ไม่แน่ใจว่าเป็นความคิดอยู่ในใจ หรือเพราะพลั้งปากหรือไม่ หลัง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า "อาจมีนายกฯ สำรอง" หลังถูกถามหากนายกฯ เจออุบัติเหตุปมครองอำนาจ 8 ปี ในเดือน ส.ค. ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หลังรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามไว้
แต่ก่อนที่ไฟจะลามทุ่งและกระทบไปถึงนายกฯ และเสถียรภาพรัฐบาล ในวันเดียวกัน "พล.อ.ประวิตร" รีบออกปฏิบัติเสธทันควันว่า
"มีที่ไหน ใครล่ะ เป็นนายกฯ สำรอง พูดไปเรื่อย"
เช่นเดียวกับบรรดาแกนนำ พปชร. ไม่ว่าจะเป็นแกนนำกลุ่มสามมิตร ในพรรค พปชร. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำ พปชร.ปฏิเสธว่า
"ไม่ทราบเรื่อง"
รวมทั้ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าพรรค
" ยังไม่ได้ยินเรื่องนี้"
แม้เบื้องต้นผู้เกี่ยวข้องจะออกมาปฏิเสธ แต่คอการเมืองอาจไม่เชื่อ รวมทั้ง "บิ๊กตู่" ก็อาจเกิดหวาดระแวง
เพราะเมื่อดูบริบททางการเมืองที่ผ่านมา ระหว่างความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว มีแต่ปมเกาเหลา และกินแหนงแคลงใจกันตลอดมา
โดยเฉพาะความพยายามของลูกพรรค ที่อยากให้ "หัวหน้า พปชร." เป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปลายรัฐบาลนี้ หรือหลังเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง หลังไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจาก "บิ๊กตู่"
เริ่มตั้งแต่กบฏใน พปชร. หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค ต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา
ต่อเนื่องด้วยกรณีที่ "บิ๊กป้อม" ไฟเขียวให้ขับ 21 ส.ส.พปชร.ออกจากพรรค โดยมี 18 ส.ส. นำโดย ร.อ.ธรรมนัส ออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทยทำการเมืองต่อไป พร้อมกดดันนายกฯ ควบคู่กับ "บิ๊กป้อม" ที่คุมบังเหียน พปชร. และไม่ยอมให้ใครเข้ามาแทรกซึมได้
แตกต่างจาก "บิ๊กตู่" ที่ไม่มีความชัดเจนว่าทางการเมืองว่าจะเอาอย่างไร จะไปตั้งพรรคสำรองอย่างเช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ส่อแววแท้ง หลังเจอกรณี "แรมโบ้" หรือ เสกสกล อัตถาวงศ์ เป็นพิษจาก กรณีคลิปหวย 15 ล้านบาท
จนกลายเป็นของแสลง โดยเฉพาะว่าที่หัวหน้าพรรคอย่าง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ที่ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. ก็ไม่กล้าโดดเข้าไปยุ่ง
ยิ่งล่าสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา แกนนำพรรค พปชร.ได้ขึ้นรูป "บิ๊กป้อม" สวัสดีปีใหม่ไทยตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการหาเสียง ย่อมสะท้อนและประกาศว่า "บิ๊กป้อม" ต้องการไปต่อบนเส้นทางสายอำนาจแห่งนี้อย่างแน่นอน
สอดคล้องกับ "พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.)" ได้แสดงพลังและโชว์บารมี "บิ๊กป้อม" หลังบรรดาแกนนำ อาทิ "บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส เลขาธิการพรรค เข้ารดน้ำดำหัวที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา
เมื่อรวมกับกระแสดิวลับกับคนแดนไกลที่ประเทศอังกฤษ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เห็นว่าหากมีการเปลี่ยนเกม ก็จะดัน "บิ๊กป้อม" ขึ้นเสียบแทนนายกฯ ได้ทุกสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศว่ามี
"นายกฯ สำรองหรือไม่"
เนื่องจากหาก "บิ๊กตู่" พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยสาเหตุใดก็ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 ก็เปิดช่องให้เอานายกฯ คนนอกเข้ามาได้
ในกรณีไม่สามารถรวมเสียงได้ “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา โดยใช้เสียง “2 ใน 3” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง เพื่อสถาปนานายกรัฐมนตรีคนนอกได้
ซึ่ง "บิ๊กป้อม" ในฐานะผู้จัดตั้งรัฐบาล ที่มีเสียง ส.ส.พปชร. พรรคเศรษฐกิจไทย ฯลฯ แม้กระทั่งเสียงจากฝ่ายค้าน และวุฒิสภา 250 เสียง ก็สามารถเข้ามานั่งเก้าอี้สูงสุดในฐานะคนนอกได้ และตามเงื่อนไขการเมืองคงไม่ยอมปล่อยตำแหน่งนี้หลุดให้แก่บุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน
แต่หากไม่เกิดขึ้น "บิ๊กป้อม" ก็ยังรอได้ไปถึงการเลือกตั้งรอบหน้า ที่ พปชร.ไม่จำเป็นต้องเสนอบัญชีแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว เหมือนปี 62 ที่ "บิ๊กตู่" ยังกระแสดีขายได้ พปชร.จำต้องยอมตามความต้องการของนายกฯ
ทว่าผ่านไป 4 ปี กระแสความนิยมไม่เหมือนเดิม และที่ผ่านมายังเว้นระยะห่าง ไม่ลงมาช่วยเหลือพรรคและ ส.ส.เท่าที่ควร ฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า แกนนำ พปชร.อาจจำเป็นต้องมีแคนดิเดตนายกฯ ลำดับ 2 และลำดับ 3 โดยมีชื่อหัวหน้าพรรค พปชร.รวมอยู่ด้วย
ซึ่งนอกจากจะเป็นการกดดันนายกฯ ให้ต้องปฏิบัติตามแนวทางของพรรค หรือหากไม่ตอบสนอง บรรดา ส.ส.พปชร.ก็พร้อมจะเขย่า และดัน "บิ๊กป้อม" ขึ้นเป็นนายกฯ เมื่อสถานการณ์การเมืองเอื้ออำนวย
เว้นแต่ "บิ๊กตู่" ยังอยากไปต่อ และไม่อยากถูกบีบ ก็ต้องรีบออกไปตั้งพรรคการเมืองและยืนด้วยตัวเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1