการประกวดราคาเพื่อขอข้อมูล

ส่วน ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาสำทับว่า โครงการดังกล่าวมีความผิดปกติ เพราะไม่มีการเปิดประมูลโครงการแบบอีบิดดิ้งให้ทุกบริษัทเข้ามาแข่งขันกัน แต่ใช้วิธีเรียกมาแค่ 5 บริษัท ในการแข่งขันเสนอราคา และเคาะให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะ

"จะยื่นเอาผิดต่อ ป.ป.ช. เพราะมีผู้อยู่ในข่าย 5 ราย ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล 2.อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง 3.สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง 4.คณะกรรมการที่ราชพัสดุ 6 คน ที่ลงมติรับรองให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะประมูล 5.ยุทธนา หยิมการุณ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่เร่งรีบให้เปิดซองประกวดราคาในวันที่เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.2564

ขอย้ำว่า การตรวจสอบของฝ่ายค้านและฝ่ายต่างๆ ในการประมูลโครงการท่อส่งน้ำ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องดี เพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใส 

แต่หากมองในเชิงการเมืองเห็นชัดว่า งานนี้ไม่ธรรมดา เพราะ “พิเชษฐ สถิรชวาล แม้จะเป็น ส.ส.พลังประชารัฐ แต่ก็เข้ามาหลังยุบพรรคประชาธรรมไทมาอยู่กับพลังประชารัฐ โดยการชักชวนของธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยเป็นเลขาธิการ พปชร. “ทำให้พิเชษฐที่ช่วงนี้กำลังเคลื่อนไหวเรียกราคาให้กลุ่มพรรคเล็ก ในช่วงจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเปิดดีลทั้งเพื่อไทยและพรรคเศรษฐกิจไทยของธรรมนัส ที่ก็ไม่ถูกกับสันติ-รมช.คลัง มาตลอด ขณะที่เพื่อไทยก็ต้องการทุบให้ พปชร.เสียขบวนให้มากที่สุดก่อนถึงศึกเลือกตั้ง ซึ่งหากทุบ สันติ เลขาธิการพรรค พปชร.ได้ ย่อมทำให้ พปชร.มีอาการรวนแน่นอน ทุกอย่างจึงลงตัว

ศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น นอกจากพลเอกประยุทธ์จะหนักแล้ว ดูท่า "สันติ รมช.คลัง-เลขาธิการ พปชร." น่าจะน่วม!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย