ยกเลิก 112 - นัดเคลื่อน 31 ต.ค. การกลับมาของม็อบรอบใหม่

การเมืองทั้งในสภาฯ และนอกรัฐสภา กลับเข้าสู่โหมดคึกคักอีกครั้ง รับกับสถานการณ์โควิดขาลง จนมีการเปิดประเทศ ยกเลิกเคอร์ฟิว โดยในส่วนของสภาฯ ที่จะเริ่มเปิดสมัยประชุม 1 พ.ย. สิ่งที่หลายคนสนใจตอนนี้คือ ความเคลื่อนไหวของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน คือ พลังประชารัฐและเพื่อไทย ที่กำลังมีข่าวว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผ่าตัดใหญ่ในช่วง 28-29 ต.ค.นี้

ขณะที่การเมืองนอกรัฐสภา กับการเคลื่อนไหวของ ม็อบบนท้องถนน ก็เริ่มเห็นสัญญาณการจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกรอบของแนวร่วมกลุ่มราษฎร 63 หรือม็อบสามนิ้ว ที่ตอนนี้ชูธงหลักประเด็นเดียวในการเคลื่อนไหวคือเรื่อง การให้ยกเลิกมาตรา 112

โดยจะมีการนัดชุมนุมใหญ่วันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค.นี้ ที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงค่ำ 16.00-21.00 น.

เบื้องต้น สมยศ พฤกษาเกษมสุข พี่ใหญ่ม็อบสามนิ้ว อดีตนักโทษคดีมาตรา 112 ระบุว่า

"ขอชวนพี่น้องประชาชนมารวมตัวกัน วันที่ 31 ต.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ยังไม่สามารถเปิดเผยกิจกรรมหลักในวันนี้ได้ แต่ผู้เข้าร่วมได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยอย่างแน่นอน"

สำหรับการกลับมาเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนอีกครั้งของแนวร่วมคณะราษฎร 63 รอบนี้ ปัจจุบันใช้ชื่อกลุ่มในการเคลื่อนไหวว่า คณะราษฎรณรงค์ยกเลิก 112 หรือ ครย. ซึ่งเปิดตัวไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง โดยมีแนวร่วมหลักๆ เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นต้น

วันดังกล่าวกลุ่ม ครย.บอกถึงการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยมีเนื้อหาบางตอนระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.63 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะมีการบังคับใช้ “กฎหมายทุกฉบับ-ทุกมาตรา” กับประชาชนที่มาชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ทำให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อีกครั้ง หลังไม่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561 ทางกลุ่มจึงเห็นว่าการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาใช้ดังกล่าว จึงสะท้อนถึงความไม่แยแสของรัฐ ต่อหลักสิทธิมนุษยชน ต่อหลักประชาธิปไตย และต่อประชาคมโลก ที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายมาตรานี้เป็นกฎหมายที่คลุมเครือ และรุนแรงเกินสัดส่วนต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ขัดกับกติกาสากลระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เคลื่อนไหวสรุปปัญหาการที่ฝ่ายรัฐบาล-ตำรวจนำมาตรา 112 มาใช้ในช่วงที่ผ่านมา 10 ข้อ เช่น ใครแจ้งความก็ได้ เนื่องจากมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเป็นผู้กล่าวโทษในคดีได้ และนำไปสู่การฟ้องกลั่นแกล้งกัน, มาตรา 112 มีอัตราโทษสูง เนื่องจากมาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ที่ 3 ถึง 15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และมีโทษสูงสุดสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาหลายเท่า, มาตรา 112 ทำให้เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากมาตรา 12 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่กล้าปกป้องสิทธิผู้ต้องหา เช่น การให้สิทธิในการให้ประกันตัว เป็นต้น

ซึ่งก่อนที่จะถึงการนัดเคลื่อนไหววันอาทิตย์นี้ ทางแนวร่วมม็อบสามนิ้วก็มีการอุ่นเครื่องโหมโรงนำร่องไว้ก่อน คล้ายกับพยายามสร้างกระแสเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 ให้กลับมาอยู่ในเทรนด์ความสนใจทางการเมืองอีกครั้ง

อย่างเมื่อวันพุธที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาที่รัฐสภา พบว่า กลุ่มทะลุฟ้า ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ กมธ.ตรวจสอบการใช้บังคับโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นต่อประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยบอกว่าที่ผ่านมามีประชาชนถูกดำเนินคดีในมาตรานี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับมีโทษจำคุกเพียงสถานเดียว และมีอัตราโทษสูง ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ที่อาจเป็นไปโดยไม่สุจริตในหลายกรณี พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

และเป็นไปตามคาด รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ออกมารับลูกการเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ผิดคาด เพราะในทางการเมืองก็รู้กันดีว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มาตลอด เห็นได้จากพรรคก้าวไกลมีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภาฯ มาแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรคก้าวไกลคงเสนอนโยบายเรื่องการแก้มาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายพรรคที่จะใช้หาเสียงกับกลุ่มผู้สนับสนุนม็อบสามนิ้วแน่นอน

หลังจากนี้ประเมินได้ว่า ในช่วงที่อายุของสภาฯ เริ่มสั้นลงเรื่อยๆ เหลืออีกแค่ 1 ปีกว่าก็จะหมดวาระ ขณะเดียวกันกระแสข่าวความเป็นไปได้ที่อาจมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นไม่เกินกลางปีหน้า ก็ยิ่งถูกประเมินว่าอาจมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะหากปัญหาการเมืองในพลังประชารัฐยังแก้ไม่ตก และแนวโน้มบานปลายหากกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกทลายนั่งร้าน จนเสียอำนาจในพลังประชารัฐลงไปเรื่อยๆ ก็อาจถึงขั้นแตกหักวันใดวันหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ การที่กลุ่มม็อบจะมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก จึงไม่ใช่ประเด็นหลักของการกลับมาของม็อบรอบใหม่นี้อีกแล้ว เพราะใครต่อใครก็มองออกว่าต่อให้เรียกร้องเคลื่อนไหวก่อม็อบยังไง บิ๊กตู่ก็ไม่ยอมลาออกเพราะม็อบแน่นอน

เพราะขนาดตอนช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ที่กระแสบิ๊กตู่ตกลงอย่างหนักจากวิกฤตโควิดที่คนติดเชื้อวันละสองหมื่นกว่าคน รัฐนาวาบิ๊กตู่ก็ยังประคองตัวรอดมาได้ ฝ่ายค้านยังโค่นไม่ลง ดังนั้นการที่ม็อบจะออกมากดดันให้บิ๊กตู่ลาออก จึงเป็นไปไม่ได้แน่นอน

ปัจจัยทั้งหมดบ่งชี้ในทางการเมืองให้เห็นว่า แนวทางเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วหลังจากนี้จะเทน้ำหนักไปที่เรื่องมาตรา 112 เป็นหลัก ประเด็นเดียวไปเลย เพียงแต่การเคลื่อนไหวที่จะมีขึ้นต่อจากนี้ บรรดาแกนนำ-แนวร่วมที่มีชนักติดหลังเรื่องคดีความ และอยู่ระหว่างการที่ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็คงจะเคลื่อนไหวแบบดุดันเหมือนก่อนหน้านี้ไม่ได้ เพราะคงไม่อยากเสี่ยงที่จะถูกยื่นถอนประกันตัว จึงทำให้การเคลื่อนไหวของม็อบที่มีแกนนำอาจไม่หวือหวา ดุดันเหมือนที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทนายความของศูนย์เป็นทนายความให้กับกลุ่มแนวร่วมผู้ชุมนุม มีการระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการเอาผิดมาตรา 112 ตั้งแต่ช่วง พ.ย.2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 153 คน ใน 157 คดี

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน 21 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี, ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 8 คดี, เบนจา อะปัญ 6 คดี, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี เป็นต้น

ส่วนการเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วรอบใหม่ที่คงจะมีการจัดกิจกรรมเรื่องยกเลิก 112 ออกมาเรื่อยๆ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป แต่ดูแล้วคงเคลื่อนไหวกันยาว และในความเป็นจริงคงยากจะสำเร็จ หากเสียง ส.ส.-ส.ว.ในรัฐสภาไม่เอาด้วย ซึ่งดูแล้วในยุคนี้ยังไงพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ชุดนี้ก็ไม่บ้าจี้ตามไปด้วย หากหวังจะทำให้ได้จริง ก็คงต้องให้ พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง มีเสียง ส.ส.ในสภาฯ จำนวนมากถึงจะผลักดันได้สำเร็จ เพราะดูแล้วแม้แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่อยากยุ่งเรื่องมาตรา 112 อย่างเห็นได้ชัด

ทว่า สิ่งที่น่าจับตามากกว่าก็คือ การเคลื่อนไหวเรื่องยกเลิกมาตรา 112 ที่กลุ่มที่มีแนวคิดดังกล่าวก็จะเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเรื่องการเคลื่อนไหวสร้างแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทำทั้งบนท้องถนน-โซเชียลมีเดีย ซึ่งปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า อย่างน้อยก็คงทำให้เกิดกระแสบางอย่างในสังคมแบบซึมลึกยาวนาน โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักศึกษา

สิ่งนี้ต่างหากที่กลุ่มแนวร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และยกเลิกมาตรา 112 ต้องการมากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

'ชูศักดิ์' บอกรู้ตั้งแต่เห็นคำร้อง 'ธีรยุทธ' ไปไม่ได้ เหตุไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างปกครอง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ตามคาด! อสส.ไม่รับดำเนินการคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการคดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้วพร้อมผลการสอบถ้อ

'อดีตบิ๊กศรภ.' ชี้ 'ทักษิณ' ยังมีโอกาสอยู่เกินปีใหม่แน่ แต่ไม่น่าจะเกินต้นปีหน้า

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ทักษิณ