กระแส นายกฯ สำรอง ถูกโหมประโคมในช่วงสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องมาถึงต้นสัปดาห์นี้ ทุกอากัปกิริยาของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างถูกจับจ้อง
แม้ก่อนหน้านี้จะไม่มีคำพูดจากทั้งสองคนต่อประเด็นดังกล่าว แต่ทุกภาษากายของทั้งสองคนเวลาพบหน้ากันต่างถูกตีความต่างๆ นานา แม้แต่ฉากพี่จับไหล่น้องเมื่องานวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นนายกฯ สำรอง จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากการที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนพฤษภา'35 ออกมาเรียกร้องให้ "บิ๊กป้อม" เป็นนายกฯ ขัดตาทัพ เพื่อเป็นรันเวย์ให้ "บิ๊กตู่"
แต่ประเด็นของนายอดุลย์ยังไม่น่าสนใจเท่าการที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ออกมาจุดพลุเรื่องนายกฯ นอกบัญชี ตามมาตรา 272 วรรคสอง กรณีที่ "บิ๊กตู่" เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
แนวทางของ ร.อ.ธรรมนัสอาจมองได้ว่า มาจากอคติกรณีที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับ "บิ๊กตู่" แต่ทันทีที่ "บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย น้องรักของ พล.อ.ประวิตร พูดว่า คนที่เหมาะสมมีเพียง "บิ๊กป้อม" เท่านั้น เรื่องนี้จึงไม่อาจมองข้ามได้
พรรคเศรษฐกิจไทย แม้จะมีภาพลักษณ์เป็นหอกข้างแคร่อยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าในทางการเมืองพรรคดังกล่าวคือพรรคสาขาของ "บิ๊กป้อม"
คนในพรรคเศรษฐกิจไทยคือ อดีต ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของ "บิ๊กป้อม" ทุกท่าทีไม่สามารถทำได้โดยพลการ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ถูกจับโยงไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และภายหลังร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งตามปฏิทินศึกซักฟอกจะปะทุราวๆ เดือนสิงหาคม
นอกจากรายการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือน 8 ของปีจะยังเป็นไทม์ไลน์เดียวกับการตีความระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ "บิ๊กตู่"
มิเพียงเท่านั้น ปฏิกิริยาของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเล็กที่ออกอาการเด็กดื้อราวกับขอของเล่นในช่วงนี้ ยังทำให้ใครหลายคนยิ่งคิดไปใหญ่
คิดว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ "บิ๊กตู่" ไม่ว่าเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี หรือเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
หากเกิดเช่นนี้จริง คนที่มีพละกำลังมากที่สุดที่จะได้เสียง ส.ว.สนับสนุนเพื่อเป็นนายกฯ ขัดตาทัพ ที่ไม่ใช่นายกฯ รักษาการ คงจะมีเพียง "บิ๊กป้อม" คนเดียวเท่านั้น
แน่นอนว่าบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคเสนอตอนการเลือกตั้งยังดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคภูมิใจไทย แต่ด่านสำคัญคือคนเหล่านี้จะต้องได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว.
ขณะที่ "บิ๊กป้อม" แม้ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคใดเลย แต่การมีเสียง ส.ว.อยู่ในมือ ทำให้สามารถเปิดสวิตช์ใช้กลไกนายกฯ นอกบัญชีได้
พรรคร่วมรัฐบาลเองคงไม่ขัดข้องที่จะอยู่ต่อ เพราะที่ผ่านมา "บิ๊กป้อม" เองก็เป็นดีลเมกเกอร์คนเหล่านี้มาร่วมรัฐบาลทั้งนั้น
ในส่วนกระแสต้านเองคงไม่มาก เพราะขณะนี้เป็นช่วงปลายเทอมรัฐบาล การดำรงตำแหน่งครั้งนี้เป็นเพียงการขัดตาทัพเพื่อจัดการเลือกตั้งที่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน
อีกทั้งกับฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล "บิ๊กป้อม" มีความประนีประนอมและเข้าถึงได้มากกว่า "บิ๊กตู่"
ดังนั้นถ้าจะบอกว่า ครั้งนี้ "บิ๊กป้อม" เข้าใกล้กับความฝันของตัวเองมากที่สุดคงไม่ผิดนัก
อย่าลืมว่า เรื่องความฝันอยากจะเป็นนายกฯ สักครั้งในชีวิตเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีของตระกูลวงษ์สุวรรณของ "บิ๊กป้อม" ถูกพูดกันมานาน บารมี-คอนเนกชัน-พละกำลัง สามารถพาตัวเองนั่งนายกฯ ได้ตั้งแต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะคุมเสียงใน ส.ส.และสภาสูง เพียงแต่สัญญาณยังคงไว้วางใจ "บิ๊กตู่"
แม้ช่วงเวลาที่เหลือจะน้อยและเป็นเพียงนายกฯ ขัดตาทัพ แต่เก้าอี้นายกฯ จะเป็น 1 วัน หรือ 2 วัน ไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายก็ถือว่าขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิต
แต่นั่นเป็นเพียงทฤษฎีกรณีเกิดอุบัติเหตุกับ "บิ๊กตู่" และมาจากเสียงยั่วยุจากคนรอบข้างของ "บิ๊กป้อม" ที่มองว่าสถานการณ์เอื้อให้ที่สุดแล้ว
อยู่ที่ว่า "บิ๊กป้อม" จะเคลิ้มกับคำยุยงส่งเสริมนี้หรือไม่ เพราะเป็นคนเดียวที่มีเพาเวอร์ที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพราะมีพลังทั้งในสภาและกลไกอื่นๆ ที่ชี้ชะตาความเป็นไปของรัฐบาล
พูดง่ายๆ ชีวิต "น้องตู่" อยู่ในกำมือ "พี่ป้อม"
แต่สุดท้ายคำยุยงและเสี้ยมจะมากขนาดไหนไม่สำคัญ หากพี่น้องยังคงหนักแน่นในความสัมพันธ์หลายสิบปี ยกเว้นเสียแต่ว่ามีคนหวั่นไหวและเคลิบเคลิ้ม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1